xs
xsm
sm
md
lg

ถ่ายทางช้างเผือกอย่างไร...ในช่วงต้นกุมภาพันธ์

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายแนวทางช้างเผือกช่วงก่อนรุ่งเช้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ช่วงเวลา 05.48 น.(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 1600 / Exposure : 35sec)
ในคอลัมน์นี้คงหนีกระแสการถ่ายภาพทางช้างเผือกแรกของปีไม่พ้น คงเป็นเพราะหลายคนตั้งตารอคอยการถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกกันมาเกือบ 3 เดือนตั้งแต่ปลายปีก่อนแล้ว ทั้งท้องฟ้าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นี้ยังใสเคลียร์ อยู่ในช่วงฤดูหนาวกลุ่มดาวต่างๆ ก็สุกสว่าง จึงขอแนะนำการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์กันเลยแล้วกันครับ....

การสังเกตทางช้างเผือก

ในช่วงรุ่งเช้าตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป แนวใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ขนานกับเส้นขอบฟ้า ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. จนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

นอกจากนั้นยังมีดาวเสาร์สว่างปรากฏบริเวณด้านซ้ายของใจกลางทางช้างเผือกอีกด้วย และหลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เราจะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ แนวใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้ามากขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายเมษายน แนวใจกลางทางช้างเผือกจะค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางเป็นแนวพาดบริเวณกลางฟ้า สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป นับเป็นช่วงเวลาที่สามารถชื่นชมความสวยงามและบันทึกภาพทางช้างเผือกได้ยาวนานขึ้น

ข้อนำแนะนำสำหรับการหาใจกลางทางช้างเผือกในช่วงนี้ สามารถใช้ตำแหน่งดาวเสาร์ในการบอกตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกได้

การตั้งค่าการถ่ายภาพ

สำหรับเทคนิคการตั้งค่าการถ่ายภาพของกล้องดิจิตอลต่างๆนั้น เป็นวิธ๊เบื้องต้นที่เราพยายามจะดึงศักยภาพของกล้องออกมาใช้งานให้มากที่สุด เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด ก่อนที่จะนำไปโปรเซสในภายหลัง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ปรับค่า Color space Adobe RGB

Color space Adobe RGB มีขอบเขตของสีที่กว้างกว่า เหมาะแก่การนำมา Retouch ภายหลัง ซึ่งจะทำให้การไล่โทนสีของภาพละเอียดมากกว่า sRGB


2. ใช้ค่าอุณหภูมิสี AWB หรือปรับที่ 5,000K


สำหรับมือใหม่หรือไม่แน่ใจ สามารถใช้ค่าอุณหภูมิสีเป็น Auto White Balance (AWB) ได้เลย หรืออาจใช้การปรับอุณหภูมิเป็นค่ากลางๆ ประมาณ 5,000K เนื่องจากแนวทางช้างเผือกในช่วงนี้จะอยู่ใกล้กับขอบฟ้ามาก การปรับอุณหภูมิสีที่ถูกต้องจะช่วยให้ได้ภาพที่เห็นรายละเอียดได้ดีขึ้น

3. เปิดระบบลดสัญญาณรบกวน Long-Exposure Noise Reduction

ในการถ่ายภาพด้วยเวลานานๆหลายวินาที มักเกิดสัญญาณรบกวนขึ้นได้ง่าย ดังนั้นระบบในตัวกล้องที่มีมาให้คือ Long-Exposure Noise Reduction จะช่วยให้สัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้นลดลงได้ ซึ่งก็คือหลักการเดียวกันกับการถ่ายภาพ Dark Frame นั่นเอง

4. RAW File

การใช้โหมดการบันทึกภาพแบบ RAW File จะช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการปรับแก้ไขภาพในภายหลังด้ดีกว่า เนื่องจากจะมีค่าข้อมูลที่มากกว่าแล้ว ยังมีค่าของโทนสีที่มากกว่าอีกด้วย

5. ตั้งค่ารูรับแสงกว้างสุด

การตั้งค่ารูรับแสงกว้างสุด เพื่อให้กล้องมีความไวแสงมากขึ้น ***ซึ่งข้อควรระวังนิดนึงสำหรับใครที่มีเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างมาก เช่น F1.2 หรือ F1.4 ควรลดค่ารูรับแสงลงมา 1-2 สตอป เพื่อป้องกันภาพเบลอ หรืออาการโคมา ที่ขอบภาพได้ครับ

6. โฟกัสภาพที่ดาวสว่างด้วย Live view หลังกล้อง

การโฟกัสภาพโดยใช้ Live view ช่วยในการโฟกัสดาวให้คมชัดที่สุด โดยการซูมที่ Live view 10X เพื่อปรับให้ดาวเป็นจุดเล็กที่สุด ซึ่งเราสามารถใช้ดาวสว่างบนท้องฟ้าดวงไหนก็ได้ในการโฟกัส หลังจากโฟกัสได้แล้วก็สามารถนำกล้องไปถ่ายดาวบริเวณอื่นๆ ของท้องฟ้าได้ทั้งหมด เพราะดาวอยู่ที่ระยะอนันต์นั่นเองครับ หรือเรียกง่ายๆ ว่า โฟกัสครั้งเดียว ถ่ายดาวได้ทั่วโลกครับ (อย่าลืมปรับกล้องเป็นระบบถ่ายภาพแบบแมนนวล โหมด M และปิดระบบกันสั่นด้วยนะครับ)

7. คำนวณค่า Speed shutter ด้วยสูตร Rule of 400/600

เพื่อให้การถ่ายภาพดาวด้วยขาตั้งกล้องที่อยู่นิ่งกับที่ โดยที่ดาวยังดูเป็นจุดไม่ยืดเป็นเส้นมากนัก ขอแนะนำให้ใช้สูตร 400/600 โดยใช้ค่าทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้หารกับค่า 400 เมื่อใช้กล้องที่มีเซนเซอร์แบบ APS-C หรือ หารกับ 600 เมื่อกล้องกล้องที่มีเซนเซอร์แบบฟลูเฟรม

8. ปรับค่าความไวแสง ISO สูงไว้ก่อน

ในการเริ่มต้นถ่ายภาพในช๊อตแรกๆ ส่วนตัวผมแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการใช้ค่าความไวแสง หรือ ISO สูงๆ ไว้ก่อนเพื่อให้เราสามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ได้ง่ายและเร็ว เพื่อช่วยให้จัดองค์ประกอบภาพได้ง่าย หลังจากได้มุมและตำแหน่งที่พอดีแล้วจึงค่อยๆ ลดค่าความไวแสงลงเรื่อยๆ จนได้ภาพที่มีรายละเอียด แสง ที่พอดีและมีสัญญาณรบกวนที่ต่ำลงที่รับได้อีกครั้ง

จากวิธีการปรับตั้งค่าที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าค่าสุดท้ายที่ใช้ในการปรับชดเชยก็คือ ความไวแสง เนื่องจากเราต้องการให้กล้องใช้รูรับแสงที่กว้างมากสุด และใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้องนานสุดที่ดาวยังไม่ยืด ซึ่งจะเป็นค่าที่ค่อนข้างจะตายตัว หลังจากนั้นจึงใช้การปรับค่า ISO เพื่อเชยเชยสภาพแสงของภาพให้ได้ราละเอียดต่างที่เหมาะสมเป็นขั้นตอนสุดท้ายครับ

กลเม็ดเคล็ดลับสำหรับการถ่ายภาพทางช้างเผือก

1. ถอดฟิวเตอร์หน้าเลนส์ออกก่อนถ่ายภาพ


การถอดฟิลเตอร์หน้าเลนส์ออกขณะถ่ายภาพ ช่วยให้การถ่าพที่บางครั้งอาจมีแสงสว่างเข้าหน้ากล้องจนอาจทำให้เกิดแสงแฟร์ได้

2. ใช้ Soft Filter เพื่อเพิ่มความเด่นชัดของกลุ่มดาวสว่าง

การใช้ Soft Filter ร่วมขณะถ่ายภาพจะช่วยให้ได้ภาพกลุ่มดาวสว่างที่เด่นชัดมากขึ้น สำหรับเลนส์มุมกว้างผมแนะนำให้ใช้ Soft filter เบอร์ 3-4 เพื่อให้ได้ภาพกลุ่มดาวที่เด่นชัดที่สุด


3. ใช้เทคนิค Black Card ช่วยลดแสงสว่างสว่างรบกวนบางส่วนที่ไม่ต้องการ

Black Card Technique คือการใช้กระดาษสีดำบังบริเวณหน้าเลนส์เฉพาะในส่วนที่มีแสงเข้าหน้ากล้องมากเกินไป โดยการบังหน้าเลนส์ด้วยการสบัดการ์ดผ่านหน้ากล้องไป-มา เรื่อยๆ ตลอดการเปิดหน้ากล้อง (โดยไม่บังตลอดเวลา)

เนื่องจากในช่วงต้นเดือนนี้ แนวทางช้างเผือกจะอยู่ในตำแหน่งใกล้กับขอบฟ้า ซึ่งมักจะมีแสงรบกวนบริเวณขอบฟ้าได้ง่าย การใช้เทคนิค Black Card ก็สามารถช่วยให้ได้ภาพที่ดีขึ้น


ข้อแนะนำเบื้องต้นในการถ่ายภาพทางช้างเผือกว่า ควรหาสถานที่ทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้เล็กน้อย ที่มีความมืดสนิทไม่มีแสงรบกวน หันหน้ากล้องไปที่ใจกลางทางช้างเผือก บริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู เลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้างมากขึ้น ปรับระยะโฟกัสของเลนส์ที่ระยะอนันต์ ใช้รูรับแสง ที่กว้างที่สุด พร้อมตั้งค่าความไวแสงตั้งแต่ 1600 ขึ้นไป เพียงเท่านี้ก็สามารถเริ่มต้นถ่ายทางช้างเผือกเป็นภาพแรกของปีกันได้แล้วครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน








กำลังโหลดความคิดเห็น