ในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ด้วยกล้องดิจิตอล SLR นั้น ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพประเภท Deep Sky Object ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ หรือแม้แต่การถ่ายภาพกลุ่มดาว หรือทางช้างเผือก ฯลฯ นั้น เราจะให้ความสำคัญกับค่า “ไวท์บาลานซ์” เสมอเนื่องจากค่านี้จะมีผลมากในขั้นตอนการประมวลผลภาพ ตัวอย่างเช่น ในการถ่ายภาพ เนบิวลา หรือกาแล็กซี ซึ่งเราจำเป็นต้องถ่ายภาพทั้ง Light Frame(ภาพวัตถุที่ต้องการถ่าย)Dark Frames(เพื่อใช้ในการลบ Noise) และ Flat Fields (เพื่อใช้ในการลบฝุ่นและความไม่สม่ำเสมอของแสงในภาพ) เราก็ต้องตั้งค่าไวท์บาลานส์ให้เป็นค่าเดียวกันทั้งหมด
หรือแม้แต่การถ่ายภาพเส้นแสงดาว หรือภาพทางช้างเผือกเรา นั้นหลายคนก็มักจะเลือกใช้ระบบไวท์บาลานซ์อัตโนมัติ (Automatic White Balance) ในกล้องซึ่งจะช่วยทำการปรับแก้สีสันของภาพในสภาพแสงทั่วไปได้ค่อนข้างดีโดยคำสั่งนี้จะคำนวณลักษณะของแสงที่คุณถ่ายแล้วทำการปรับอุณหภูมิสีให้เหมาะสมแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะดีเสมอไปสำหรับการถ่ายภาพในเวลากลางคืน
ดังนั้น หากเราต้องการได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่าเราก็สามารถจะเลือกปรับค่าไวท์บาลานส์เองได้ ซึ่งผู้ผลิตกล้องทราบดีว่าระบบอัตโนมัตินั้นจะไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องได้ทุกครั้ง ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลที่พวกเขารวมเอาค่าพรีเซ็ตไวท์บาลานส์ค่าต่างๆ เข้ามาให้เราเลือกใช้เมื่อเข้าไปในเมนูไวท์บาลานส์ ก็จะพบกับสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น Daylight, Shade, Cloudy,Tungsten, Fluorescent, Flash และ Color temperature ซึ่งแต่ละสัญลักษณ์นี้จะแทนค่าอุณหภูมิสีที่แตกต่างกัน อย่างเช่น
การควบคุมไวท์บาลานส์ ( White balance)
การควบคุมไวท์บาลานส์ เป็นระบบการวัดแสงโดยมีหน่วยเป็นเคลวิน (Degree Kelvin) และเป็นที่เข้าใจทั่วไปว่าค่าองศาที่น้อยจะให้แสงโทนสีเหลือง ส่วนค่าองศาที่สูงขึ้นจะให้แสงโทนสีขาวหรือฟ้า ตามลำดับ
Color Temperature (อุณหภูมิสี)
การทดลองโดยการให้ความร้อนแก่วัตถุสีดำ (Black body) หรือจะเป็นวัตถุใดๆ ก็ได้ซึ่งให้ผลไม่ต่างกัน เมื่อให้ความร้อนถึงประมาณ 2,000 ํK ( ํK = องศาเคลวิน เป็นหน่วยวัดความร้อนเฉกเช่นเดียวกันกับ ํC เซลเซียส โดยที่ 0 ํK มีค่า = -273 ํC) หรือประมาณ 1,727 ํC วัตถุสีดำเริ่มเปล่งแสงออกมาโดยมีสีออกแดงคล้ายๆ แสงเทียน เมื่อเพิ่มความร้อนไปเป็น 5,500 ํK แสงที่ได้จะเป็นสีขาว และเมื่อเพิ่มระดับความร้อนจนถึง 8,000 ํK แสงจะออกเป็นโทนสีน้ำเงิน
แสงที่เปล่งออกมาจากวัตถุที่ได้รับความร้อน จะมีโทนสีที่แปรเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิที่ได้รับ ซึ่งจากความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงได้กำหนดโทนสีของแสงให้อยู่ในรูปของอุณหภูมิที่ได้รับเป็นองศาเคลวิน เรียกว่าอุณหภูมิสี (Color Temperature)
ถ่ายภาพกลางคืนใช้ค่าเคลวิน (K) สิง่ายกว่า
การควบคุมไวท์บาลานส์ ( White balance) จะช่วยให้คุณปรับเปลี่ยน “อุณหภูมิสี” ของภาพถ่ายได้ แหล่งแสงต่างๆ จะมีอุณหภูมิสีที่แตกต่างกันซึ่งมีหน่วยวัดเป็นเคลวิน (K) สำหรับการสร้างค่าไวท์บาลานส์ที่แม่นยำ เราสามารถตั้งค่าอุณหภูมิสีด้วยหน่วยเคลวินเองได้ การตั้งค่านี้จะง่ายขึ้นหากเลือกใช้โหมด Live View เพราะจะสามารถตรวจเช็คสีสันของภาพจากจอแสดงผลด้านหลังได้ก่อนที่จะถ่ายภาพหรือหากบางครั้งอาจจำเป็นต้องทดลองถ่ายภาพดูก่อนเพื่อให้ได้ค่าไวท์บาลานส์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นเรายังสามารถเลือกค่าไวท์บาลานส์ที่ “ไม่เหมาะสม” เพื่อเอฟเฟ็คท์ภาพที่สร้างสรรค์ได้ ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะลองเลือกค่าพรีเซ็ท Tungsten ในการถ่ายภาพดวงจันทร์ ในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้กับขอบฟ้าที่มักจะมีสีเหลือง เพื่อเพิ่มโทนสีน้ำเงินเข้าไปในภาพ ส่งผลให้ภาพดวงจันทร์ดูสมจริงเหมือนกับเวลาดวงจันทร์อยู่บนกลางท้องฟ้า แต่ถ้าเอฟเฟ็คท์ที่ได้นั้นจัดเกินไป คุณก็สามารถปรับเปลี่ยนค่าเคลวินให้สูงขึ้นได้ด้วยการเลือกออปชั่น K ในเมนูไวท์บาลานส์
ดังนั้นหากผู้ถ่ายภาพมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องอุณหภูมิสีของแสงจะสามารถเลือกทำการบันทึกภาพได้จากสภาพแสงที่มาจากลักษณะต่างๆ กัน ทั้งนี้เพื่อที่จะเลือกสรรและสร้างบรรยากาศให้ภาพถ่ายมีความสวยงามและสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยให้ขั้นตอนในการประมวลผลภาพถ่ายทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นอีกด้วย ทั้งยังจะทำให้กระบวนการสื่อความหมายของภาพถ่ายมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน