เขื่อนแม่กลอง เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระบรมฯ ได้พระราชทานให้ชาวบ้าน 7 จังหวัด ที่เคยประสบปัญหาความยากลำบาก สภาพพื้นที่แห้งแล้ง ทำการเกษตรไม่ได้ ไปสู่การมีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น ทั้งในด้านการคมนาคม การเกษตรกรรม ที่วันนี้ไม่ใช่แค่ปลูกข้าว แต่ยังมีพืชอื่น ๆ ที่นำไปแปรรูปได้ด้วย ส่งผลให้ชาวชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นโมเดลในการพัฒนาลุ่มน้ำอื่น ๆ ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา
“ แม้ไม่ใช่เป็นโครงการพระราชดำริ แต่เขื่อนแม่กลอง ก็เป็นเขื่อนที่พ่อสร้าง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ มาวางศิลาฤกษ์ ด้วยพระองค์เอง และระหว่างการก่อสร้างก็เสด็จฯมาหลายครั้ง” เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายถึงเหตุผลในการ จัดกิจกรรมเพื่อแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ...ที่เขื่อนแม่กลอง
เขื่อนแม่กลอง เป็นเขื่อนแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี เดิมชื่อ เขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ขนานนามว่าเขื่อนวชิราลงกรณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนแม่กลอง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 และทรงเปิดเขื่อนในวันที่ 1 สิงหาคม 2513 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น เขื่อนแม่กลอง เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน
เขื่อนแม่กลองเป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี สร้างขึ้นบนลำน้ำแม่กลอง จากลำน้ำเดิมที่ไหลผ่านตำบลม่วงชุม แล้วลัดเลี้ยวออกทางซ้ายผ่านตัวเมืองท่าม่วง แล้วโค้งกลับเป็นรูปเกือกม้า ทางกรมชลประทานได้ทำการขุดลำน้ำขึ้นมาใหม่เป็นช่องลัดตรง มีความยาว 1,650 เมตร เพื่อเปลี่ยนทางเดินของน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนจนกลายเป็นแม่น้ำแม่กลองสายปัจจุบัน โดยรับน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ โดยการระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 2 เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
เขื่อนแม่กลองเป็นเขื่อนที่มีความสำคัญที่สุดในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง ครอบคลุมพื้นที่ 2.34 ล้านไร่ ปัจจุบันมีโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ขนาด 2 เมกะวัตต์ ก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยการขุดคลองส่งน้ำจากทางเหนือเขื่อนฝั่งขวาเข้าไปผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ แล้วปล่อยน้ำออกทางท้ายเขื่อนแม่กลอง
ทั้งนี้ ประโยชน์หลักของเขื่อนแม่กลอง คือเพื่อการชลประทาน ในการส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร การอุปโภค บริโภค รวมทั้งการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ 7 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม บางส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรี เพชรบุรี และสมุทรสาคร ให้น้ำแก่เกษตรกรสองฝั่งแม่น้ำ และยังใช้เพื่อป้องกันน้ำท่วม ช่วยผลักดันน้ำเค็มแม่น้ำแม่กลอง ประมาณวันละ 6 ล้านลบ.ม. ผลักดันน้ำเค็มแม่น้ำท่าจีนในฤดูแล้ง ประมาณวันละ 3 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนี้ บริเวณตอนบนยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดมากมายหลากหลายพันธุ์ โดยมีสถานีเพาะพันธุ์ปลาอยู่ในบริเวณใกล้ตัวเขื่อนเพื่อช่วยเพาะพันธุ์และส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาเศรษฐกิจ นับได้ว่าเขื่อนแม่กลองให้ประโยชน์มหาศาลกับพื้นที่บริเวณนี้ อีกทั้งยังส่งน้ำไปยังพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่ขาดแคลนน้ำอีกด้วย
ประวัติวิทย์ สวัสดิ์ดวง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 13 เล่าว่า เขื่อนแม่กลองอยู่ในพื้นที่สำนักชลประทานที่ 13 รับผิดชอบพื้นที่ประมาณ 17.8 หมื่นล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตร 5.25 ล้านไร่ พื้นที่ชลประทาน 2.34 ล้านไร่ ประกอบด้วยการปลูกข้าว 40% อ้อย 22% ผลไม้และไม้ยืนต้น 20% พืชไร่-พืชผัก 9% บ่อปลาและบ่อกุ้ง 7% และอื่นๆ 2%
เขื่อนแม่กลอง
