xs
xsm
sm
md
lg

โรคจากการทำงานพุ่งสูง คร.เร่งยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ดูแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค รับฟังความเห็น ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ประกอบการยกร่าง พ.ร.บ. โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เตรียมทำประชาพิจารณ์ ก.ค. ก่อนเสนอ สธ. ชงเข้า ครม. ห่วงแนวโน้มโรคจากการทำงานสูงขึ้น

วันนี้ (7 มิ.ย.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “กฎหมายระหว่างประเทศ ด้านการป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม” ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการรับฟังสถานการณ์การพัฒนากฎหมายโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เพื่อนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ มาเป็นแนวทางในการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มพบมากขึ้น จากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เช่น การทำเหมืองแร่ เป็นต้น และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ เช่น ปิโตรเคมี นาโนเทคโนโลยี ซึ่งทำให้มีผลต่อสุขภาพต่อแรงงานและชุมชนสิ่งแวดล้อม

“การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ยังคงมีปัญหาในการเข้าไปดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกัน เนื่องจากไม่มีกฎหมายและอำนาจในการเข้าไปดำเนินการ ที่สำคัญ ยังไม่มีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน กรมฯ จึงได้ดำเนินการพัฒนากฎหมายดังกล่าว โดยทบทวนข้อมูลทางวิชาการ และพิจารณาการมีส่วนร่วมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และข้อมูลอื่น ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งในสถานประกอบการ และในชุมชน ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนในครั้งนี้เป็นการประชุมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.อำนวย กล่าวว่า หลังจากการยกร่างจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นใน ก.ค. นี้ จะมีการปรับปรุงร่างให้ครอบคลุมก่อนที่จะนำเสนอผู้บริหาร สธ. และนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป เพื่อดูแลสุขภาพคนทำงานของประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีประชากรที่มีงานทำ 38.3 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 21.4 ล้านคน หรือร้อยละ 55.9 และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ 16.9 ล้านคน หรือร้อยละ 44.1

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น