สกว.นำนักวิจัยไทย-จีนร่วมแสดงความอาลัยถวายแด่ ‘ในหลวง ร.๙’ ในงานประชุมวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หวังสร้างเครือข่ายนักวิจัยสองแผ่นดินโดยเฉพาะการทำวิจัยด้านเคมีทางยาสู่เวทีสากล งานสำคัญคือเร่งพัฒนายาสำหรับโรคในผู้สูงวัยเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประเทศ โดยเฉพาะการค้นพบสารออกฤทธิ์สำคัญที่ช่วยฆ่ามะเร็งและลดอัลไซเมอร์
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ จีน-ไทย การวิจัยด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดโดยฝ่ายวิชาการ สกว. และ National Natural Science Foundation of China (NSFC) ณ อ่าวนาง คลิฟบีช รีสอร์ท จ.กระบี่ เมื่อ 18 ต.ค.59 โดยมีนักวิจัยจากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมรวม 99 คน
ในโอกาสนี้ผู้อำนวยการ สกว. ได้เชิญชวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดชเป็นเวลา 1 นาที
ผู้อำนวยการ สกว. เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ฝ่ายวิชาการ สกว. และ NSFC ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อปี 2551 เพื่อร่วมมือในการวิจัยด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติระหว่างนักวิจัยไทย-จีน และกำหนดให้จัดการประชุมทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งการพัฒนาโจทย์วิจัยด้านสมุนไพรที่เป็นความสนใจร่วมกัน
สำหรับปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมา ฝ่ายวิชาการ สกว. และ NSFC เห็นชอบให้มีการสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้หัวข้อเรื่อง “Natural Products for Drug Discovery” เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติได้ทำวิจัย ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยในโจทย์ที่เป็นความสนใจร่วมกัน จำนวน 3 โครงการ
เพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น รวมถึงขยายความร่วมมือไปยังโจทย์วิจัยด้านอื่นที่เป็นความต้องการของประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ สกว. และ NSFC จึงจัดให้มีการประชุม “The 6th China-Thailand Joint Workshop on Natural Products and Drug Discovery” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัย ซึ่งถือเป็นการประเมินคุณภาพโครงการวิจัยของผู้รับทุน
ภายในงานมีการเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ของนักวิจัยรุ่นใหม่ จำนวน 33 เรื่อง และการนำเสนอผลงานแบบบรรยายของนักวิจัยจากทั้งสองประเทศ จำนวน 26 เรื่อง อันจะเป็นการสร้างเครือข่ายและแสวงหาความร่วมมือในการทำวิจัยร่วมกันกับนักวิจัยชั้นนำของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำวิจัยระหว่างนักวิจัยชั้นนำด้านเคมีทางยาจากหลากหลายสถาบันของทั้งสองประเทศ เพื่อผลิตองค์ความรู้ใหม่ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ และยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัยของประเทศและสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล อีกทั้งขยายความร่วมมือไปยังโจทย์วิจัยด้านอื่นที่เป็นความต้องการของประเทศ