โดย...นิมิตร์ เทียนอุดม
ในการทำงานเรื่องเอดส์ คนทำงานทั่วโลกมีเป้าหมายอยู่ 3 สิ่ง สิ่งแรกคือ การลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ สิ่งที่สองคือ การลดอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากเอชไอวี และสิ่งสุดท้ายคือ การลดการรังเกียจ กีดกัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ หรือพูดง่ายๆ ว่า ทำให้สังคมนี้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขทั้งคนที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ
เมื่อตั้งคำถามกับคนทำงานเอดส์ ว่า ที่ผ่านมา เราเดินเข้าใกล้เป้าหมายแค่ไหนแล้ว ผมคิดว่ามีหลายสิ่งที่คนทำงานต้องกลับมาคิดทบทวน
ประการแรก เรื่องการลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ ที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องอันเนื่องมาจาการทุ่มเททำงานของหลายหน่วยงาน หลายภาคี ทั้งงานในเชิงระบบ เช่น การสนับสนุนให้โรงเรียนสอนเพศวิถีศึกษา รวมถึงการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ ทำให้คนประเมินความเสี่ยงที่แท้จริงได้มากขึ้น สังคมเริ่มเข้าใจว่าเอชไอวีไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ และเป็นเรื่องของ “พฤติกรรมเสี่ยง” ไม่ใช่ “กลุ่มเสี่ยง”
แต่ปีนี้ ยุทธศาสตร์การทำงานกลับย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือ ทุ่มกำลังคน ทุ่มทรัพยากรไปทำงานป้องกันกับ “กลุ่มเสี่ยง” ทั้งที่ที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การทำงานที่ตอกย้ำว่าเอดส์เป็นเรื่องของ “คนบางกลุ่ม” ไม่ได้ช่วยให้อัตราการติดเชื้อลดลง ซ้ำยังทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าเอดส์ไกลตัวจนไม่คิดว่าเพศสัมพันธ์ของตัวเองก็มีโอกาสเสี่ยง และในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ “คนบางกลุ่ม” ถูกตีตราจากสังคมในเรื่องเอดส์ กลายเป็นอคติที่ยากจะแก้ไขและได้ส่งผลต่อวิถี ชีวิตของ “คนบางกลุ่ม” นั้นด้วย
ประการต่อมา เรื่องการรักษา เราปรารถนาที่จะไม่เห็นคนเสียชีวิตจากเอดส์ ซึ่งก็น่ายินดีว่าที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการรักษาประกอบกับระบบสวัสดิการด้านสุขภาพทำให้ผู้ติดเชื้อทุกคนสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ครอบคลุมการตรวจรักษาเอชไอวี/เอดส์ จนทำให้ลดอัตราการป่วยและตายลงไปมาก แม้ยาต้านไวรัสที่เรามีในสิทธิประโยชน์ จะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา แต่ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงสูง ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ปัจจุบันยังต้องอยู่กับยำต้านไวรัสตลอดชีวิต
ในขณะที่โลกใบนี้มียาต้านไวรัสที่พัฒนาไปมาก มียาที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรกับผู้กินยาทั้งปริมาณและจำนวนมื้อรวมถึงผลข้างเคียงที่ต่ แต่ประเทศไทยก็ยังเข้าไม่ถึงยาเหล่านี้เพราะรัฐมองไม่เห็นความจำเป็น ซ้ำยังออกกฎ ระเบียบ เพื่อเอื้อต่อการผูกขาดยามากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมความบรรลัย 5 ประการ เมื่อ ม.44 ปล่อยผีสิทธิบัตร http://waymagazine.org/disaster44_patent/) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไทยจะลดอัตราการป่วย การเสียชีวิตจากเอชไอวี/เอดส์ ลงได้อย่างไร
ประการสุดท้าย เรื่องการอยู่ร่วม ซึ่งเป็นอีกเรื่องใหญ่และพบเห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ผมคิดว่าเราผ่านวิกฤตเรื่องการตายเป็นใบไม้ร่วงมาแล้ว แต่เรากำลังเผชิญวิกฤตลูกใหม่เรื่องการรังเกียจ กีดกัน อยู่ร่วมสังคมเดียวกันไม่ได้ ในขณะที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาแล้ว สุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ไม่มีที่ไหนรับเข้าทำงาน แม้แต่เด็กที่ติดเชื้อซึ่งมีอนาคตทางการศึกษา ก็ถูกโรงเรียน และมหาวิทยาลับปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียน แล้วพวกเขา จะมีกำลังใจในการรักษา ในการมีชีวิตต่อไปได้อย่างไร ผมเห็นว่า แผนเอดส์ของประเทศจะต้องมีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังในการรณรงค์สร้างความเข้าใจ ลดอคติที่ฝังรากลึกในใจของคน และจะต้องมีกลไกการจัดการเรื่องการละเมิดสิทธิ หรือการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ในทางปฏิบัติ คุณคือคนหนึ่งที่ทำงานเรื่องเอดส์ โลกจะก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ไว้เบื้องหลังได้นั้น คุณเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดขึ้นได้ การลดอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่โดยเริ่มจากตัวคุณเองที่ป้องกันทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การไม่มีอคติ ไม่รังเกียจ กีดกัน ผู้ติดเชื้อ ก็ทำให้สังคมนี้น่าอยู่ขึ้น
เราต้องร่วมกันก้าวข้ามอคติ ความกลัว ความเกลียดชังคนที่มีความแตกต่างหลากหลายที่ทำให้คนรังเกียจ แบ่งแยก และละเมิดสิทธิซึ่งกัน
เราจะข้ามความคิดว่า เอดส์จะหยุดได้เพียงแค่ป้องกันให้ดีที่คนเพียงบงกลุ่มก็พอ จนกว่าประเทศนี้ โลกนี้ จะเป็นโลกที่ไม่มีเอดส์ สักวันหนึ่ง