เชียงราย - เสวนาเวที 6 ตุลาฯ เชียงราย อาจารย์-นักศึกษาโต้กันดุเดือด หลังนักศึกษาตั้งประเด็นการเลือกตั้งในโรงเรียน-เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย บอกต้องการประชาธิปไตย แต่ค้านการเลือกตั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย
กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) บางส่วนได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ประชาธิปไตยในรั้วมหาวิทยาลัย” ค่ำวานนี้ (6 ต.ค.) ณ ห้องเอื้องมัจฉา ตึกยุพราช มร.ชร. ซึ่งรอบเวทีมีการจัดนิทรรศการภาพ และข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 2519 ส่วนบนเวทีเริ่มต้นด้วยการเปิดวิดีโอที่มีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ ซึ่งมีเนื้อหาเผยแพร่และวิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าว
จากนั้นนายเนรมิตร จิตรรักษา ผู้ช่วยอธิการบดี มร.ชร.และอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์ ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยมีเนื้อหาว่า เหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. 2516 เป็นพื้นฐานไปสู่เหตุการณ์กับวันที่ 6 ต.ค. 2519 เพราะในปี 2516 ทำให้นักศึกษาดูเหมือนจะได้รับชัยชนะ มีรัฐธรรมนูญ โดยมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จึงทำให้มีการชุมนุมต่างๆ เรื่อยมาและสลับกับการมีคณะปฏิวัติรัฐประหาร
เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีคนอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ คนได้ และคนเสีย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมือง ที่มีการต่อสู้กันระหว่างผู้อยากได้อำนาจ และผู้ที่กลัวว่าตัวเองจะสูญเสียอำนาจ วิวัฒนาการนี้มีเรื่อยมาไม่ต่างจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535
นายเนรมิตรกล่าวว่า จากการดูวิดีโอที่มีการเผยแพร่ และศึกษาเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค. 2519 จะเห็นว่าสังคมไทยมีคนที่เพิกเฉยต่อข่าวสาร เพราะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามเหตุการณ์นี้มีนักศึกษาอยู่ส่วนภายนอกมหาวิทยาลัยฯ มีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ มีการใช้ข้ออ้างให้เกลียดชังคอมมิวนิสต์แล้วทำให้เกิดการฆ่ากันเอง เราจึงต้องหันมาเรียนรู้เรื่องนี้ให้มากไม่ใช่เสพสื่อด้านเดียว
“ขอให้นักศึกษาไปดูคลิปที่เกี่ยวข้องในยูทิวบ์อีกนับ 10 คลิป เพื่อจะได้รู้ว่าอันไหนเรื่องจริง อันไหนไม่จริงบ้าง เมื่อเข้าใจอดีตก็จะทำให้รู้ว่าตัวเองต้องการสิ่งใด และจะทำอะไรต่อไปในอนาคต เพราะถ้าทำสิ่งใดโดยไม่มีแผน ไม่มีข้อมูลก็ไม่มีประโยชน์”
จากนั้นนายเนรมิตรได้ร่วมเสวนากับนักศึกษา 3 คน ซึ่งมีการเปิดประเด็นเรื่อง “ประชาธิปไตยในโรงเรียน” โดยเฉพาะการให้นักศึกษาหรืออาจารย์ พนักงาน ฯลฯ ในมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัย โดยมีการหยิบยกการเลือกตั้งมาร่วมถก
นายเนรมิตรตอบว่า ไม่สามารถให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ เพราะมีพระราชบัญญัติบังคับใช้อยู่ และทั่วประเทศก็มีเพียงมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งกำลังพยายามจะเลิกใช้แล้ว
นายเนรมิตรกล่าวอีกว่า ขออย่ายึดติดกับเรื่องการเลือกตั้ง เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหากันอยู่ และการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ทางออกของทุกเรื่อง แม้แต่ในมหาวิทยาลัยหากมีการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถบริหารได้ดี การเลือกตั้งอาจทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก และแบ่งพรรคแบ่งพวก ถ้าวันใดคณาจารย์มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันก็จะทำให้ยุ่งไปกันใหญ่ รวมทั้งบางองค์กรก็ไม่สามารถใช้การเลือกตั้งได้ เพราะความจำเป็นของบทบาทที่เหมาะสมกับบางคน
ช่วงท้ายการเสวนายิ่งดุเดือดมากขึ้น เพราะกลุ่มนักศึกษาทั้งบน-หน้าเวที ได้พยายามแสดงความคิดเห็นไปในทำนองว่า ต้องการทราบเรื่องสิทธิเสรีภาพว่าสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้หรือไม่ เช่น บทบาทในการกำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัย การแต่งกาย ฯลฯ
นายเนรมิตได้อธิบายไปในหลายแง่มุม รวมทั้งยกตัวอย่าง แต่บางครั้งก็ถึงขั้นใช้เสียงดังคล้ายตอบโต้กันไปมาอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะยุติเวทีเสวนาโดยปริยาย
ทั้งนี้ ช่วงท้าย ดร.ณัฐกร วิฑิตานนท์ อาจารย์จาก มฟล.เดินทางไปร่วมรับฟังด้วย