ทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างก้าวกระโดด และประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน ทำให้รัสเซียหันกลับไปพัฒนาโครงการที่เคยปิดตัวลงอย่าง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ” ซึ่งตอนนี้เรือโรงไฟฟ้ากำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง และบริษัทผลิตพลังงานก็มีกำหนดบรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้ และหลายประเทศกำลังให้ความสนใจ
“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ” เป็นการต่อยอดจากความต้องการพัฒนาแหล่งพลังงานเคลื่อนที่ขนาดเล็กและขนาดกลางสำหรับพื้นที่ธุรกันดาร ที่การสร้างโรงไฟฟ้าเป็นเรื่องยากลำบากและสิ้นเปลือง ตัวอย่างพื้นที่ธุรกันดารที่เข้าถึงยาก เช่น หมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ทะเลทรายแห้งแล้งในตะวันออกกลาง เขตขั้วโลกเหนือในแคนาดา พื้นทุรกันดารในชิลี และเขตอากาศหนาวรุนแรงในรัสเซีย
แนวคิดเรื่องแหล่งพลังงานเคลื่อนที่ขนาดเล็กและขนาดกลางถูกพูดถึงครั้งแรกในช่วงต้นของยุคนิวเคลียร์โซเวียต และมีนักวิทยาศาสตร์โซเวียตออกแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กที่เคลื่อนที่ได้เองด้วยตีนตะขาบ 4 เส้น พร้อมกับการออกแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ แต่โครงการทั้งสองยุติลงเพราะไม่มีแนวโน้มที่จะสำเร็จ
เมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว บวกกับประสบการณ์ของรัสเซียในการรควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สั่งสมมานาน จึงมีความพยายามสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำอีกครั้ง โดยต่อยอกจาก “หน่วยกำลังอนุกรม” ที่ออกแบบใช้สำหรับเรือตัดน้ำแข็งพลังนิวเคลียร์ และกลไกดังกล่าวได้รับการทดสอบในมหาสมุทรอาร์กติก
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำคือหน่วยผลิตพลังงานขนาดเล็ก ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตไฟฟ้าเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องการขณะนั้น ซึ่งขณะนี้ “รัสเชียน อคาเดมิก โลโมโนซอฟ” โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำของรัสเซียกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง และสร้างจากรากฐานกลไกหน่วยกำลังอนุกรมสำหรับเรือตัดน้ำแข็ง แต่มีความแตกต่างที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำนั้นไม่สามารถขับเคลื่อนเองได้ ต้องถูกลากจูงไปยังชายฝั่งของจุดหมาย
เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำไปถึงจุดหมายปลายทางแล้วสามารถติดตั้งโรงไฟฟ้าเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำจ่ายไฟฟ้าและความร้อนให้กับชุมชนในแถบนั้นได้ทันที โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำมีปริมาณการผลิตสูงสุดที่ 70 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์ KLT-40S จำนวน 2 เตา แต่ละเตามีความจุความร้อน 150 เมกะวัตต์ เบื้องต้นโรงไฟฟ้า “รัสเชียน อคาเดมิก โลโมโนซอฟ” มีกำหนดติดตั้งที่เมืองเพเว็ก เขตปกครองตนเองชูคอตกา ในเขตอากาศหนาวรุนแรงทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย เนื่องจากบริเวณนดังกล่าวมีบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินการผลิตน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ ทองคำ และแร่ธาตุอื่นๆ ตั้งอยู่จำนวนมาก
ในเดือนธันวาคม 2016 บริษัทผลิตพลังงาน “รอสอะตอม” ของรัฐบาลรัสเซียมีกำหนดเริ่มบรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ลงในหน่วยผลิต “อคาเดมิก โลโมโนซอฟ” ขณะที่ ช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ก็ได้เริ่มก่อสร้างโครงสร้างวิศวกรรมไฮดรอลิกบริเวณริมชายฝั่ง เพื่อเตรียมใช้ติดตั้งโรงไฟฟ้าเคลื่อนที่แห่งนี้แล้ว หน่วยพลังงานเคลื่อนที่มีกำหนดพร้อมเคลื่อนย้ายไม่เกินเดือนตุลาคม 2017 โดยรอสอะตอมวางแผนที่จะเริ่มการติดตั้งในพื้นที่ที่กำหนดในช่วงเดือนกันยายน 2019 และเริ่มทำการผลิตในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน
มีหลายประเทศที่ให้ความสนใจในโครงการก่อสร้างดังกล่าว โดยเฉพาะจีนและอินโดนีเซียที่ได้ลงนามในหนังสือแสดงความจำนงกับรัสเซีย ซึ่งเมื่อ 29 ก.ค.2014 หน่วยย่ยอของรอสอะตอมคือ “เจเอสซี รอสอะตอม โอเวอร์ซี” ได้ลงนามกับบริษัทซีเอ็นเอ็นซี นิวเอเนอร์จี ของจีน ในหนังสือแสดงความจำนงสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำ ซึ่งจีนมีแผนใช้โรงไฟฟ้านี้ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล และเมื่อ 10 ก.ย.2015 สำนักงานพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติอินโดนีเซีย (BATAN) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำอีกหลายแห่งสำหรับใช้งานภายในประเทศ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำทำงานได้อัตโนมัติ สามารถจอดเทียบท่าในที่ต้องการ มีพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอำนวยความสะดวกพนักงานฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายซ่อมบำรุงด้วย สามารถเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ด้วยการลากจูง ส่วนความปลอดภัยนั้นโรงไฟฟ้าถูกแบบให้รองรับการถูกปะทะรุนแรง เช่น สึนามิ การชนกับเรืออื่น การชนสิ่งก่อสร้างบนชายฝั่ง
นอกจากนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำยังเปลี่ยนน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำดื่มได้ และการเสริมสมรรถนะเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำนั้นไม่เกิน 20% ซึ่งไม่เกินจากค่ากำหนดของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เมื่อใช้งานไป 40 ปี หน่วยผลิตพลังงานจะถูกแทนที่ด้วยหน่วยใหม่ โดยหน่วยเก่าจะถูกส่งกลับไปกำจัด
***เรียบเรียงจากข้อมูลประชาสัมพันธ์ของรอสอะตอม