นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการหน่วยบิลด์ บีโอไอ หนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเวทีให้ความรู้ และแสดงผลงานวิจัยหวังกระตุ้นผู้ผลิตไทยพัฒนาสู่รูปแบบเชิงพาณิชย์ เตรียมจัดกิจกรรมในญี่ปุ่น หวังยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถรองรับนโยบายเมดิคัลฮับของรัฐบาล
หน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือหน่วยบิลด์ (BUILD) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 กันยายน 2559 นี้ หน่วยบิลด์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะร่วมกันจัดกิจกรรมสัมมนาภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาวัสดุอุปกรณ์การแพทย์” เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านงานวิชาการ และงานด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและการผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งนอกจากจะสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ แล้ว ยังช่วยสนับสนุนนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ครบวงจรในภูมิภาค หรือเมดิคัลฮับ ในอนาคต
ทั้งนี้ ภายในงานจะประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้แบบเจาะลึกจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้หัวข้อต่างๆ เช่น โลหะกับเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติสำหรับวัสดุการแพทย์แบบฝัง การผลิตเข็มและท่อขนาดไมโคร การออกแบบและผลิตข้อต่อเทียมสำหรับคนเอเชีย วัสดุย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศไทย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังนำผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น พลาสติก ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาคและนาโนเทคโนโลยี และห้องปฏิบัติการไบโอแมคนีเคิล ดีไซน์ แอนด์ แมนูแฟกเจอริ่ง (Biomechanical Design and Manufacturing) ซึ่งเป็นห้องออกแบบอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยได้มีโอกาสศึกษาถึงความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
นางสาวซ่อนกลิ่นกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลกำหนดให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์เป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้ความสนใจที่จะต่อยอดการผลิตเพื่อรองรับทิศทางของตลาดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ดังนั้น หน่วยบิลด์จึงขยายบทบาทให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รวมทั้งจะจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสของผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ
ในช่วงต้นปี 2560 กำหนดที่จะนำผู้ประกอบการไทยร่วมออกงานแสดงสินค้าด้านอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น หรือเมดิคัล เจแปน 2017 ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการไทยจะได้เข้าร่วมงานแสดงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของไทยแล้ว ยังมีโอกาสเยี่ยมชมโรงงาน และเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตในอุตสาหกรรมการแพทย์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น
สำหรับในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กรกฎาคม 2559) มีกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนมูลค่ารวมกว่า 5,100 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 252 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่าการยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1,450 ล้านบาท