ในคอลัมน์นี้ขอนำเสนออีกปรากฏการณ์หนึ่งในชั้นบรรยากาศที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในช่วงเดือนนี้หรือ ช่วงฤดูฝน ซึ่งในวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมาก็เกิดปรากฏการณ์ดวงวอาทิตย์ทรงกลดแบบ 2 ชั้น สังเกตเห็นได้ทั่วกรุงเทพมหานคร หลายคนคงได้เห็นปรากฏการณ์และถ่ายภาพกันไว้
สำหรับปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศสำหรับนักถ่ายภาพดวงดาวในเวลายามค่ำคืนแล้ว หากหมั่นสังเกตท้องฟ้าบ่อยๆ ในช่วงนี้เราก็อาจโชคดีได้เห็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์ทรงกลด (Moon Halo) ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะการเกิดที่คล้ายกับดวงอาทิตย์ทรงกลดนั่นเอง เพียงแต่จะมีลักษณะของสีสันที่จางกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดวงอาทิตย์เท่านั้น
การเกิดการทรงกลด หรือ ฮาโล (Halo) รอบดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์นั้น สามารถเกิดเป็นวงกลม หรือ วงรี ก็ได้ และอาจเกิดไม่เต็มวงก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของการกระจายตัวของผลึกน้ำแข็งในบรรยากาศ
เล่าจากประสบการณ์
จากประสบการณ์ส่วนตัว ในการเฝ้าสังเกตว่าท้องฟ้าวันไหนที่อาจจะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์ทรงกลด ผมมักดูจากความสว่างของเฟสดวงจันทร์ในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง หรือก่อน – หลังเต็มดวง ซึ่งช่วงดังกล่าวดวงจันทร์จะมีแสงสว่างค่อนข้างมาก สิ่งต่อมาคือลองสังเกตสภาพท้องฟ้าในคืนที่กล่าวข้างต้น หากมีลักษณะคล้ายกับมีไอน้ำในอากาศมาก เหมือนกับหมอกบางๆปกคลุมท้องฟ้าอยู่ หรือเมื่อมองดูดวงจันทร์แล้วคล้ายกับมีหมอกบางๆบังแสงดวงจันทร์ ก็มักจะมีแนวโน้วว่าจะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์ทรงกลดได้
จริงๆ แล้วปรากฏการณ์ดวงจันทร์ทรงกลด ไม่สามารถคาดการณ์การเกิดล่วงหน้าได้ แต่ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย พบได้มากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งมีความชื้นในอากาศที่มาจากฝนนั่นเอง โดยดวงจันทร์ทรงกลด (Moon Halo) เป็นวงกลม เกิดจากผลึกน้ำแข็งภายในเมฆเซอร์โรสตราตัส ซึ่งเป็นเมฆชั้นสูงที่เป็นแผ่นบางๆ ปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ผลึกน้ำแข็งเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนแท่งแก้วปริซึมหักเหลำแสงจากดวงจันทร์เป็นมุม 22 องศา มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 44 องศา เข้าสู่แนวสายตาของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บนพื้นโลก ทำให้ปรากฏเป็นแถบสีสเปกตรัมของเส้นรอบวงล้อมรอบดวงจันทร์
การถ่ายภาพดวงจันทร์ทรงกลด
การถ่ายภาพดวงจันทร์ทรงกลด นั้นปลอดภัยมากกว่าการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ทรงกลด เนื่องจากแสงจันทร์อ่อนกว่าแสงอาทิตย์มาก จึงไม่เป็นอันตรายต่อสายตาของผู้ถ่ายภาพ โดยมีคำแนะนำดังนี้
1. ใช้เลนส์มุมกว้าง ที่มีทางยาวโฟกัสอย่างน้อย 24 mm. เนื่องจากดวงจันทร์ทรงกลดที่เกิดขึ้นทั่วไป มีรัศมี 22 องศา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 44 องศา
2. ปรับระยะโฟกัสไว้ที่อินฟินิตี้ เช่นเดียวกันกับการถ่ายดวงอาทิตย์อาทิตย์ทรงกลด
3. ใช้ขาตั้งกล้อง เพื่อให้ได้ภาพที่นิ่ง ไม่เบลอ
4. อาจปรับค่าความอิ่มสี (Saturation) เพิ่มขึ้นเพื่อให้สีสันของ Halo มีสีสันมากขึ้น เนื่องจากลักษณะ สีสันจะจางกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดวงอาทิตย์
5. ถ่ายไว้หลายๆ ภาพ เป็นระยะๆ เนื่องจากดวงจันทร์ทรงกลดจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนตำแหน่งความสูง และการเคลื่อนที่ของเมฆ จึงควรที่จะบันทึกภาพไว้หลายๆ ภาพ เพื่อนำมาคัดเลือกภายหลัง
ดังนั้นในช่วงเดือนนี้ หากใครถ่ายภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ ก็สามารถนำมาร่วมส่งประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2560 กับทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติกันได้ครับ ใครจะไปรู้ภาพที่เราถ่ายอาจเป็นภาพที่ชนะใจกรรมการก็เป็นได้
สามารถส่งภาพเข้าร่วมประกวดในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2560 ได้ทาง http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/3007
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน