สุดคึกคัก สตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2017 ภาคตะวันออก ดันชลบุรีเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในอนาคตยกระดับเพิ่มมูลค่า
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2017 (Startup Thailand 2017) ภาคตะวันออกครั้งแรก ระหว่างวันที่ 26-27 พ.ค.60 ภายใต้แนวคิดและบริบทให้ภาคตะวันออกเกิดการตื่นตัว ณ ชลบุรี (Eastern Rise@ชลบุรี) เพื่อพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of innovation) หรือ EECi เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน รวมถึงยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมให้มีการนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่า ลดต้นทุน ตลอดจนสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมฐานนวัตกรรมใหม่ขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีผู้ร่วมงานจากกลุ่มสตาร์ทอัพ กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจทั่วไปตบเท้าร่วมงานอย่างคึกคัก
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานเปิดงานกล่าวว่า งานในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวสำหรับการจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2017 ขึ้นครั้งแรกในระดับภูมิภาค และถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในภูมิภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ซึ่งทางภาครัฐได้มีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต (New Engine of Growth)
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่าในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญ จึงได้มีการพิจารณาและกำหนดแผนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกขึ้น ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนในโครงการฯ โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับพันธมิตรจากหน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
“สำหรับ EECi ถือเป็นอีกหนึ่งในโครงการสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการต่อยอดการวิจัยเพื่อพัฒนาสู่การสร้างนวัตกรรม และเพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมให้มีการนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่า ช่วยลดต้นทุน ตลอดจนสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมฐานนวัตกรรมใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ”
ดร.อรรชกากล่าวว่า งาน สตาร์ทอัพไทยแลนด์ ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งของภาครัฐ ในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ผ่านการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นหรือ สตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในกลุ่ม สตาร์ทอัพเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ นอกจากภาครัฐจะมุ่งหวังให้กลุ่มสตาร์ทอัพเหล่านี้ สามารถเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แล้ว ยังมุ่งหวังให้สตาร์ทอัพเหล่านี้ มีศักยภาพ และเป็นกำลังสำคัญ ที่สามารถสนับสนุนการพัฒนายกระดับ กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักของประเทศด้วย ซึ่งจะส่งผลโดยรวม ต่อการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยทั้งระบบ และส่งเสริมการสร้างรายได้ และการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสตาร์ทอัพนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเติบโตของสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) ดังนั้น งานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ที่จัดขึ้น จึงไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงการเติบโตของสตาร์ทกลุ่มเดียว แต่เพื่อมุ่งส่งเสริม สตาร์ทอัพและพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเติบโตของสตาร์ทอัพทั้งระบบ ให้สามารถส่งเสริมการพัฒนา และเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ดังนั้นกลไกของภาครัฐ จึงจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงการพัฒนาสตาร์ทอัพทั้ง ระบบที่เอื้อต่อการพัฒนา รวมไปถึงการพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัย การสนับสนุนกลุ่มนักลงทุน การสร้างเครือข่ายการพัฒนาระหว่างประเทศ และการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสตาร์ทอัพอีกด้วย ดังนั้นจึงถือว่างานสตาร์ทอัพไทยแลนด์เป็นเวทีกลางที่เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาและเติบโตของสตาร์ทอัพทั้งระบบ ในมิติต่างๆ ซึ่งแนวคิดการจัดงานในภูมิภาคตะวันออกครั้งนี้ การทำให้ภาคตะวันออกเกิดการตื่นตัว ได้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและจุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้เป็นอย่างดี ถึงความมุ่งหวังและต้องการยกระดับการเติบโตของทั้งภูมิภาคไปพร้อมๆกัน เพราะทุกคน ทุกธุรกิจ ถือเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่มั่นคงอย่างยั่งยืน ที่จะยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ของไทย ให้เข้มแข็งและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ด้าน รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหารจิสด้า และประธานกรรมการบริหารนวัตกรรมแห่งชาติได้กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะผู้จัดงาน สตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2017 ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลัก ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ในการจัดโครงการ วาระแห่งชาติขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสตาร์ทอัพ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกำหนดให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงานในท้องถิ่น และการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค ซึ่งถือเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ
“โดยหน้าที่หลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็คือ การสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ รวมถึงการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ”
รศ.ดร.สมเจตน์ ยังกล่าวอีกว่าการจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ถือเป็นอีกกลไกหนึ่ง ที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพและการส่งเสริมความสมบูรณ์ของ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเติบโตของสตาร์ทอัพในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจากความสำเร็จของการจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ในปีที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสตอบรับและการพัฒนากลไกสนับสนุนสตาร์ทอัพในวงกว้าง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้กำหนดจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2017 ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนการต่อยอดทางธุรกิจ และการต่อยอดในการพัฒนาขับเคลื่อนสตาร์ทอัพของประเทศไทย โดยการจัดงานในครั้งนี้ กำหนดเดินสายทั่วทุกภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือและภาคกลาง โดยแนวคิด และบริบทของแต่ละภาคจะแตกต่างกันออกไป
สำหรับการจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2017 ในปีนี้ เพื่อแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจแก่สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ ให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยโครงการ และบริการต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยกิจกรรมสำคัญที่น่าสนใจและจะเกิดขึ้นภายในงาน ตลอด 2 วันในหัวข้อต่างๆ นั้นได้แก่ การประชุมและสัมมนา พร้อมพบผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจสตาร์ทอัพจากทั่วโลก มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้ ตัวอย่างสตาร์ทอัพ การรวมตัวของเหล่าสตาร์ทอัพจากทั้งในและต่างประเทศ มานำเสนอผลงานนวัตกรรม แนวคิด และการบริการที่สร้างสรรค์ ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเติบโตของสตาร์ทอัพ นิทรรศการที่รวบรวมกลุ่มผู้สนับสนุนทางธุรกิจภาคเอกชน นักลงทุน มหาวิทยาลัย และหน่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพจากทั้งในและต่างประเทศ รวมบริการจากภาครัฐ เพื่อการสนับสนุนและการต่อยอดทางธุรกิจของสตาร์ทอัพ และ แข่งขันค้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพจากเวทีสตาร์ทอัพไทยแลนด์
“โดยการแข่งขันค้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพในรอบคัดเลือกจะคัดผู้ชนะเลิศในแต่ละภาคมา 5 ภาค และมาแข่งขันตัดสินเพื่อหาผู้ชนะเลิศ การแข่งขันค้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพ (STARTUP Thailand Grand Piยtching Chalทlenge) ที่กรุงเทพฯ ส่วนการแข่งขันสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก (STARTUP Thailand League) สำหรับระดับมหาวิทยาลัยก็จะมีการแข่งขันในรอบคัดเลือกจาก 4 ภาค และมาตัดสินชนะเลิศที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน” ดร.สมเจตน์กล่าว