xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากภาพถ่าย Super Full Moon เหนือพระบรมมหาราชวัง

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่าย Super Full Moon เหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 70-200/2.8L IS II USM + Extender EF 2X / Focal length : 400 mm. / Aperture : f/5.6 / ISO : 1250 / Exposure : 1/40sec)
ในคอลัมน์นี้ผมจะขออนุญาตเล่าเรื่องจากประสบการณ์การถ่ายภาพปรากฏการณ์ Super Moon เหนือพระบรมมหาราชวัง โดยในช่วงก่อนหน้าการเกิดปรากฏการณ์ 1 สัปดาห์ ผมได้รับมอบหมายให้ถ่ายภาพปรากฏการณ์ฯ โดยต้องการให้ได้ภาพที่ดวงจันทร์เต็มดวงขณะขึ้นจากขอบฟ้า อยู่ในมุมเหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ความกดดัน

ในครั้งนี้ ท่านรองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือบอสของผมเอง ตั้งใจอยากให้เก็บภาพดวงจันทร์เต็มดวงในค่ำคืนประวัติศาสตร์นี้ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีความสนพระราชหฤทัยด้านดาราศาสตร์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งผมต้องยอมรับว่า “กดดันมาก”พอสมควร เนื่องจากในช่วงวันก่อนหน้าปรากฏการณ์ที่สำรวจสถานที่ ท้องฟ้าของกรุงเทพมหานครฯ ยังมีเมฆฝนอยู่พอสมควร และโอกาสที่จะพลาดจากเมฆหนา ฝนตก หรือวัดมุมผิด ก็อาจเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น และที่สำคัญผมยังไม่เคยถ่ายภาพดวงจันทร์กับพระบรมมหาราชวัง มาก่อนอีกด้วย

วางแผน
เราได้วางแผนการล่วงหน้าถึง 1 สัปดาห์ เพื่อหามุมตำแหน่งที่เหมาะสมของคืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ในช่วงเวลาตั้งแต่หัวค่ำที่จะเก็บภาพดวงจันทร์เต็มดวงในค่ำคืนประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งก่อนเดินทางไปสำรวจสถานที่ผมได้ตรวจสอบมุมทิศของดวงจันทร์ขณะขึ้นจากขอบฟ้า และตำแหน่ง สถานที่ที่สามารถถ่ายภาพปรากฏการณ์นี้กับพระบรมมหาราชวัง โดยเลือกมุมที่ดวงจันทร์จะปรากฏเหนือบริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. เดินทางสำรวจสถานที่ ที่สามารถมองเห็นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจากมุมไกลทางทิศตะวันออกได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ในระยะที่ไม่น้อยกว่าครึ่งกิโลเมตร เป็นอย่างน้อย ซึ่งหากใกล้กว่านี้ภาพดวงจันทร์เมื่อเปรียบเทียบกับพระบรมมหาราชวัง จะเล็กเกินไป

