ในช่วงนี้เรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับประเทศไทยในเวลาเที่ยงวัน อาจทำให้เป็นวันที่ร้อนที่สุดของปี แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุด เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเมฆ ลม ฝน หรือพูดง่ายๆ ว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างทางอุตุนิยมวิทยา ซึ่งอาจส่งผลให้อุณหภูมิไม่สูงที่สุดตามที่คาดการณ์กันไว้
เอาล่ะครับ วันนี้เรามาลองถ่ายภาพกันแบบง่ายๆ กันดู เกี่ยวกับช่วงเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ใกล้ตัวเรากันดูบ้างครับ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยของเรา โดยช่วงเวลาดังกล่าว หากออกไปยืนกลางแดด เราจะไม่เห็นเงาของตัวเองทอดออกไป เนื่องจากแสงอาทิตย์ส่องลงตรงกลางศีรษะ ทำให้เงาตกอยู่บริเวณใต้เท้าพอดี การที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกนี้เป็นเหตุการณ์ปกติ
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ระหว่างแนวละติจูด 5-20 องศาเหนือ ประเทศที่อยู่ในเขตร้อนจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุดปีละ 2 วัน โดยจะมีคาบการโคจรพาดผ่านแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจึงเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน และในครั้งต่อไปดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่มาอยู่ในแนวตั้งฉากอีกครั้งในช่วงฤดูฝน
ในการถ่ายภาพเหตุการณ์ ดวงอาทิตย์ตั้งฉากในประเทศไทยเรานั้น สามารถดูจากแผนที่ ที่ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทย (คุณวรเชษฐ์ บุญปลอดได้จัดทำไว้) ดังตารางด้านล่าง
จากแผนที่จะสังเกตได้ว่าดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะของคนในภาคใต้ก่อน เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน จากนั้นจะค่อยๆ ไล่ขึ้นมาทางภาคเหนือ
ตัวอย่างเช่น
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 8 เมษายน เวลา 12:20 น.
อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 21 เมษายน เวลา 12:20 น.
กรุงเทพมหานคร วันที่ 27 เมษายน เวลา 12:16 น.
อ.เมืองนครราชสีมา วันที่ 1 พฤษภาคม เวลา 12:09 น.
อ.เมืองอุบลราชธานีวันที่ 2 พฤษภาคม เวลา 11:58 น.
อ.เมืองพิษณุโลก วันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 12:16 น.
อ.เมืองเชียงใหม่ วันที่ 15 พฤษภาคม เวลา 12:20 น.
สำหรับวันและเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะครั้งที่ 2 ของปี จะเริ่มต้นที่ภาคเหนือก่อน แล้วลงไปทางภาคใต้
ตัวอย่างเช่น
อ.เมืองเชียงใหม่ วันที่ 29 กรกฎาคม เวลา 12:31 น.
อ.เมืองพิษณุโลก วันที่ 6 สิงหาคมเวลา 12:25 น.
อ.เมืองอุบลราชธานี วันที่ 11 สิงหาคม เวลา 12:06 น.
อ.เมืองนครราชสีมา วันที่ 12 สิงหาคม เวลา 12:17 น.
กรุงเทพมหานคร วันที่ 16 สิงหาคม เวลา 12:22 น.
อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 22 สิงหาคม เวลา 12:24 น.
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 5 กันยายนเวลา 12:17 น.
นอกจากนั้น เราสามารถเช็ควันและเวลา ของเหตุการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่ผู้สังเกต ได้จากฟรีแวร์ เช่น Stellarium ได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถตรวจสอบวันและเวลาได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
แนะนำการใช้งานโปรแกรม Stellarium ในการตรวจสอบตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ที่ทำมุมตั้งฉากกับตำแหน่งของผู้สังเกตในแต่ละจังหวัดได้
นอกจากนั้นในช่วงวันและเวลาดังกล่าว ผมยังได้ของแถมเป็นภาพดวงอาทิตย์ทรงกลดใน วันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก หรือเรียกขำขำ ว่า “วันที่ไม่มีเงาหัวนั้นเอง”
หลังจากช่วงนี้ทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงรายก็ยังสามารถถ่ายภาพเหตุการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากได้ และในส่วนภูมิภาคอื่น ก็ยังสามารถใช้โปรแกรม Stellarium ในการวางแผนถ่ายภาพได้ในครั้งต่อไปครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน