ในเดือนมิถุนายนที่จะมาถึงนี้จะเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ คือ ไมโครมูน (Micro Moon) ซึ่งเป็นวันที่ดวงจันทร์ “เต็มดวงและโคจรอยู่ห่างจากโลกที่สุด” เกิดขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ที่ระยะห่างประมาณ 406,401 กิโลเมตร (ดวงจันทร์เต็มดวงมากสุดในเวลาประมาณ 20.09 น. ตามเวลาในประเทศไทย)
คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กที่สุดในรอบปี และหากเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์เต็มดวงขณะโคจรมาใกล้โลกกับไกลโลกที่สุด ช่วงไกลโลกที่สุดจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าประมาณ 14% และมีความสว่างน้อยกว่าถึง 30%
ปกติแล้วดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรีจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 1 รอบ ใช้ระยะเวลา 27.3 วัน หรือประมาณ 1 เดือน ในแต่ละเดือน จะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก จุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร ส่วนจุดที่ดวงจันทร์ห่างจากโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่โคจรเข้ามาใกล้โลกหรือไกลจากโลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ไมโครมูน (Micro Moon) คืออะไร?
ไมโครมูน หรือ ดวงจันทร์เต็มดวง ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในวงโคจรที่ไกลโลก และทำให้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าปกติ เนื่องจากดวงจันทร์โคจรออกห่างโลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างตั้งแต่ 406,000 กิโลเมตร โดยประมาณ และเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงพอดี
จากที่กล่าวมาข้างต้น หลายคนมักให้ความสนใจกับ Super Moon ซึ่งอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ Micro Moon คือช่วงที่ดวงจันทร์มีวงโคจรที่ห่างจากโลกมากที่สุด หากเราถ่ายภาพปรากฏการณ์ Micro Moon ไว้ในวันที่ 9 มิถุนายน นี้ไว้ก็สามารถนำไปเปรียบเทียบขนาดปรากฏเชิงมุมกับปรากฏการณ์ Super Moon ในวันที่ 3 ธันวาคม ช่วงปลายปีนี้ได้อีกด้วย
ถ่ายภาพปรากฏการณ์อย่างไร
สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์ Micro Moon นั้นก็เหมือนกับการถ่ายภาพดวงจันทร์ทั่วๆไป แต่หากใครที่เป็นมือใหม่ ลองทำตามคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้ครับ
1. เลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไปเพื่อให้ๆ ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่
2. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 200-400 ซึ่งดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงจะมีความเข้มแสงมากอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความไวแสงสูงๆ
3. การปรับโฟกัสภาพ ควรใช้ระบบ Live view ที่จอหลังกล้อง เพื่อช่วยให้การปรับโฟกัสได้คมชัดมากที่สุด นอกจากนั้นในการใช้ Live view ยังทำให้กล้องยกกระจกสะท้อนภาพขึ้น ทำให้สามารถลดการสั่นไหวขณะถ่ายภาพได้อีกด้วย รวมทั้งสามารถดูความสว่างของดวงจันทร์จากการปรับค่าได้อีกด้วย
4. ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล M ซึ่งในการถ่ายภาพด้วยโหมด M เราสามารถปรับตั้งค่าทั้งรูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ ได้สะดวก
5. ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 mm ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600s ซึ่งหากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปก็ให้ปรับค่าความไวแสง (ISO) เพิ่มขึ้นจนได้แสงที่พอดี
6. รูรับแสง อาจใช้ค่ารูรับแสงประมาณ f/4.0 – f/8.0 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ
7. ปิดระบบกันสั่นของเลนส์
8. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง
9.ใช้สายลั่นชัตเตอร์ในการถ่ายภาพและตั้งบนขาตั้งกล้องที่มั่นคงเพื่อลดการสั่นไหวของตัวกล้อง
10. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format ความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง
ข้อแนะนำสำหรับการถ่ายภาพ
สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์นี้นอกจากเทคนิคดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การถ่ายภาพดวงจันทร์ในแต่ละช่วงปรากฏการณ์ ควรใช้กล้องที่มีทางยาวโฟกัสเดียวกัน อุปกรณ์เหมือนกันในการถ่ายภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่สามารถนำมาเปรียบเทียบในภายหลังได้อย่างชัดเจน และสำหรับภาพดวงจันทร์ Micro Moon ที่เราจะถ่ายกันในวันที่ 9 มิถุนายนนี้จะสมบูรณ์แบบได้ก็คงต้องรอภาพดวงจันทร์ Super Moon มาเปรียบเทียบกันอีกทีในช่วงปลายปี
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน