ช่วงนี้หลายคนคงเบื่อกับสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ เนื่องจากฝนตกได้ตลอดเกือบทุกวัน จะออกไปถ่ายอะไรก็เจอแต่เมฆหรือไม่ก็ฝนตกไปเลย สำหรับคอลัมน์จึงไม่มีภาพใหม่ ๆ มาอวดกัน แต่จะขอนำเรื่องการเลือกใช้อุปกรณ์มาคุยกันก่อนแล้วกัน โดยอุปกรณ์ที่จะแนะนำในคอลัมน์นี้ก็คือ เลนส์มุมกว้างแบบตาปลา หรือที่มักเรียกกันว่า เลนส์ฟิชอาย (Fisheye Lens) นั่นแหละครับ
เลนส์ฟิชอาย ถูกใช้สำหรับงานวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เพราะต้องการเก็บพื้นที่ความกว้างของภาพ หรือการเก็บภาพทั่วทั้งท้องฟ้า สำหรับงานด้านดาราศาสตร์นั้นวัตถุประสงค์หลักคือการเก็บภาพทั่วทั้งท้องฟ้า เช่น การเฝ้าติดตามปรากฏการณ์ฝนดาวตก การเฝ้าดูวัตถุจากนอกโลก รวมทั้งขยะอวกาศที่อาจตกลงมาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศเกิดเป็นลูกไฟ (Fireball) ได้บ่อยๆ ปัจจุบันก็มีโครงการ All Sky Fireball Network ที่คอยเฝ้าดูและรายงานการเกิด Fireball จากสถานที่ต่างๆทั่วโลก ซึ่งอุปกรณ์หลักที่ใช้ก็คือกล้องถ่ายภาพทั่วทั้งท้องฟ้าแบบฟิชอายแทบทั้งสิ้น
นอกจากงานทางวิทยาศาสตร์ศาสตร์แล้ว เรายังสามารถนำเลนส์ฟิชอายไปใช้ถ่ายภาพท้องฟ้ามุมกว้าง 360 องศารอบตัว หรือการถ่ายภาพภายในหอดูดาวแคบๆ รวมทั้งการถ่ายภาพเพื่อนำมาใช้สร้างภาพยนตร์ฉายในระบบ Full Dome ได้เช่นกัน
เลนส์ฟิชอายในปัจจุบัน มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ?
1. Circular Fisheye เป็นเลนส์ที่ให้ภาพเป็นวงกลม มีมุมรับภาพกว้าง 180 องศาขึ้นไป ซึ่งทั้ง 4 มุมภาพจะเป็นสีดำ โดยจุดเด่นคือ สามารถเก็บภาพได้ทั่วทั้งท้องฟ้า นิยมนำมาใช้ในทางดาราศาสตร์เกี่ยวกับการเฝ้าติดตามถ่ายภาพปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เป็นต้น
2. Full Frame Fisheye เป็นเลนส์ฟิชอายที่ให้ภาพแบบเต็ม ๆ มีมุมรับภาพกว้างประมาณ 160 องศา ซึ่งจะไม่มีขอบภาพดำ นิยมใช้ถ่ายภาพในพื้นที่จำกัดให้ออกมากว้างได้ โดยมีส่วนความกว้างของด้านยาวรับได้ 160 องศา และด้านกว้าง 100 องศา
คุณสมบัติเฉพาะของ Fisheye Lens
เลนส์ชนิดนี้จะมีคุณสมบัติพิเศษคือ มีมุมรับภาพที่กว้างมากที่สามารถเก็บภาพได้กว้างถึง 180 องศา หรือบางตัว เช่น เลนส์ Fisheye ขนาดทางยาวโฟกัส 8 mm. ก็ออกแบบมาให้สามารถเก็บภาพมุมกว้างมากกว่า 180 องศากันเลยทีเดียว ซึ่งสามารถนำไปถ่ายภาพท้องฟ้าได้ทั่วทั้งท้องฟ้า ในมุมรอบตัว 360 องศาได้เลย
ภาพที่ได้จะมีลักษณะบิดเบือนโค้งงอเป็นวงกลมดูผิดรูปเพี้ยนไปหมด แต่ก็ทำให้ได้ภาพทั่วทั้งท้องฟ้า โดยเฉพาะในการเก็บภาพปรากฏการณ์ทางดราศาสตร์ อย่างเช่น การเฝ้าติดตามปรากฏการณ์ฝนดาวตก การถ่ายภาพทางช้างเผือกทั่วทั้งท้องฟ้า หรือแม้กระทั้งการถ่ายภาพการขึ้นตกของวัตถุท้องฟ้า อาทิ ดวงอาทิตย์ ดาวจันทร์ หรือกลุ่มดาวทั่วทั้งท้องฟ้าในช่วงขณะนั้นได้เป็นอย่างดี
มาดูผลงานจากเลนส์ Fisheye ในแบบต่างๆ กันหน่อย
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน