xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมนักวิจัยไทย-จีนเผยสมุนไพรที่มีศักยภาพยับยั้งเซลล์มะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์
งานประชุมนักวิจัยไทย-จีน ที่อ่าวนาง จ.กระบี่ เผยความก้าวหน้างานวิจัยสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติหลายตัวมีศักยภาพยับยั้งเซลล์มะเร็ง และบางตัวอยู่ในขั้นทดลองทางคลีนิก

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ จีน-ไทย การวิจัยด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดโดยฝ่ายวิชาการ สกว. และ National Natural Science Foundation of China (NSFC) ณ อ่าวนาง คลิฟบีช รีสอร์ท จ.กระบี่ เมื่อ 18 ต.ค.59 โดยมีนักวิจัยจากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมรวม 99 คน

ตัวอย่างผลงานวิจัยสำคัญในการนำเสนอครั้งนี้ ได้แก่ ความร่วมมือกับคณะวิจัยซึ่งเป็นนักเคมีจากประเทศจีนและไทยที่นำโดย ศ.ดร.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงนักวิจัยในสาขาอื่น ๆ ของไทย ว่าได้ค้นพบฤทธิ์การต้านมะเร็งใน 5-Acetyl goniothalamin (5GTN) จากต้นข้าวหลามหรือจำปีหิน ซึ่งสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมและยับยั้งการรุกรานของเซลล์มะเร็งโดยออกฤทธิ์ผ่านกลไกในเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง wnt/β-catenin signaling pathway

ขณะที่ ศ.เว่ย หมิง จู นักวิจัยของจีนได้ศึกษาสารสกัดที่แยกจากจุลินทรีย์ที่พบในทะเลด้วยการวิจัยและพัฒนาวิธีการและสภาวะในการเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าว เช่น การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของสารอาหารเลี้ยงเชื้อ การปรับองค์ประกอบของเกลือในสารอาหาร ทำให้ค้นพบสารออกฤทธิ์ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันหลายชนิด เช่น สารออกฤทธิ์ที่มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับเซลล์และในสัตว์ทดลอง

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบสารออกฤทธิ์จากสมุนไพรจีนที่ฆ่าเซลล์มะเร็งในสมองโดย ศ.ยู่ เฉิน ซึ่งผ่านการทดสอบในระดับพรีคลินิกแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบระดับคลินิกกับมนุษย์

ด้าน ศ. ดร.อภิชาต สุขสำราญ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ขณะนี้คณะวิจัยของตนได้ค้นพบสารออกฤทธิ์สำคัญจากพืชสมุนไพรต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่ยารักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคของผู้สูงวัย ทั้งโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด (โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดตีบ) โรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท เช่น อัลไซเมอร์ รวมถึงยาลดการอักเสบ ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน

“โรคต่างๆ เหล่านี้เป็นโรคที่พบมากในผู้สูงวัย ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยเช่นเดียวกับประชากรทั่วโลก ซึ่งคาดว่าในปี 2025 ไทยจะมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 19.8 และเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในปี 2050 ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนายาใหม่ ๆ ในการป้องกันและรักษาโรคเหล่านี้ เพื่อเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประเทศและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ตัวอย่างผลงานวิจัยสำคัญในขณะนี้คือ การค้นพบสารออกฤทธิ์จากใบย่านางที่ช่วยลดภาวะอัลไซเมอร์ของผู้สูงวัย” เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ระบุ
ศ.ยู่ เฉิน
ศ.ดร.อภิชาต สุขสำราญ
สารออกฤทธิ์จากย่านาง มีฤทธิ์ถอนพิษ ลดไข้






กำลังโหลดความคิดเห็น