xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...สินค้าไทยแบบไหนบ้างได้ฉลากรับรองนาโน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ธนากร
มีผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดจำนวนมากที่อ้างว่าเพิ่มคุณสมบัติพิเศษด้วยนาโนเทคโนโลยี แต่รู้ไหมว่ามีสินค้าไม่กี่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าใช้นาโนเทคโนโลยีสร้างคุณสมบัติตามอ้างจริง โดยมีกำหนดการรับรองฉลากคราวละ 2 ปี และผู้ประกอบการสามารถต่ออายุการใช้ฉลากนาโนได้ตามวิธีการที่สมาคมฯ กำหนด

ปัจจุบันสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ให้การรับรองฉลากนาโน (NanoQ) แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 4 บริษัท โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ดังนี้

กลุ่มผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบผิว จำนวน 2 บริษัท ได้แก่

1. บริษัท สุพรีม โพรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตสารเคลือบภายรถพยาบาลนาโน และแผ่นผนังห้องผ่าตัดทางการแพทย์สำเร็จรูป ให้มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียได้

2. บริษัท เคนเซ่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กำจัดเชื้อโรค (SmartCoat) พ่นเคลือบผิวภายในรถยนต์

กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก (ในครัวเรือน) จำนวน 1 บริษัท ได้แก่

1. บริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายถังน้ำใช้ตามบ้านเรือน โดยได้คิดค้นวิธีการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในถังน้ำ ที่เรียกว่า “คอมแบค นาโน” (COMBAC Nano) ซึ่งใช้อนุภาคของโลหะเงินนาโน เคลือบอยู่ชั้นด้านในของถังเก็บน้ำ เพื่อช่วยยับยั้งจำนวนเชื้อแบคทีเรีย

กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (รวมเครื่องนุ่งห่มอื่นๆ) จำนวน 1 บริษัท ได้แก่

1. บริษัท เน็ตโต้ แมนูแฟคเชอริ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายมุ้งรายใหญ่ในประเทศไทย

ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ กรรมการสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย บอกทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ตอนนี้สมาคมทางสมาคมสามารถรับรองผลิตภัณฑ์ที่อ้างคุณสมบัติด้านการฆ่าเชื้อ โดยได้พัฒนาเทคนิคที่สามารถแยกได้ว่าคุณสมบัติดังกล่าวเกิดขึ้นจากนาโนเทคโนโลยีจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากสารอื่น และกำลังพัฒนาเทคนิคเพื่อรับรองผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่อไป

"ตอนนี้เรามีต้นแบบที่เป็นสารเครื่องสำอาง เราพบว่ามีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่อ้างนาโนเทคโนโลยีเพิ่มเยอะมาก และดูเหมือนผู้บริโภคจะได้รับข้อมูลไม่ถูก เราต้องการแยกแยะให้ผู้บริโภคเห็นว่าสินค้านี้ใช่หรือไม่ใช่นาโนเทคโนโลยี โดยเรื่องความปลอดภัยนั้นมีมาตรฐาน อย.ดูแลอยู่แล้ว ส่วนฉลากนาโนคิวจะดูประโยชน์ที่เกิดจากนาโนเทคโนโลยี" ผศ.ดร.ธนากรกล่าว

ส่วน ดร.รวิวรรณ มณีรัตนโชติ
หัวหน้าห้องปฎิบัติการความปลอดภัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี ศูนย์นาโนเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ย้ำว่า ฉลากดังกล่าวเป็นการรับรองว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีคุณสมบัติตามอ้างจากนาโนเทคโนโลยีจริง แต่ไม่ได้รับรองว่าสินค้านั้นปลอดภัยเพราะจะเป็นการโฆษณา ซึ่งไม่สามารถทำได้

ดร.รวิวรรณยังกล่าวถึงอันตรายจากนาโนเทคโนโลยีว่า อันตรายที่น่ากลัวที่สุดคือการหายใจเอาวัสดุนาโนเข้าไป เนื่องจากระบบหายใจมีกลไกการปกป้องน้อยสุด ขณะที่การสัมผัสทางผิวหนังนั้นอันตรายน้อยกว่า เนื่องจากมีกลไกการปกป้องมากกว่า และวัสดุนาโนจำพวกโลหะนั้นเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุดในด้านความปลอดภัย เนื่องจากร่างกายกำจัดออกไม่ได้ และเมื่อสะสมแล้วจะกลายเป็นพิษได้

พร้อมกันนี้ ดร.รวิวรรณได้ชูประเด็นจากการบรรยายพิเศษโดย ศ.อารัลด์ ครูก (Prof.Harald Krug) จากห้องปฏิบัติการวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีสวิส สวิตเซอร์แลนด์ ที่ระบุถึงงานวิจัยด้านความปลอดภัยจากนาโนเทคโนโลยี ซึ่งมีรายงานมากกว่า 25,000 รายงาน แต่สามารถนำไปใช้จริงได้มีอยู่น้อย เนื่องจากการกระบวนการไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ศ.อารัลด์ ครูก ได้มาบรรยายพิเศษภายในการกระชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติทางนาโนเทคโนโลยี ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย.59 ณ โรงแรมกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
ดร.รวิวรรณ






กำลังโหลดความคิดเห็น