xs
xsm
sm
md
lg

ถ่ายดวงจันทร์เต็มดวงช่วงไหน...ให้ได้ใหญ่และใสสุด

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวง ในช่วงเวลาเที่ยงคืน โดยตำแหน่งของดวงจันทร์อยู่บริเวณกลางท้องฟ้า (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi TOA 150 + Extender 1.5X / Focal length : 1650 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 100 / Exposure : 1/200 sec)
สำหรับคอลัมน์นี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่อง การถ่ายภาพดวงจันทร์กันบ้าง ซึ่งหลายท่านก็อาจเคยได้ลองถ่ายกันมาบ้างแล้ว แค่เพียงโฟกัสที่ผิวของดวงจันทร์แล้วก็ทดลองถ่ายภาพและปรับชดเชยแสงไม่ให้โอเวอร์หรือสว่างมากไปเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร หากแต่ในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง แล้วเราอยากจะได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และได้ภาพที่สว่างใสเคลียร์มากที่สุดหล่ะ เราจะถ่ายในช่วงไหนตำแหน่งไหน ถึงจะดีที่สุด วันนี้เรามีเทคนิคง่ายๆ มาเล่าให้ฟังครับ

ตัวอย่างเช่น ในปรากฏการณ์ Super Full Moon หากใครได้ลองถ่ายภาพตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงช่วงเที่ยงคืนโดยประมาณแล้วนำภาพทั้งหมดในแต่ละช่วงเวลามาเปรียบเทียบกัน ก็จะเห็นว่าขนาดดวงจันทร์ในช่วงหัวค่ำมักจะมีขนาดที่เล็กกว่า ในช่วงเวลาเที่ยงคืน ซึ่งสามารถอธิบายด้วยหลักการของการหมุนรอบตัวเองของโลก ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง

จากภาพตัวอย่างแสดงตำแหน่งของผู้สังเกตบนโลกในการเห็นดวงจันทร์ในช่วงเวลาต่างๆ จะเห็นได้ชัดเจนว่า จริงๆแล้ว ในช่วงหัวค่ำตำแหน่งผู้สังเกตบนโลกจะห่างจากตำแหน่งของดวงจันทร์มากกว่าในช่วงเที่ยงคืน

ดังนั้นสามารถสรุปวิธีการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่ใหญ่โตที่สุด และมีความใสเคลียร์ของภาพมากที่สุดดังนี้

1. ถ่ายดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงเที่ยงคืน เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งใกล้ผู้สังเกตบนโลก ในช่วงคืนคืนนั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการของการหมุนรอบตัวเองของโลก ที่ทำให้ตำแหน่งของผู้สังเกตในช่วงเวลาต่างๆ มีระยะห่างจากดวงจันทร์ที่แตกต่างกันนั่นเอง ดังที่เสนอในแผนภาพข้างต้น

2. ถ่ายดวงจันทร์ในช่วงที่อยู่ในตำแหน่งกลางศีรษะ ณ ตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่ในมุมที่สูงที่สุดนี้ จะทำให้ภาพดวงจันทร์ที่ใสเคลียร์มากที่สุด เนื่องจากอยู่สูงจากมวลอากาศบริเวณขอบฟ้าและพวกฟ้าหลัวต่างๆ ที่อาจทำให้ภาพไม่ใสเคลียร์ได้ รวมทั้งตำแหน่งกลางท้องฟ้าจะเป็นบริเวณที่มีทัศนวิสัยท้องฟ้าดีที่สุดนั่นเอง

การถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงที่ดวงจันทร์ของกลางศีรษะ ถือเป็นตำแหน่งที่สามารถหลีกหนีพวกมวลอากาศและฟ้าหลัวต่าง ๆ ได้ดีที่สุด ทำให้ได้ภาพถ่ายที่ใสเคลียร์มากที่สุด นอกจากนั้นยังทำให้ได้ขนาดของดวงจันทร์ที่ใหญ่มากที่สุด เนื่องจากดวงจันทร์จะอยู่ในระยะที่ใกล้กับผู้สังเกตอีกด้วย

ตรวจสอบระยะห่างของดวงจันทร์ด้วยโปรแกรม Stellarium
โปรแกรม Stellarium สามารถใช้ในการตรวจสอบระยะห่างของดวงจันทร์ในแต่ละช่วงเวลาได้
ในการตรวจสอบระยะห่างของดวงจันทร์ในแต่ละช่วงเวลานั้น เราสามารถใช้โปรแกรม Stellarium ในการเช็คระยะทางได้เช่นกัน จะพบว่าระยะห่างของดวงจันทร์ในช่วงหัวค่ำนั้นไกลกว่าช่วงเวลาเที่ยงคืน ซึ่งตรงกับหลักการของการหมุนรอบตัวเองของโลก ที่ทำให้ตำแหน่งของผู้สังเกตในช่วงเวลาต่างๆ มีระยะห่างจากดวงจันทร์ที่แตกต่างกันนั่นเอง
ภาพเปรียบเทียบดวงจันทร์เต็มดวงของวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ในช่วงเวลา 20:00 น. เทียบขนาดกับในช่วงเวลา 00:00 น.
คราวหน้าหากใครที่อยากได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่และใสเคลียร์มากที่สุด ก็อาจลองวิธีนี้กันดูได้นะครับ รับรองว่าภาพดวงจันทร์ของคุณจะสว่างใสและใหญ่มากแน่นอนครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน








กำลังโหลดความคิดเห็น