2. ใช้ Google Earth วัดระยะห่างจากจุดถ่ายภาพ ถึงบริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อใช้ในการหาระยะที่เหมาะสมในการถ่ายภาพ
การใช้ Google Earth ในการวัดระยะจากบริเวณที่สามารถสังเกตเห็นพระบรมมหาราชวังโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
3. ใช้แอพพลิเคชั่น LightTrac ในการหาตำแหน่งมุมทิศ (Azimuth) และมุมเงยของดวงจันทร์ (Altitude) ในการหาตำแหน่งถ่ายภาพ ตามช่วงเวลาที่ดวงจันทร์จะโผล่เหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
แอพพลิเคชั่น LightTrac ที่ใช้ในการเลือกตำแหน่งถ่ายภาพ เพื่อตรวจสอบ มุมทิศ และมุมเงยของดวงจันทร์
4. เลือกช่วงเลนส์ที่เหมาะสม สำหรับการถ่ายภาพให้ได้ดวงจันทร์ดูใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป ซึ่งในระยะห่างในครั้งนี้เราวัดระยะได้ประมาณ 620 เมตร ซึ่งการใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 400 mm. ก็สามารถเก็บภาพทั้งดวงจันทร์และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทได้ครบถ้วนพอดี
ในการถ่ายภาพครั้งนี้ผมเลือกใช้เลนส์ Telephoto Canon EF 70-200/2.8L IS II USM ต่อร่วมกับ Extender EF 2X
5. หลังวางแผนแล้ว ก็ได้ทดลองถ่ายภาพล่วงหน้า 1 วัน ในวันที่ 13 พฤศจิกายน ซึ่งจากที่วางแผนไว้ก็สามารถเก็บภาพในคืนวันที่ 13 ได้บ้างแต่ก็ทำให้มั่นใจว่า การเลือกตำแหน่งไม่ผิดพลาด ซึ่งในคืนวันที่ 13 กับ 14 ตำแหน่งจะต่างกัน โดยดวงจันทร์จากตำแหน่งเดิมของวันที่ 13 พ.ย. จะปัดขึ้นเหนือมาอีกประมาณ 4 องศา ในคืนวันที่ 14 พ.ย.

ก่อนการถ่ายภาพด้วยความเชื่อส่วนตัว “ผมได้ก้มกราบ โดยหันหน้าไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อขออนุญาตถ่ายภาพในครั้งนี้ให้ประสบความสำเร็จ” ซึ่งทำให้รู้สึกสบายใจและมีความมั่นใจมากขึ้นที่ผมเองรู้สึกได้...

ถึงวันถ่ายจริง

ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 หลังจากที่เลือกสถานที่ถ่ายภาพได้แล้ว คือ กรมอู่ทหารเรือ กองทัพเรือ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจากท่าน ผอ.กรมอู่ทหารเรือ และนายทหารหลายๆท่าน ที่คอยช่วยเหลือผมทั้งปีนตึก วิ่งขนอุปกรณ์ตามผม (ประทับใจมากครับ)

โดยวันเช้าวันที่ 14 พ.ย. ท้องฟ้าก็ใสเคลียร์อย่างไม่น่าเชื่อ แสงแดดร้อนแรงตลอดทั้งวัน ซึ่งคล้ายกับฟ้าหลังฝน ที่ท้องฟ้าจะใสเคลียร์แบบสุดๆ ถือเป็นฤกษ์ดีสำหรับงานของผมในวันนี้ ตัวผมเองแบบคิดในใจว่านี่คงเป็นพระบารมีของพระองค์ท่าน ที่อยากให้คนไทยทั้งประเทศได้มีโอกาสชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงในค่ำคืนประวัติศาสตร์นี้

ผมได้เดินทางไปล่วงหน้าตั้งแต่เวลา 16.00 น. เพื่อทดสอบอุปกรณ์อีกครั้ง และวัดตำแหน่งซ้ำอีกครั้งจนเป็นที่แน่ใจ ซึ่งก่อนที่ดวงจันทร์จะโผล่จากขอบฟ้า ผมรู้สึกกดดันและตื่นเต้น เพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังได้รับมอบหมายงานที่สำคัญงานหนึ่งของสถาบันฯ ที่ต้องการจะเก็บภาพดวงจันทร์เต็มดวงในค่ำคืนประวัติศาสตร์นี้ไว้ “และก่อนที่จะเริ่มถ่ายภาพ ผมก็ได้ ก้มกราบ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” อีกครั้ง เพื่อขอให้งานในคืนนี้ประสบความสำเร็จ ไม่กี่นาทีดวงจันทร์ก็โผล่จากขอบฟ้า ให้เห็นตรงกับที่วางแผนไว้

