“บอร์ดบีโอไอ” คลอดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนอุตการแพทย์ครบวงจร-เมืองต้นแบบชายแดนใต้ ฟื้นส่งเสริม 6 กิจการจูงใจนักลงทุน
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าที่ประชุมเห็นชอบนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายรัฐบาล โดยจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่กิจการผลิตยา และกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร
โดยกิจการผลิตยาในปัจจุบันไม่ได้รับการยกเว้นภาษีจะเปลี่ยนเป็นให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี และหากโครงการใดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2560 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ส่วนกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ ปัจจุบันให้การส่งเสริมอยู่แล้ว แต่เพื่อสนับสนุนให้กิจการเอสเอ็มอีไทยสามารถลงทุนผลิตเครื่องมือแพทย์ได้ จึงเห็นชอบให้เพิ่มประเภทกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ในมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นอีก 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ 5 ปีจะได้ยกเว้น 7 ปี
นางหิรัญญากล่าวว่า บอร์ดบีโอไอยังออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการจัดทำโครงการเมืองต้นแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยให้เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับโครงการลงทุนใหม่ใน 3 พื้นที่สูงกว่าสิทธิประโยชน์ของมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน 4 จังหวัดภาคใต้ และ 4 อำเภอ ของสงขลา ได้แก่ หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา 2 เท่า เป็นเวลา 20 ปี จากเดิม 15 ปี ลดหย่อนอากรขาเข้า 90% สำหรับวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นเวลา 10 ปี จากเดิม 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก เป็นระยะเวลา 10 ปี จากเดิม 5 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเพิ่มประเภทกิจการที่เคยยกเลิกการส่งเสริมไปแล้ว แต่เปิดให้การส่งเสริมใหม่เฉพาะในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย 1. กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ 2. กิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสำหรับงานสาธารณูปโภค ยกเว้นการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาเซรามิกส์และการผลิตกระเบื้องปูพื้นหรือผนัง 3. กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย อาทิ สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน ยกเว้นเครื่องสำอาง 4. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภค อาทิ บรรจุภัณฑ์พลาสติก 5. กิจการผลิตสิ่งของจากเยื่อหรือกระดาษ อาทิ กล่องกระดาษ และ 6. กิจการพัฒนาอาคารสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และ/หรือ คลังสินค้า