นักเดินเรือทะเลในอดีตเคยประสบเคราะห์กรรมถูกโจรสลัดปล้น ฆ่า และจับตัวไปเรียกค่าไถ่ตั้งแต่สมัยโบราณ ในสมัย 75 ปีก่อนคริสตกาล หนุ่ม Julius Caesar เมื่อครั้งที่ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่เกาะ Rhodes ได้ถูกโจรสลัดจับตัวไปเรียกค่าไถ่ การถูกจับขังและทรมานนาน 5 เดือน ทำให้ Caesar รู้สึกโกรธแค้นเหล่าโจรมาก ดังนั้นเมื่อได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งโรม จึงได้หวนกลับไปจับโจรสลัดกลุ่มนั้น ไปขึงตรึงที่ไม้กางเขนเป็นการประจาน และลงโทษ และเมื่อใดที่โจรสลัดรู้ข่าวว่า จะมีขบวนเรือนำอาหารและเหล้าองุ่นไปถวายเป็นบรรณการแด่จักรพรรดแห่งโรม โจรสลัดก็จะบุกยึดเรือ มีผลทำให้ชาวโรมันขาดแคลนอาหาร และอดอยาก องค์จักรพรรดิจึงทรงจัดทัพออกปราบโจรสลัด เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชน
ทั้งกวี Homer และนักปรัชญาการเมือง Cicero ได้เคยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ชาวเรือกรีก และชาวเรือโรมันต้องเผชิญความป่าเถื่อนของสลัดเช่นกัน
ตามปกติทะเล Aegean ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเล Mediteranean มีเกาะเล็กเกาะน้อยมากมายสำหรับให้โจรสลัดได้หลบซ่อน เพื่อลอบโจมตีเรือสินค้า และเวลาใดที่ไม่มีเรือให้ปล้น เหล่าโจรสลัดก็จะบุกปล้นชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมทะเลแทน ใครที่ต่อต้านก็จะถูกฆ่า หรือถูกจับตัวไปขายเป็นทาส เหตุการณ์รุนแรงนี้ทำให้ชาวบ้านและผู้คนเดือดร้อนไปทั่ว จนรัฐบาลกรีกต้องจัดตั้งกองกำลังขึ้นต่อสู้กับสลัดเพื่อให้ทะเลเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินทาง
ในรัชสมัยของจักรพรรดิ Alexander มหาราช เมื่อ 2,350 ปีก่อน กองทัพในพระองค์ได้สู้กับกองโจรสลัดหลายครั้ง และพระองค์ตรัสถามโจรที่พระองค์ทรงจับได้ว่า เหตุใดจึงต้องรุกรานและรังควานชาวบ้าน โจรสลัดได้ทูลตอบว่า ด้วยเหตุผลเดียวกับที่องค์จักรพรรดิทรงรุกรานชาติอื่น แต่มีความแตกต่างตรงที่พวกข้าพเจ้าใช้เรือขนาดเล็กเพียงลำเดียว ชาวบ้านจึงเรียกโจรสลัด แต่พระองค์ทรงใช้กองทัพ และเรือจำนวนมาก ผู้คนยกย่องจึงสรรเสริญพระองค์ว่า เป็นจักรพรรดิ
ในอดีตเมื่อ 1,100 ปีก่อน บรรดาชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามชายฝั่งของทะเลเหนือล้วนอยู่ภายใต้การคุกคามของสลัด Viking ผู้มีความชำนาญในการสร้างเรือ และเดินเรือ เพราะบรรดานักเดินเรือ ชาวบ้าน และชาวเกาะมักถูกสลัดไวกิงปล้น ฆ่า หรือจับตัวไปเป็นทาส
ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุโรปมีธุรกิจซื้อ-ขายทาสที่รุ่งเรืองมาก การใช้เรือจำนวนมากขนทาสจากแอฟริกาไปขายในอเมริกา และยุโรปเมื่อเรือทาสถูกโจรสลัดปล้น สลัดก็จะนำทาสไปขายต่อเพื่อแลกกับอาหารและอาวุธ การถูกบังคับให้ทำงานหนักทำให้ทาสบางคนต้องหลบหนีกลับไปใช้ชีวิตเป็นสลัดอีก
ในมหาสมุทรอินเดีย และทะเลจีนใต้ เมื่อ 900 ปีก่อนมีเรือสินค้าเดินทางจากจีนไปแอฟริกาทรัพยากรโดยบรรทุกชา กาแฟ แพร ไหม สมุนไพร และอัญมณีมีค่า นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทะเลมีโจรสลัดชุกชุม จนรัฐบาลจีน และรัฐบาลญี่ปุ่นต้องจัดกองทัพออกปราบปรามด้วยการจับสลัดตัดศีรษะ หรือขังคุกตลอดชีวิต การคุกคามโดยโจรสลัดจึงลดความรุนแรงและความถี่ลง
