xs
xsm
sm
md
lg

7 สิ่งสำคัญที่นักถ่ายดาวรู้กันว่า “ต้องมี”

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ในคอลัมน์นี้ผมจะขอแนะนำอุปกรณ์สำคัญที่นักถ่ายดาวควรต้องมีไว้ประจำกระเป๋าทุกครั้งที่ออกไปถ่ายดาว ซึ่งนอกจากกล้องถ่ายภาพดิจิตอลดีๆ กับเลนส์ไวแสง F กว้างๆ แล้ว วันนี้อยากจะแนะนำ 7 สิ่งสำคัญที่นักถ่ายภาพควรต้องมี เพราะอุปกรณ์ที่จะแนะนำต่อไปนี้จะช่วยให้การถ่ายภาพดวงดาวในยามค่ำคืนของคุณมีความสะดวกและสร้างสรรค์ภาพถ่ายในยามค่ำคืนอย่างไม่สิ้นสุด มาเริ่มกันเลยครับ

ไฟฉายแบบคาดหัวสีแดง (LED Headlamps)

ไฟฉายแบบคาดหัวสีแดง นอกจากจะสะดวกในการหยิบจับอุปกรณ์ต่างแล้ว แสงสีแดงยีงเป็นแสงที่จะรบกวนสายตาเราน้อยที่สุด ซึ่งทำให้เราสามารถปรับการมองเห็นได้เร็วกว่าเมื่อมองออกไปยังที่มืดบนท้องฟ้า ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านอุปกรณ์เดินป่า แต่ตอนซื้อก็อย่าลืมเช็คดูก่อนว่าเป็นหลอดไฟสีแดงด้วยนะครับ

สายลั่นชัตเตอร์

สายลั่นชัตเตอร์จำเป็นมากสำหรับการถ่ายภาพตอนกลางคืน นอกจากจะช่วยให้การถ่ายภาพนิ่งขึ้นแล้ว ยังใช้สำหรับการถ่ายภาพที่ต้องเปิดหน้ากล้องนานเกินกว่า 30 วินาที ซึ่งในการถ่ายดาวในตอนกลางคืนเรามักต้องเปิดหน้ากล้องนานๆ หลายนาที หรือการใช้ถ่ายภาพแบบต่อเนื่องในการถ่ายภาพเส้นแสงดาว ดังนั้นทุกครั้งที่ออกไปถ่ายดาว “สายลั่นชัตเตอร์” ควรมีติดประจำไว้เสมอครับ

ขาตั้งกล้อง

ขาตั้งกล้อง สิ่งนี้จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพดาว นอกจากจะช่วยให้กล้องนิ่งและมั่นคงแล้ว ยังช่วยให้เราจัดองค์ประกอบภาพได้ตามตำแหน่งวัตถุท้องฟ้าได้ดีอีกด้วย ส่วนตัวผมแนะนำขาตั้งกล้องแบบคาร์บอนเพราะมีน้ำหนักเบาสะดวกในการพกพา และหัวขาตั้งกล้องควรเลือกแบบหัวบอลเพื่อความสะดวกในการใช้งาน

เลเซอร์พอยเตอร์

เลเซอร์พอยเตอร์ ที่แนะนำคือแบบสีเขียวที่ใช้สำหรับการชี้ดาว ที่มีกำลังตั้งแต่ 400 มิลลิวัตต์ ขึ้นไปเพื่อใช้ในการชี้ตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้า เนื่องจากในการมองหาวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องถ่ายภาพมักสังเกตได้ยากกว่าการมองด้วยตาเปล่า การใช้เลเซอร์จะช่วยให้เรามองเห็นแสงเลเซอร์ชี้นำไปยังตำแหน่งวัตถุท้องฟ้าที่เราต้องการได้สะดวกและแม่นยำมากขึ้น

แอพพลิเคชั่นสำหรับการดูดาว

แอพพลิเคชั่นที่ใช้สำหรับการดูดาว หรือที่จำเป็นในการถ่ายดาวหลักๆ ก็ควรมี 3 แอพฯ คือ 1. Star Chart ที่ใช้สำหรับการดูดาวหรือตำแหน่ง ทิศทาง และการขึ้นตกของวัตถุท้องฟ้า 2. Moon Calendar เพื่อใช้ในการดูเวลาขึ้น-ตก และช่วงข้างขึ้น-ข้างแรม ของดวงจันนทร์เพื่อใช้ในการวางแผนถ่ายภาพในแต่ละครั้ง 3. Polar Scope Align ใช้สำหรับการหาตำแหน่งของขั้วเหนือของท้องฟ้าเพื่อการทำ Polar Alignment

แถบความร้อนสำหรับไล่ฝ้าหน้ากล้อง

แถบไล่ฝ้าหน้ากล้อง ถือเป็นตัวช่วยสำคัญของการถ่ายดาวในช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูงๆ ซึ่งปกติอากาศในตอนกลางคืนมักมีความชื้นค่อนข้างสูง ถือเป็นอุปสรรคของการถ่ายภาพตอนกลางคืน ยิ่งหากต้องถ่ายนานๆ เช่น การถ่ายภาพเส้นแสงดาวแล้วหล่ะก็ ไม่มีไม่ได้แล้วนะครับ โดยอุปกรณ์ไล่ฝ้าตัวนี้คุณสามารถสร้างเองได้ ซึ่งผมได้เขียนไว้ในคอลัมน์ก่อนหน้านี้แล้วครับ

ซอฟฟิลเตอร์ (Soft Filter)

Soft Filter เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่ม Effect ในการถ่ายภาพกลุ่มดาวให้เด่นมากขึ้น ซึ่งปกติผมแนะนำ Soft Filter ตั้งแต่เบอร์ 3-5 เป็นต้นไป ซึ่งปกติในการถ่ายภาพกลุ่มดาวต่างๆ ก็มักจะติดภาพดาวดวงเล็กๆที่เป็นดาวพื้นหลังติดมาเต็มทั่วทั้งภาพ ทำให้อาจจะกลบแสงของดาวฤกษ์เรียงเด่นที่ตาเปล่ามองเห็นได้ เจ้า Soft Filter นี้แหล่ะจะช่วยตัดแสงของดาวดวงเล็กๆลดลงไป พร้อมทำให้ดาวฤกษ์ดวงสว่างๆ มีความฟุ้งและชัดเจนมากขึ้น

สำหรับอุปกรณ์ทั้ง 7 สิ่งที่ผมแนะนำนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่แนะนำว่าควรมีติดไว้สำหรับการถ่ายภาพดวงดาวในยามค่ำคืนหรือหากใครที่ยังพอมีงบประมาณ ก็อาจหาอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพามาติดกระเป๋าไว้ก็ได้เพื่อให้การถ่ายภาพดวงดาวของเราสามารถสร้างสรรค์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็อย่างลืมดูงบประมาณในกระเป๋าด้วยนะครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน








กำลังโหลดความคิดเห็น