ก.วิทย์แจง ม.44 ตั้งสภานโยบายวิจัยฯ ช่วยการใช้งบไม่เป็น "เบี้ยหัวแตก" ไม่ใช่จัดสรรงบแล้วไม่รู้ปลายทางคืออะไร แต่จะเริ่มเห็นว่าประเทศจะได้อะไร ไม่ใช่นักวิจัยได้อะไร ไม่ใช่หน่วยงานวิจัยได้อะไร
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชี้แจงแก่สื่อมวลชนต่อกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ 2557 ตั้งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พร้อมยุบคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ
"ตั้งแต่ปี 2558 นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการว่าอยากเห็นการพัฒนาประเทศโดยการใช้งานวิจัยหรือการพัฒนาประเทศให้มากขึ้น แล้วทำให้การวิจัยเกิดสมฤทธิผลจริง และขอให้บูรณาการการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากนั้นจึงได้มอบหมายให้ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำในการปฏิรูปโครงสร้าง ซึ่งเป็นที่มาของ ม.44 เมื่อ 6 ต.ค.59 ผมเชื่อว่าเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศไทยหากเราสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้เป็นอย่างดี"
ดร.พิเชฐหลักการสำคัญที่จะปฏิรูปครั้งนี้ จำเป็นต้องแบ่งระดับการทำงานให้ชัดเจน 3 ระดับ ระดับแรกคือระดับนโยบาย เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการบูรณาการได้จริง มีการสั่งการอย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องให้นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน เพื่อวางนโยบายและขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการบูรณาการจริง ระดับ 2 เป็นระดับจัดสรรทุนและทรัพยากร ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานทำหน้าที่นี้ ถ้าหากนโยบายชัดจะทำให้การจัดสรรทุนมีเอกภาพมากขึ้น ดีกว่าต่างคนต่างให้ทุน เป้าหมายสุดท้ายจะชัดเจนมากขึ้น ระดับที่ 3 เป็นส่วนผู้ปฏิบัติ เช่น มหาวิทยาลัย นักวิจัย สถาบันวิจัยต่างๆ หน่วยเหล่านี้จะได้มีโจทย์ที่เป็นความต้องการของเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น แทนที่จะเป็นการทำเพื่อตอบสนองความอยากรู้อย่างเดียว จากทั้ง 3 ระดับจึงเป็นที่มาว่า ม.44 ครั้งนี้ ก็จะจัดให้ระดับที่ 1 คือระดับนโยบายมีความชัดเจน ซึ่งจะทำให้ระดับ 2 และ 3 ชัดเจนตามมา
"ผมพูดมา 2-3 ปีแล้วว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกียวข้องกับทุกกระทรวง จึงมีทุกกระทรวงอยู่ในคณะกรรมการสภาฯ แล้วมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ เช่น มหาวิทยาลัย ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคม สิ่งสำคัญคืออำนาจหน้าที่ ซึ่งมีสิ่งที่เราไม่เคยทำได้มาก่อนในอดีตหลายประการด้วยกัน ประการแรกคือสภานี้จะกำหนดทิศทางนโยบาย แผนที่นำทาง ตลอดจนยุทธศาสตร์ที่เป็นเอกภาพจุดเดียว และการที่ทำจุดเดียวมีประโยชน์เพราะเป็นการสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่พัฒนาการวิจัยอย่างเดียว และสภายังมีภาระหน้าที่ในการปรับโครงสร้าง ซึ่งอาจจะหมายถึงการปรับปรุงหน่วยงานที่มี หรือตั้งหน่วยงานใหม่ รวมทั้งการปรับระบบบริหารและกลไกการจัดการทั้งหลายให้เข้าที่เข้าทาง และมีอำนาจในการกำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบมุ่งสัมฤทธิผลมากกว่าจัดสรรงบประมาณรายปี"
การตั้งสภานโยบายวิจัยฯ นี้ ดร.พิเชฐกล่าวว่า จะเป็นอีกภาพหนึ่งที่ทำให้การลงทุนวิจัยประเทศมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่แล้วการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะไม่สำเร็จภายในปีเดียว หากมีเรื่องไหนที่รัฐเห็นชัดเจนว่ามีความสำคัญ รัฐก็ยินดีสนับสนุนให้ตลอดรอดฝั่ง อาจนาน 3ปี หรือ 5 ปีก็ตาม รวมถึงอำนาจในการปรับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการพัฒนาบุคลากร หรือสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมาลงทุนวิจัยมากขึ้น เพื่อให้นโยบายการลงทุนวิจัย 1% ของจีดีพีเกิดขึ้นจริง
ส่วนเรื่องความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องการยุบบางสำนักงานนั้น ดร.ชี้แจงว่าเป็นการยุบคณะกรรมการสภา โดยให้คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ โอนไปทำหน้าที่เลขานุการร่วมของสภานโยบายฯ ส่วนคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมฯ ถูกยุบไปหลังจากทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว
"คณะกรรมการ 3 ชุดถูกยุบเพราะนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทั้งหมด และการจัดตั้งสภาใหม่จะทำให้เกิดเอกภาพจากการจัดระเบียบครั้งนี้ โครงสร้างนี้ต้องการใช้มีเอกภาพและมีบูรณาการ จึงมีความจำเป็นที่ต้องเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่รู้และไม่รู้มาร่วมวงจร คาดว่าเมื่อมีการประชุมครั้งแรกๆ ของสภาก็คงจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการตามความเหมาะสมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นคณะทำงานที่ทำงานร่วมกับคณะกรรมการและสำนักงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นผู้ที่นำเสนอต่อชุดใหญ่"
จากโครงสร้างการทำงานดังกล่าว ดร.พิเชฐกล่าวว่า คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานในอนาคตจะทำงานและประชุมกันบ่อยครั้ง ซึ่งจะลดภาระของคณะกรรมการชุดใหญ่ เพราะจะมีผู้กลั่นกรองให้ในชั้นที่ 1 และ 2 จากนั้นจึงเป็นการทำงานชั้นสุดท้ายซึ่งเป็นชั้นกำหนดนโยบายหรือให้ความเห็นชอบ ดังนั้นแม้คณะกรรมการชุดใหญ่จะมีโครงสร้างใหญ่ แต่ไม่ต้องประชุมถี่เหมือนคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการ
"การมีสภาฯ นี้ หลักการสำคัญคือต้องเป็นการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ สอดคล้องนโยบายรัฐบาล สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เมื่อเป็นอย่างนี้หมายความว่า การจัดสรรงบประมาณจะเป็นระบบมากขึ้น ไม่ใช่ "เบี้ยหัวแตก" ไม่ใช่จัดสรรงบแล้วไม่รู้ปลายทางคืออะไร แต่จะเริ่มเห็นว่าประเทศจะได้อะไร ไม่ใช่นักวิจัยได้อะไร ไม่ใช่หน่วยงานวิจัยได้อะไร"