มีการระบายน้ำท้ายเขื่อนเพื่อผลักดันน้ำเค็มแม่น้ำแม่กลองประมาณวันละ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และส่งน้ำช่วยผลักดันน้ำเค็มแม่น้ำท่าจีนในฤดูแล้งประมาณวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. การส่งน้ำ
เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการประปา ประมาณวันละ 2 ล้าน ลบ.ม.ให้แก่พื้นที่ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 13
ประวัติวิทย์ บอกว่า สถานการณ์น้ำในช่วงสองปีที่ผ่านมาค่อนข้างแล้ง ส่งผลกับการทำข้าวนาปรัง แต่การทำนาปีมีน้ำสำรองให้อยู่แล้ว จากสภาพพื้นที่โดยทั่วไปฝนจะตกแต่ข้างล่าง แต่ข้างบนเขื่อน หรือผืนที่ป่าฝนไม่ตก จึงเป็นเหตุให้เราเก็บน้ำไม่ได้ เช่น ฝนตก 100% ในประเทศไทย แต่เราเก็บได้จริงๆ แค่ 20% ที่เหลือไหลลงทะเล ซึ่งถ้าเก็บได้หมด ปัญหาเรื่องน้ำจะไม่เกิดขึ้น
สำหรับระบบชลประทานเขื่อนแม่กลองค่อนข้างจะสมบูรณ์ แต่ภารกิจสำนักชลประทานฯ นอกจากจะบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังส่งเสริมด้านการเกษตร โดยยึดแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้ปลูกพืชสมุนไพร เช่น ฟักข้าว ปัจจุบันบริเวณรอบเขื่อนแม่กลอง มีพื้นที่ปลูกฟักข้าว 50 ไร่ ซึ่งเป็นอีกวิธีการในการแก้ไขปัญหากรณีภัยแล้งเพื่อให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่มุ่งปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว
“มีการส่งสริมให้ปลูกพืชสมุนไพร เช่น การปลูกฟักข้าว ที่นี่ค่อนข้างโดดเด่น และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำฟักข้าว, สบู่ฟักข้าว, แชมพูฟักข้าว, โลชั่นฟักข้าว, ครีมนวดฟักข้าว เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ทางหนึ่ง”
ด้านกำนันมุกดา ภาเวชวงศ์ กำนันหญิงตำบลม่วงชุม เล่าถึงประโยชน์ของเขื่อนแม่กลอง ว่า
“ตอนที่ในหลวงเสด็จฯ มาวางศิลาฤกษ์ ตัวเองอายุแค่ 12 ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ แต่ช่วงที่สมเด็จย่าเสด็จฯ มาจะได้เฝ้าท่านบ่อย ซึ่งกรมชลประทานได้มาสำรวจในปี 2507 เดิมที่ตรงนี้ไม่ใช่ทางน้ำธรรมชาติ เป็นดินแห้งแล้ง กรมชลฯ ก็มาขุดเป็นแม่น้ำ ทำให้ชาวบ้านมีความสะดวกสบายขึ้น จากเดิมน้ำท่วมในหน้าน้ำ และพอหน้าแล้ง ก็แล้งอย่างหนัก น้ำไม่มีจะใช้ แต่พอมีเขื่อน ปัญหาดังกล่าวก็หมดไปและยังช่วยให้ชาวบ้านทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง ความเป็นอยู่ การเดินทาง ก็สบายขึ้นมาก”
ขณะที่ป้าวิมล อาชีพเกษตรกร ทำนามากว่า 65 ปี บอกว่า สมัยที่ในหลวงท่านฯ เสด็จฯ มาทรงเปิดเขื่อน ตัวป้าวิมลก็เป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมบอกอีกว่าสมัยก่อนช่วงที่ยังไม่มีเขื่อนลำบากกันมาก จะเข็นข้าวก็ต้องใช้เกวียน ทางก็ต้องเป็นโคลน เป็นฝุ่น เพราะวัวควายต้องเดิน ลำบากมาก ไม่มีรถ ไม่มีทาง แต่พอมีเขื่อนก็เจริญขึ้น ชีวิตดีขึ้น มีน้ำกิน น้ำใช้ มีน้ำเลี้ยงชีพ และความเจริญต่างๆ ก็ตามมา
อย่างไรก็ดี ชุมชนม่วงชุม จากพื้นดินที่เป็นสภาพป่าละเมาะ เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน พื้นดินไม่มีความสมบรูณ์ การทำนาต้องอาศัยน้ำฝน และหลังจากกรมชลฯ ได้เข้ามาสำรวจ และจัดการสร้างเขื่อนในปี 2507 และเสร็จสมบูรณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ พร้อม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ ทำการเปิดเขื่อนแม่กลอง ในปี 2513 นับตั้งแต่นั้นมา ความเจริญก็เข้ามาสู่ชาวม่วงชุม...
ดังนั้นการเกิดขึ้นของเขื่อนแม่กลองจึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างคุณูปการแก่เกษตรกรหลายจังหวัด หลายพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงแค่ ช่วยชาวเกษตรกรเท่านั้น ยังเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ให้กับคนเมือง และเป็นโมเดลในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีความสำคัญที่สุดในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง ที่พลิกพื้นที่แห้งแล้งให้มีความอุดมสมบูรณ์
ประชาชนชาวลุ่มน้ำแม่กลอง จึงรักและหวงแหนเขื่อนแม่กลอง ซึ่งเป็น “เขื่อนที่พ่อสร้าง” และพระราชทานให้กับชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ และเกิดความร่มเย็นเป็นสุขตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี