xs
xsm
sm
md
lg

หลากหลายความเข้าใจผิด...ในการถ่ายภาพดาราศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


สำหรับคอลัมน์นี้เรามาพูดกันถึงเรื่องความเข้าใจผิดสำหรับผู้ที่เริ่มต้น คิดจะถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่มักเจอกับคำถามรวมทั้งการเตรียมตัวในการถ่ายภาพดาราศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจผิดกัน ตัวอย่างเช่น การเตรียมตัวจะมาร่วมทริปถ่ายภพาดาราศาสตร์ ก็มักจะถามว่าต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้ทางยาวโฟกัสกี่ร้อยมิลลิเมตร หรือต้องมาขาตั้งกล้องแบบตามดาวไหม ต้องมีกล้องเทพราคาแพงเท่านั้นถึงจะถ่ายภาพได้ อะไรประมาณนี้ ซึ่งความจริงแล้ว สำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภพาไปจนถึงระดับมืออาชีพในด้านการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์เราแทบไม่ได้ใช้เลนส์เทเลโฟโต้กันสักเท่าไร และกล้องดิจิทัลก็เป็นกล้องถ่ายภาพธรรมดาทั่วไป

สิ่งที่ทำให้นักถ่ายภาพมืออาชีพ หรือนักดาราศาสตร์ถ่ายภาพเหล่านี้ออกมาได้ดีและสวยงามก็ เพราะการเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม เลือกจังหว่ะเวลาในการถ่ายภาพที่ถูกต้อง รวมทั้งเทคนิคของการถ่ายภาพและการประมวลผลในภายหลังแทบทั้งสิ้น

ในคอลัมน์นี้ ผมขอยกตัวอย่าง “เอาความเข้าใจผิด” ที่มักเจอบ่อยๆ มาเล่าให้ฟัง 5 เรื่องหลักๆ ดังนี้ครับ

1. ต้องใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงมาก ๆ เกินกว่าสามร้อยมิลลิเมตรขึ้นไป หรือ"เลนส์ซูเปอร์เทเล" ในการถ่ายดาว
   ตัวอย่างภาพถ่ายทางช้างเผือก ด้วยเลนส์มุมกว้าง (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30sec)
ตอบ : สำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพ เราจะใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่ายภาพ เช่น การถ่ายภาพทางช้างเผือก ภาพเส้นแสงดาว แสงจักรราศี หรือกลุ่มดาวฤดูหนาว ล้วนแต่ใช้เลนส์มุมกว้างทั้งสิ้น ซึ่งเลนส์ที่นิผมใช้ถ่ายภาพส่วนใหญ่จะเป็นช่วงทางยาวโฟกัส 14 mm. 16 mm. 24 mm. หรือ 50 mm.

2. กล้องถ่ายภาพต้องเป็นแบบฟลูเฟรมหรือกล้องราคาแพงๆ เท่านั้น
(ที่มาของภาพ : http://www.lonelyspeck.com/photographing)
ตอบ : อุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพดาราศาสตร์นั้น มีหลากหลายรูปแบบครับ ปัจจุบันเราสามารถใช้ทั้งสมาร์ทโฟนถ่ายภาพทางช้างเผือกได้แล้ว แต่สำหรับกล้องดิจิตอลที่สามารถใช้ถ่ายภาพเพื่อให้ได้ไฟล์ที่ใช้งานได้จริงๆ ก็สามารถใช้กล้องประเภท D-SLR ทั่วไป ที่มีความไวแสงสูงๆ เช่น ISO 2500 ขึ้นไป เท่านี้ก็ถ่ายทางช้างเผือก หรือกลุ่มดาว รวมทั้งแสงจักราศีได้สบาย ๆ แล้วครับ

นอกจากนี้ กล้องดิจิตอลแบบคอมแพค ปัจจุบันก็มีความสามารถในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ได้ดีไม่แพ้กล้องดิจิตอลแบบ D-SLR เช่นกัน

3. ถ่ายภาพโดยเปิดหน้ากล้องนานๆ แล้วเซ็นเซอร์จะพังเร็ว

ตอบ : สำหรับการถ่ายภาพในยามค่ำคืน ที่ต้องเปิดหน้ากล้องรับแสงนานๆ นั้น มักเข้าใจผิดว่ากล้องจะเปิดรับแสงมากเกินไปบ้างหล่ะ เป็นการเผาเซ็นเซอร์ บ้างหล่ะ จริงๆ แล้วแสงสว่างของวัตถุท้องฟ้านั้น น้อยมากจนแทบมองไม่เห็น หากเราไม่เปิดหน้ากล้องถ่ายภาพให้นานขึ้น ก็แทบจะไม่เห็นอะไรนอกจากภาพมืดๆ ดังนั้นการถ่ายภาพดวงดาว ไม่ได้ทำให้เซ็นเซอร์รับแสงมากเกินไปแต่กลับน้อยกว่าการเก็บแสงในตอนกลางวันเสียอีก เพียงแต่การเปิดหน้ากล้องนานๆ ก็จะทำให้เปลืองแบตเตอรี่และมีสัญญาณรบกวนมากขึ้นจากเท่านั้น