ในปี 1801 เมื่อรัฐบาลอเมริกันปฏิเสธไม่ยอมส่งส่วยให้โจรสลัดผิวดำที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนฝั่ง Barnaby ของแอฟริกาเหนือ ผลที่ตามมาคือ เกิดสงคราม Barbary ระหว่างรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส และดัชท์กับกองโจรสลัดผิวดำที่ชอบจับคนผิวขาวไปเป็นทาส
ในปี 1881 นักประพันธ์ชื่อ Robert Louis Stevenson ได้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง Treasure Island ที่มีพระเอกชื่อ กัปตัน Jim Hawkins ซึ่งได้ใช้เรือ Hispaniola ออกค้นหาทรัพย์สมบัติที่โจรสลัดนำมาซุกซ่อนในถ้ำบนเกาะร้างต่างๆ หนังสือเล่มนี้ได้ทำให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตของโจรสลัดดีขึ้น จนเด็กหลายคนที่ได้อ่านหนังสือใฝ่ฝันจะเป็นโจรสลัดบ้าง
ในเทพนิยายเรื่อง Peter and Wendy ของ J.M. Barrie มีพระเอกชื่อ Peter Pan ซึ่งต่อสู้กับหัวหน้าโจรสลัดชื่อ กัปตัน Hook
โดยทั่วไป นวนิยายที่เกี่ยวกับโจรสลัดมักมีการกล่าวถึงมหาสมบัติที่โจรสลัดปล้นมาได้ กับการต่อสู้แย่งชิงสมบัตินั้น ข้อมูลนี้ทำให้คนอ่านมีจินตนาการด้านผจญภัยที่สนุกสนาน นวนิยายเกี่ยวกับโจรสลัดจึงเป็นวรรณกรรมที่ผู้อ่านชื่นชมมาก
ตามปกติ เวลามีการบุกยึดเรือที่มีสินค้าเต็มอัตรา โจรสลัดมักจะปล้นเอาทองคำ เงิน และอัญมณีมีค่าไป เพราะในสมัยนั้นเหรียญทองคำ 1 เหรียญมีค่าเท่าเงินเดือนชาวบ้าน 2 เดือน ดังนั้น โจรสลัดที่ปล้นเรือก็จะร่ำรวย แต่ก็มีบางครั้งที่เรือที่เป็นเป้าแทบไม่มีสินค้าอะไรให้ปล้นเลย และถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น โจรสลัดก็จะจับลูกเรือไปเรียกค่าไถ่แทน นอกจากนี้ เวลาแบ่งทรัพย์สมบัติที่ปล้นมาได้ โจรสลัดอาจใช้หลักการว่า หัวหน้าโจรมีสิทธิ์ได้สมบัติที่มี่ค่าประมาณ 2.5 เท่าของสมุน แพทย์ประจำเรืออาจจะได้สมบัติที่มีค่าประมาณ 1.25 เท่าของสมุนโจร ส่วนช่างซ่อมและเด็กรับใช้บนเรือก็อาจจะได้สมบัติมูลค่า 0.75 เท่าและ 0.5 เท่าของสมุนโจรตามลำดับ
]
ส่วนในกรณีของอาวุธที่ปล้นมาได้นั้น ถ้าเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพ หรือเป็นยารักษาโรค เหล่าโจรก็รู้สึกจะยินดีปรีดามาก เพราะจะได้ใช้อาวุธเหล่านั้นในการปล้นครั้งต่อไป อีกทั้งจะได้ใช้ยาในการรักษาโรคของพวกตน โดยไม่ต้องขอไปพึ่งพาอาศัยแพทย์บนฝั่ง
นอกจากนี้ถ้าโจรสลัดต้องอยู่ในทะเลอย่างต่อเนื่องติดต่อกันนาน ความเบื่อหน่าย และความขัดแย้งระหว่างโจรสลัดมักมีผลต่อวิถีชีวิตของสลัดเอง และสังคมของสลัดมักออกกฎบังคับไม่ให้ใครเล่นการพนันเดิมพัน รวมถึงให้ดับเทียนหลังเวลา 2 ทุ่มเพื่อเข้านอน ต้องทำความสะอาดอาวุธที่จำเป็นต้องใช้อย่างสม่ำเสมอ ห้ามสตรีขึ้นเรือ (เพราะถือเป็นอัปมงคลและเพื่อความปลอดภัยของเธอเอง) สลัดคนใดที่ทิ้งเรือจะมีโทษถึงตาย หรือถูกจับไปปล่อยเกาะ เวลากินอาหารที่ปล้นมาได้ สลัดทุกคนจะได้ส่วนแบ่งที่เท่ากัน และเวลาขึ้นบกเพื่อระบายความอัดอั้นหลังจากที่ได้ใช้ชีวิตอย่างล่อแหลมมานาน สลัดมักจับจ่ายเงินทองซื้อของใช้สอย และเที่ยวกลางคืนอย่างลืมตาย
