xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้าหลังฝนกับคนถ่ายดาว

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายทางช้างเผือกเหนือสะพาน สถานีรถไฟทาชมภู จ.ลำพูน ซึ่งบริเวณขอบฟ้าด้านล่างจะมีเมฆอยู่บ้างแต่ท้องฟ้าบริเวณทางท้างเชือกมีความใสเคลียร์ไร้หมอกควัน และฝุ่นละออง ทำให้สามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 6D / Lens : Canon EF 16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 30sec)
สำหรับช่วงฤดูฝนนี้ในการถ่ายภาพดวงดาวก็อาจจะยากสักหน่อย เนื่องจากท้องฟ้าก็มักจะเต็มไปด้วยเมฆฝนอยู่เกือบตลอดทั้งเดือน แต่ถ้าหากลองติดตามการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาในบางช่วงของฤดูฝน ก็อาจจะมีฝนทิ้งช่วงอยู่บ้าง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสทองของคนที่ชอบการถ่ายดาวโดยเฉพาะการถ่ายภาพทางช้างเผือก เพราะท้องฟ้าหลังฝนตกจะใสเคลียร์ ปราศจากฝุ่นละอองในอากาศ ทำให้ท้องฟ้าในช่วงนั้นมีทัศนวิสัยที่ดีแบบสุดๆ (หากไม่มีเมฆ...นะครับ)

แต่ปัญหาหนึ่งของฟ้าหลังฝน ถึงแม้จะมีท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ แต่ก็มักจะมีความชื้นในอากาศที่สูงมาก ซึ่งการถ่ายภาพโดยตั้งกล้องทิ้งไว้นานๆ เช่น การถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Startrails) ก็อาจจะมาเหมาะสักเท่าไหร่ ดังนั้น ภาพที่เหมาะที่จะถ่ายมากที่สุดในช่วงฟ้าหลังฝนของช่วงนี้ก็คือ การถ่ายภาพทางช้างเผือกนั่นเอง เพราะใช้เวลาในการถ่ายภาพไม่นาน ไม่ต้องกลัวปัญหาฝ้าขึ้นหน้ากล้อง ทั้งช่วงเวลาในการถ่ายภาพทางช้างเผือกยังสามารถถ่ายได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ รวมทั้งตำแหน่งและทิศทางก็อยู่ในช่วงที่เหมาะสมอีกด้วย
ภาพถ่ายดาวเทียมศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ http://www.jma.go.jp/en/gms/index.html?area=1&element=0
ทำความเข้าใจกันก่อน
ภาพตัวอย่างใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู โดยการสังเกตนั้นเราจะใช้กลุ่มดาวสองกลุ่มนี้เป็นตำแหน่งอ้างอิง
สำหรับผู้ที่ต้องการจะถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้น ช่วงเวลาที่ดี ที่สามารถถ่ายได้โดยไม่มีอุปสรรคของเรื่องฟ้าฝนมากวนใจ จะอยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายน (ช่วงใกล้รุ่งสาง) ถึงเดือนมิถุนายน

แต่ในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนนั้น โอกาสที่ฟ้าจะเปิดมีน้อยลง ซึ่งหากว่าโชคดีฟ้าเปิดไม่มีเมฆ และได้มีโอกาสสังเกตหรือถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงนี้ คือระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม แล้วล่ะก็ภาพที่เห็นจะเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด เพราะในช่วงสองเดือนนี้ทางช้างเผือกส่วนที่สว่างที่สุด บริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู โดยจะปรากฏพาดจากทิศใต้ผ่านกลางท้องฟ้าขึ้นไปยังทิศเหนือ คล้ายกับจะแบ่งท้องฟ้าออกเป็นสองส่วน ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกนอกจากเราจะสามารถเก็บภาพดวงดาวเป็นจุดละเอียดคล้ายเม็ดทรายทั่วทั้งภาพแล้ว ยังจะได้วัตถุพวกกระจุกดาวและเนบิวลาน้อยใหญ่มากมายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

โดยอุปสรรคของการมองเห็นทางช้างเผือกนั้น ซึ่งมีความสว่างพื้นผิวที่ค่อนข้างต่ำ การมองเห็นของมันจะลดน้อยลงโดยแสงพื้นหลัง เช่น มลภาวะทางแสงหรือทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่อาจมีหมอกควัน ฝุ่นละออง แต่เราสามารถมองเห็นได้อย่างง่ายดายเมื่อท้องฟ้าใสเคลียร์ และอยู่ในบริเวณที่มืดสนิทและมีมลภาวะทางอากาศน้อย เช่น พื้นที่ในชนบทหรือตามป่าเขา ในคืนเดือนมืดที่ไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวน ซึ่งช่วงฤดูฝนนี้ก็ถือได้ว่า หากฟ้าหลังฝนเป็นใจ ฟ้าใสไร้มลภาวะทางแสง “รับรองว่าทางช้างเผือกของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกแน่ครับ”
ภาพทางช้างเผือกเหนือวัดป่าภูก้อน จ.อุดรธานี ถ่ายในช่วงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 โดยในภาพจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ท้องฟ้าใสเคลียร์มาก ทำให้ได้รายละเอียดของดวงดาวและรายละเอียดทางช้างเผือกได้ชัดเจน (ภาพโดย : โศรยา ว่องพานิช/ Camera : Canon 5D Mark lll / Lens : Canon EF 16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30sec)
โอกาสและอุปสรรคของการถ่ายภาพช่วงฟ้าหลังฝน