นอกจากนั้น หากจะยกตัวอย่างเช่น การถ่ายวีดีโอด้วยกล้อง D-SLR ยังจะทำให้เซ็นเซอร์มีอุณหภูมิมากกว่าการเปิดหน้ากล้องถ่ายดาวเสียอีก เพราะมีการเปิดรับแสงตลอดเวลา แต่ก็อย่าได้กังวลไปครับไม่ว่าจะถ่ายภาพดวงดาวหรือถ่ายวีดีโอ ผู้ผลิตได้ออกแบบมาให้ใช้งานและผ่านการทดสอบมาแล้ว กว่าเซ็นเซอร์คุณจะพังผมว่าอย่างอื่นอาจพังก่อนไปแล้วก็ได้ครับ

4. ถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบพาโนรามาไม่ได้ถ้าไม่มีขาตามดาว เพราะดาวมันเคลื่อนที่
 ภาพแนวทางช้างเผือกพาโนรามา ณ หอดูดาวควบคุมระยะไกล Cerro Tololo Inter- American Observatory (CTIO) ประเทศชิลี โดยผู้ถ่ายภาพถ่ายในแนวตั้ง มาทั้งหมด 3 แถว รวมทั้งหมดจำนวน 52 ภาพ (ภาพโดย : วิภู รุโจปการ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 50mm USM / Focal length : 50 mm. / Aperture : f/2.0 / ISO : 3200 / Exposure : (10s x 52 Images))
ตอบ : การถ่ายภาพทางช้างเผือกหรือกลุ่มดาวแบบพาโนรามานั้น สามารถถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาแบบตามดาว แต่แน่นอนวัตถุท้องฟ้ามีการเคลื่อนที่อย่างช้าๆ (1 ชั่วโมง 15 องศา หรือ 1 องศา ใช้เวลาถึง 4 นาที) ดังนั้นแม้วัตถุจะมีการเคลื่อนที่ก็ตาม แต่ก็ช้ามากและไม่ได้เปลี่ยนตำแหน่งไปมากนัก และโปรแกรมสำหรับต่อภาพเช่น Photoshop ก็ฉลาดพอที่จะต่อภาพถ่ายทางช้างเผือกแบบพาโนรามาได้แน่นอน

5. ต้องเป็นนักดาราศาสตร์เท่านั้น ถึงจะถ่ายภาพได้สวย

ตอบ : อันนี้คงต้องบอกว่าใครๆ ก็ถ่ายได้สวยเหมือนกัน หากมีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ สำหรับนักดาราศาสตร์นั้น แน่นอนต้องมีความรู้เกี่ยวกับวัตถุท้องฟ้า ทั้งเวลาสถานที่ที่เหมาะสม รวมทั้งสีสันและอุณหภูมิสีของวัตถุท้องฟ้าที่ตาเปล่าของคนทั่วไปจะเห็นได้เป็นอย่างไร แต่อย่างที่บอกครับเรื่องเหล่านี้คนทั่วไปก็สามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจากเป็นเพียงความรู้พื้นฐานการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์เท่านั้น ดังนั้น ยืนยันครับว่า “ใครก็สามารถถ่ายภาพ ได้สวยงามเหมือนกัน”

สำหรับคำแนะนำผู้เริ่มต้นถ่ายภาพดาราศาสตร์ เพื่อเป็นการเตรียมตัวและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพนั้น มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะหลายครั้งที่ผมจัดทริปถ่ายภาพดาราศาสตร์ ก็มักจะมีนักถ่ายภาพหน้าใหม่ที่เลือกติดเลนส์เทเลโฟโต้ มาร่วมทริป ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณจะถ่ายได้เฉพาะวัตถุท้องฟ้าแค่บางวัตถุเท่านั้น

ก่อนจบขอสรุปด้วยประโยคสั้นๆ สำหรับความเข้าใจในคอลัมน์นี้ คือ “เลือกเลนส์ผิด ชีวิตก็เปลี่ยน”

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน

กำลังโหลดความคิดเห็น