xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์-ธกส.ตั้งเป้าเปลี่ยนเกษตรกรเป็น “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” แสนรายใน 4 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.วิทย์-ธกส.ดันโครงการ InnoAgri ตั้งเป้าเปลี่ยนเกษตรกรเป็น “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” แสนรายใน 4 ปี มีสินเชื่อพิเศษแก่เกษตรกรุ่นใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาการเกษตร ด้าน วว.หน่วยงานใต้กระทรวงวิทย์เตรียมเดินสายรับฟังและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ชุมชนเกษตรกร นำร่องใน จ.ศรีสะเกษ และ จ.น่าน

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาเกษตรกร ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovative Agriculture) หรือ อินโนอะกรี (InnoAgri) ในกรอบความร่วมมือ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานจากการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมสู่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ” ระหว่าง รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เมื่อ 3 ก.ค.60 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ดร.อรรชกากล่าวว่าโครงการอินโนอะกรีเป็นการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ทางการเกษตร ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาแล้วถ่ายทอดไปยังเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างความรู้และความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตร ด้วยการนำความรู้ เครื่องมือ เครื่องจักร แลแทคโนโลยีที่ทันต่อโลกาภิวัฒน์ สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตด้วยวิทยาการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม พัฒนามาตรฐานการผลิต การแปรรูป ด้วยวิทยาการทางด้านอาหารและเภสัช รวมทั้งช่องทางการการจัดจำหน่าย ด้วยวิทยาการด้านการตลาด ที่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผล สร้างความยั่งยืนในการผลิตภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างมั่งคั่งและมั่นคง

สำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการฯ ดร.อรรชกากล่าวว่าเกิดขึ้นก่อนตัวเองมารับตำแหน่ง โดยเป็นแนวคิดจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ ธกส.มีความร่วมมือกัน โดยคัดเลือกเกษตรกรที่มีศักยภาพมาพัฒนาให้เป็น “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” (smart farmer) ซึ่งภายใน 4 ปีโครงการนี้ตั้งเป้าพัฒนาเกษตรกรให้ได้ 100,000 ราย ผู้ประกอบการอีก 15,000 ราย และชุมชนอีก 235 ชุมชน โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้จริงๆ ในภาคการเกษตร ซึ่งทาง ธกส.มีเงินกู้พิเศษให้แก่ผู้เข้าร่วมในโครงการนี้

ด้าน รศ.นพ.สรนิต กล่าวถึงจุดเด่นของโครงการฯ ว่าเพื่อยกระดับให้ภาคการเกษตรเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต เพื่อก้าวข้ามผ่านพ้นจากประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและทันการณ์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม เพื่อเร่งกระจายโอกาสการพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำไปสู่สังคมที่เสมอภาคและเป็นธรรม ดำเนินโครงการผ่านรูปแบบกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ 1.การสร้างเกษตรกรไฮเทค (InnoAgri Farmer) 2.การสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (InnoAgri Entrepreneur) และ 3.การสร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม (InnoAgri Village)

“กิจกรรมโดยภาพรวมของโครงการนี้ มุ่งเน้นการให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายผ่านเวทีการประชุม สัมมนา นิทรรศการ การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันทางการศึกษา สถาบันทางการเงิน และหน่วยงานต่างประเทศ ภายในนิทรรศการหลักของงาน ซึ่งนอกจากความรู้ที่มอบให้แล้วทางโครงการ ยังมีการจับคู่เทคโนโลยี (STI Matching) การแสดงผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยและพัฒนา เครื่องมือ เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย เอกชน” รศ.นพ.สรนิตกล่าว

ส่วน ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงกิจกรรมของโครงการในปี พ.ศ. 2560 ว่า กำหนดให้มีการจัดงาน InnoAgri รายภูมิภาคต่างๆ คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อจัดแสดงเทคโนโลยีของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงพันธมิตรที่มีความร่วมมือ และเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค โดยนำเสนอความต้องการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Demand Side Science Technology Innovation) รวมถึงแนวความคิดเทคโนโลยีที่ต้องการพัฒนา จากโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของเกาตรกร

ทั้งนี้ กิจกรรมการจัดงาน InnoAgri จะนำร่องที่เทศบาลตำบลบึงบูรพ์ ต.บึงบูรพ์ อ.บึงบูรพ์ จ.ศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 12-16 ก.ค.60 เวลา 08.30-17.00 น. โดยเน้นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมกิจกรรม 2,500 ราย และระหว่างวันที่ 26-30 ก.ค.60 เวลา 08.30-17.00 น. ณ โรงเรียนสา ต.กลางเวียง อ.เวียงสา จ.น่าน โดยมีเป้าหมายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 1,500 ราย

ทางด้าน นายอภิรมย์ ผู้จัดการ ธกส.กล่าวว่าก่อนหน้านี้ได้ลงนามความร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบัน ธกส.มีลูกค้า5.3ล้านราย ในจำนวนนั้น 3.5 ล้านรายเป็นหนี้ ธกส.และมีอายุมากกว่า 60ปี จึงตั้งป้าสร้างเกาตรกรกรรุ่นใหม่ ดดยมีสินเชื่อสานฝันเกษตรกรรุ่นใหม่ และหากมีการใช้วิทยาศาสร์และเทคโนโลยีด้วยจะได้รับการพิจารณาสินเชื่อป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้หากเป็นเกษตรรุ่นเก่าที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ก็จะได้รับการพิจารณาเช่นกัน

“ก่อนหน้านี้เราก็มีสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการและสินเชื่อเพื่อชุมชนอยู่แล้ว ตอนนี้มีสินเชื่อเพื่อเกษตรกรมาเพิ่มก็เพื่อจูงใจให้ทั้ง 3 กลุ่มมาร่วมโครงการ” นายอภิรมย์ กล่าว

ดร.อรรชกากล่าวถึงความคาดหวังว่า นอกจากใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเกษตรแล้ว อยากเห็นเกษตรกรรุ่นใหม่มากขึ้น และแปรรูปสินค้าเกษตรด้วย รวมถึงถ่ายทอดความรู้ไปยังเกษตรกรรายอื่น ซึ่งหากมองในแง่การกระจายความรู้ในวงกว้างเราก็เริ่มเห็นการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้ในการเกษตรกรบ้างแล้ว แต่อยากเห้นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในเชิงลึกมากขึ้น และเพิ่มมูลค่าได้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนเครือข่ายสมาคม องค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายประชารัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ ผู้ประกอบการกลุ่มชุมชน SMEs OTOP ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมในการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ได้ที่
องค์กรสภาเกษตรกรจังหวัด หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาในจังหวัดศรีสะเกษและน่าน
หรือที่
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เลขที่ 35 ม.3 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในวันและเวลาราชการ หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-5779015 และ 02-5779017 หรือที่ E-mail : innoagri@tistr.or.th



ตัวอย่างการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกาบหมาก
ขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากกล้วย
ผลิตภัณฑ์จากนมแพะ
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมแพะ
กำลังโหลดความคิดเห็น