โอกาส
​1. สำหรับโอกาสในช่วงนี้หากฟ้าใสคลียร์ ท้องฟ้าจะไร้หมอกควันและฝุ่นละออง ทำให้มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ดีเยี่ยม เหมาะแก่การถ่ายภาพทางช้างเผือกที่สุด เพราะจะทำให้ได้รายละเอียดของวัตถุพวกกระจุกดาวและเนบิวลาน้อยใหญ่มากมายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปอย่างชัดเจน

​2. ทางช้างเผือกส่วนที่สว่างที่สุดบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู ในช่วงนี้จะปรากฏพาดจากทิศใต้ผ่านกลางท้องฟ้าขึ้นไปยังทิศเหนือ ตั้งแต่ในช่วงหัวค่ำ (ทำให้ไม่ต้องอดหลับอดนอน....)

​3. ตำแหน่งของแนวทางช้างเผือกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มาก ทำให้ในช่วงนี้การถ่ายภาพทางช้างเผือกจะไม่มีแสงจักรราศี (Zodiacal Light) มารบกวนบริเวณใจกลาง จนกลบรายละเอียดต่างๆ ของทางช้างเผือก
ตัวอย่างภาพถ่ายแนวใจกลางทางช้างเผือกที่มีแสงจักรราศี (Zodiacal Light) มารบกวนบริเวณใจกลาง จนกลบรายละเอียดบริเวณใจกลางของทางช้างเผือก
​4. แนวทางช้างเผือกจะอยู่ในมุมที่สูงจากขอบฟ้าเกินกว่า 30 องศา ทำให้ห่างจากแนวฟ้าหลัวบริเวณขอบฟ้าได้ดีขึ้น (โดยส่วนตัวผมหากใครมีโอกาสถ่ายภาพได้ในช่วงนี้ ในช่วงหัวค่ำ ผมแนะนำว่าลองถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบพาโนรามา เพราะแนวทางช้างเผือกจะยังอยู่ในมุมที่สูงไม่เกิน 60 องศา เหมาะแก่การถ่ายภาพแนวนี้อย่างยิ่ง)
แนวทางช้างเผือกจะอยู่ในมุมที่สูงจากขอบฟ้าเกินกว่า 30 องศา ทำให้ห่างจากแนวฟ้าหลัวบริเวณขอบฟ้า
5. สามารถถ่ายภาพได้ตลอดทั้งคืน (หากท้องฟ้ายังไม่มีเมฆมาเป็นอุปสรรค....) โดยแนวทางช้างเผือกจะเคลื่อนที่ในมุมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้สามารถ่ายภาพที่ได้รายละเอียดของวัตถุพวกกระจุกดาวและเนบิวลาน้อยใหญ่ได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งต่างจากช่วงต้นปี หรือปลายปี ที่จะมีเวลาถ่ายภาพเพียงไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากดวงอาทิตย์จะขึ้นตามมาทางทิศตะวันออก ในช่วงต้นปี หรือใจกลางทางช้างเผือกเคลื่อนตกลับไปทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันออก

อุปสรรค

​1. เนื่องจากยังเป็นช่วงฤดูฝน โอกาสที่จะถ่ายภาพก็จะยากสักหน่อย เพราะท้องฟ้าจะมีแต่เมฆฝน หรือ หากไม่มีฝนก็อาจจะมีแต่เมฆปกคลุมทั่วท้องฟ้าได้ ซึ่งต้องคอยเช็คสภาพท้องฟ้า หรือการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาบ่อยๆ
​2. ความชื้นในอากาศ ถึงแม้ท้องฟ้าในช่วงนี้จะใสเคลียร์ แต่ก็มักจะมีความชื้น 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การถ่ายภาพนานๆ อาจเกิดฝ้าขึ้นหน้ากล้องได้

(สำหรับประสบการณ์ผมที่เจอคือ ไม่เหมาะที่จะถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบ Timelapse เพราะการตั้งกล้องทิ้งไว้เพียง 1 ชั่วโมง ฝ้าก็ขึ้นเต็มหน้ากล้องแล้วครับ ถึงแม้ใช้พัดลมเล็กๆ เป่าหน้ากล้องก็อาจเกิดฝ้าได้ เนื่องจากความชื้นในช่วงนี้จะสูงมาก)
ตัวอย่างภาพถ่ายทางช้างเผือกที่เจออุปสรรคความชื้นในอากาศ โดยตั้งกล้องทิ้งไว้เกินกว่า 1 ชั่วโมง ทำให้ฝ้าขึ้นหน้ากล้องดังภาพตัวอย่าง
​จะเห็นว่าทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ในการถ่ายภาพดวงดาวหรือทางช้างเผือกนั้น ธรรมชาติถือได้ว่าเป็นผู้กำหนดมากกว่าตัวมนุษย์ หรืออาจพูดสั้นๆว่า การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น 10 เปอร์เซ็นต์ คือ เทคนิควิธีการและอุปกรณ์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์ คือ ธรรมชาติเป็นผู้กำหนด

​ดังนั้น ช่วงฟ้าหลังฝนหากท้องฟ้าเป็นใจใสเคลียร์ คุณก็มีชัยไปเกินครึ่งแล้วสำหรับการถ่ายภาพดวงดาวและทางช้างเผือก ที่เหลือก็แค่เทคนิควิธีการและอุปกรณ์ รวมทั้งความพร้อมของตัวเราแล้วล่ะครับ !

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน






กำลังโหลดความคิดเห็น