ช่วงเวลานั้น ถึงแม้ว่าได้โฟกัสภาพไว้ที่ตัวพระที่นั่งดุสิตมหาสารทล่วงหน้าแล้วก็ตาม “แต่ทุกอย่างมันเร็วมาก” การถ่ายภาพเร่งรีบทุกอย่างการจัดองค์ประกอบภาพ การปรับค่าความไวแสง ความเร็วชัตเตอร์ ต้องทำไปพร้อมกันและปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด เทคนิคต่างๆ ต้องงัดเอามาใช้ ซึ่งแน่นอนแสงดวงจันทร์สว่างมาก เมื่อเทียบกับแสงของฉากหน้าคือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ถึงแม้จะมีการเปิดไปส่องไปยังบริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยรอบก็ตาม ซึ่งหากถ่ายให้ได้รายละเอียดของพระที่นั่งฯ ดวงจันทร์ก็จะสว่างจนโอเวอร์ หรือหากอยากได้แสงดวงจันทร์ที่เห็นรายละเอียดของดวงจันทร์ พระที่นั่งฯ ก็จะมืดอันเดอร์มากจนเกินไป

เทคนิคที่นำมาใช้แก้ปัญหาดังกล่าวคือ การใช้ฟิลเตอร์แบบครึ่งซีก เพื่อลดแสงของดวงจันทร์ลงทำให้ได้รายละเอียดของฉากหน้าที่ดีขึ้น
ฟิลเตอร์ครึ่งซีกที่นำมาใช้ในการลดแสงดวงจันทร์ขณะถ่ายภาพปรากการณ์
ภาพต้นฉบับจาก RAW ไฟล์ก่อนการปรับแสงของภาพ โดยจะเห็นว่าบริเวณขอบภาพด้านซ้ายจะมีความมืดมากกว่าบริเวณอื่น เนื่องมาจากการใช้ฟิลเตอร์ครึ่งซีกในการลดแสงบริเวณดังกล่าว
นอกจากการใช้ฟิลเตอร์ครึ่งซีกแล้ว มวลอากาศบริเวณขอบฟ้าก็ถือเป็นตัวช่วยกรองแสงดวงจันทร์ให้ลดความสว่างลง ไม่ให้ภาพเกิดความคอนทราสมากเกินไป ซึ่งถือเป็นความโชคดีสำหรับการถ่ายภาพนี้เช่นกันครับ

หลังจากที่ได้ภาพถ่าย Super Full Moon เหนือพระบรมมหาราชวัง ตามที่หวังไว้เรียบร้อยแล้ว ผมก็ยังคงไม่เสร็จภารกิจ เพราะคิดไว้ว่าหลังจากถ่ายภาพได้แล้วน่าจะหาคนไปยืนถ่ายเทียบกับดวงจันทรดูบ้าง ซึ่งในบริเวณกรมอู้ทหารเรือก็มีเครนสูงพอสมควรที่ใช้ในการยกเรือ เลยขอให้น้องที่ทำงานที่มาช่วยผม ปีนขึ้นไปเพื่อให้ผมถ่ายภาพ จึงได้ภาพอีกรูปแบบของปรากฏการณ์ Super Full Moon ดังภาพด้านล่าง
ภาพถ่าย Super Full Moon เปรียบเทียบกับคน (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 300/4L IS USM + Extender EF 2X / Focal length : 600 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 1250 / Exposure : 1/5sec)
ภาพถ่าย Super Full Moon เปรียบเทียบกับคน (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 300/4L IS USM + Extender EF 2X / Focal length : 600 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 1250 / Exposure : 1/5sec)
สุดท้ายนี้ ผมคิดว่าอย่างน้อยงานถ่ายภาพนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ และทำให้เกิดความตื่นตัวทางด้านดาราศาสตร์ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า

"การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าได้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนานหรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคมให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง"

"Photography is art and is useful. Please do not take pictures merely for fun or beauty. Use your pictures to bring value to society,to benefit the public. In this way,art can also contribute to the development of the country."

แสดงไว้ ณ The First Annual Bangkok Art & Photography Event 2007

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน








กำลังโหลดความคิดเห็น