ดังนั้นในความรู้สึกของคนทั่วไป เวลามีการพูดถึงโจรสลัด ทุกคนจะนึกถึงกองโจรที่แล่นเรือในทะเล สลัดเป็นคนที่มีจิตใจโหดเหี้ยม ชอบปล้นสะดม และชอบจับขังหรือกวาดต้อนผู้คนไปเป็นทาสหรือเรียกค่าไถ่
ภาษาอังกฤษมีคำหลายคำที่หมายถึงโจรสลัด เช่น buccaneer คือ สลัดที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตของเรือบรรทุกสินค้าและเรือรบสเปนในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ส่วน corsair หมายถึงโจรสลัดที่โปรดปรานการล่าเหยื่อในทะเลเมดิเตอเรเนียน ด้าน privateer หมายถึงโจรสลัดที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลของประเทศหนึ่งให้ปล้นสะดมเรือข้าศึกอีกประเทศหนึ่ง ดังเช่น Sir Francis Drake เป็น privateer ในสมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 ซึ่งพระนางทรงมอบหมายให้มีหน้าที่ปล้นสะดมภ์เรือสเปนในทะเล Caribbean ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ยุคนั้นเป็นยุคทองของโจรสลัด
ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปัญหาโจรสลัดในทะเลได้ลดความรุนแรงลงมาก เพราะโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เรือรบของชาติต่างๆ ได้ติดตั้งเครื่องจักรไอน้ำในการขับเคลื่อนเรือออกปราบปราม ในขณะที่โจรสลัดยังใช้เรือใบต่อไป ถึงปี 1856 ได้มีแถลงการณ์ร่วมจากองค์การระหว่างประเทศที่ปารีสให้ถือว่า การปล้นสดมภ์ใดๆ ในทะเลเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
กระนั้นในเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในช่องแคบ Malacca อ่าวไทย ทะเล Celebes ทะเล Flores และทะเลจีนใต้ ก็ยังถูกโจรสลัดคุกคาม ดังมีข่าวโจรสลัดบุก Rangoon ในพม่า บุก Haikou บนเกาะ Hainan ของจีน บุก Puerto Princessa ของ Phillipines รวมถึง Sibu ของมาเลเซีย และเกาะ Salayar ของอินโดนีเซีย
ในปี 1992 องค์การ International Maritime Bureau (IMB) ณ Kuala Lumpur ได้รายงานข่าวการปล้นโดยโจรสลัดในทะเลต่างๆ ทั่วโลกว่า ในปี 2003 มีการปล้นโดยโจรสลัด 171 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บ 21 คน โดยเฉพาะในน่านน้ำของอินโดนีเซีย ที่มีการปล้นมากถึง 44 ครั้ง ในมหาสมุทรอินเดีย 12 ครั้ง ในช่องแคบ Malacca 1 ครั้ง และในทะเลแดง 9 ครั้ง โดยสลัดยุคใหม่ได้ใช้เรือยนต์ความเร็วสูง และอาวุธทำลายที่มีอานุภาพร้ายแรง รวมถึงใช้ระบบสื่อสารที่ทันสมัยมากในการปล้น
ในปี 2007 องค์การ IMB ได้รายงานว่า 28% ของการปล้นโดยโจรสลัดเกิดขึ้นในทะเลนอกฝั่งของประเทศ Nigeria และ Somalia ซึ่งมีชายทะเลที่ยาวเหยียด และรัฐบาลที่ไร้สมรรถภาพ ทั้งสองประเทศดังกล่าวจึงออกกฎหมายเตือนให้เรือที่สัญจรไปมาในน่านน้ำนี้ ให้พยายามแล่นใกล้ฝั่ง โดยไม่ควรอยู่ไกลจากฝั่งเกิน 200 ไมล์ทะเลเพื่อความปลอดภัย การออกกฎนี้เกิดหลังจากที่เรือสินค้าญี่ปุ่นถูกโจรสลัด Somalia บุกปล้น เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.2008
ทุกวันนี้ เวลาใครเอ่ยถึงโจรสลัด เราคิดว่า เขาคงหมายถึง เหล่าโจรที่ถือปืนออกล่าเหยื่อในทะเลนอกฝั่งของประเทศ Somalia ในแอฟริกา ในทะเล Caribbean หรือ Virgin Islands แต่ความจริงมีว่า บริเวณที่มีโจรสลัดชุกชุมที่สุดในโลกกลับอยู่ที่บริเวณช่องแคบ Malacca ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานี่เอง
ช่องแคบนี้มีความยาว 885 กิโลเมตรตั้งอยู่ระหว่างประเทศอินโดนีเซียกับมาเลเซีย ฝั่งทั้งสองข้างเป็นป่าทึบ และเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมัน จึงมีเรือประมาณ 50,000 ลำที่ใช้เส้นทางนี้ทุกปี
สถิติการบุกปล้นโดยโจรสลัดทั่วโลกในระหว่างปี 1995-2013 แสดงให้เห็นว่า 41% เกิดขึ้นในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 28% เกิดขึ้นในทะเลนอกฝั่งของประเทศ Somalia กับ West Indian รายงานในปี 2015 ยังระบุอีกว่า สถิติการปล้นในแถบช่องแคบ Malacca ได้เพิ่มเป็น 55%
หากพิจารณาความสูญเสียทางเศรษฐกิจบ้าง องค์การ One Earth Future Foundation ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกได้สูญเสียเงินไปประมาณ 10,000 ล้านเหรียญต่อปีด้วยภัยโจรสลัด
คำถามที่ใครๆ ก็สนใจคือ เหตุใดประเทศที่รัฐบาลมีสมรรถภาพในการปกครอง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียจึง “ยินยอม” ให้เหตุการณ์เช่นนี้จึงเกิดขึ้น และเหตุใดประเทศ Somalia ซึ่งเป็นประเทศที่มีคอรับชั่นมากประเทศหนึ่งในโลกกลับถูกบุกปล้นโดยโจรสลัดน้อยกว่า
คำตอบสำหรับคำถามนี้ส่วนหนึ่งมาจากการมีกฎหมายระหว่างประเทศที่หละหลวม คือ กฎหมายดังกล่าวไม่อนุญาตให้ตำรวจของชาติหนึ่งไล่ล่าโจรสลัดเข้าไปในเขตแดนของอีกชาติหนึ่ง ดังนั้นเวลาโจรสลัดเห็นตำรวจของชาติหนึ่งมุ่งตรงจะมาจับกุม ก็จะซิกแซกหนีเข้าไปในเขตแดนของอีกชาติหนึ่งทุกครั้งไป
นอกจากปัญหาด้านกฎหมายแล้ว ประเทศทั้งสามยังขาดปัจจัยที่อำนวยต่อการจับโจรสลัดด้วย เช่น ข้อมูลเหตุการณ์การปล้นที่ส่งถึงกองตำรวจตรวจการณ์ค่อนข้างช้า เพราะประเทศทั้งสามไม่มีความร่วมมือด้านการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด การส่งข้อมูลแทนที่จะช่วย กลับเป็นการแข่งขันและขัดขวางกัน นอกจากการใช้เครื่องบินบินสำรวจเหตุการณ์บุกปล้นในทะเลก็ไม่มีประสิทธิภาพมาก เช่น เวลาดินฟ้าอากาศไม่อำนวย การถ่ายภาพทางอากาศจะไม่สามารถจะกระทำได้ดี
เหตุผลสุดท้ายคือ ประเทศทั้งสามนี้ยังมีดินแดนที่เป็นปัญหาร่วมกัน เช่น กรณีมาเลเซียกับฟิลิปปินส์มีรัฐ Sabah ที่ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากได้อพยพไปอยู่ และคนเหล่านี้อาจเป็นพวกก่อการร้าย Abu Sayyaf ด้านอินโดนีเซียกับมาเลเซียก็มีทะเล Ambalat ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของ Kalimantan ซึ่งเป็นเขตแดนที่มีเส้นแบ่งแยกที่ไม่ลงตัว นอกจากนี้ก็ปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือส่วนต่างๆ ของทะเลจีนใต้ที่ยังไม่มีข้อยุติ
แม้ปัญหาจะไม่มีทางออกที่ดี แต่องค์การนานาชาติก็ตระหนักว่า การร่วมมือกันตรวจตรา โดยเฉพาะตำรวจน้ำที่จะต้องได้รับการเสริมโดยตำรวจบก และตำรวจอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และตลอดเวลา ภัยโจรสลัดจึงจะถูกกำจัดให้หมดไปในอนาคต
อ่านเพิ่มเติมจาก The Pirate Wind: Tales of the Sea – robbers of Malaya โดย Owen Rutter ในปี 1986
อ่านเพิ่มเติมจาก Under the Black Flag: The Romance and the Reality of Life Among the Pirates โดย David Cordingly จัดพิมพ์โดย Harvest Books (1997)
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์