xs
xsm
sm
md
lg

มาทำภาพ “ฟ้ามุมกว้างแบบพาโนรามา” ให้ดูแปลกตา

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ตัวอย่างภาพ Planetary Panorama 360 องศา โดยถ่ายภาพในแนวตั้งทั้งหมด 16 ภาพ แล้วนำมาต่อกันด้วย Filter Polar Coordinates ในโปรแกรม Photoshop (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/3.2 / ISO : 3200 / Exposure : 30 sec x 16 Images)
สำหรับคอลัมน์นี้ ขอเสนอรูปแบบการสร้างสรรค์ภาพถ่ายท้องฟ้ามุมกว้างแบบพาโนรามา แล้วนำมาสร้างเป็นภาพแนวที่เรียกกันว่า Planetary Panorama ซึ่งจะได้ภาพที่อาจดูแปลกตาสักหน่อย แต่สำหรับส่วนตัวผมคิดว่า ทำให้ได้ภาพที่ให้มุมมองที่แตกต่างดีครับ

สิ่งสำคัญของการถ่ายภาพแนวนี้ คือ การวางองค์ประกอบก่อนการถ่ายภาพ โดยเราจะถ่ายภาพแบบพาโนรามา 360 องศา ซึ่งแบ่งส่วนของท้องฟ้าและพื้นดินอย่างละครึ่ง หรืออาจให้พื้นที่ของท้องฟ้ามากกว่า 2 ใน 3 ส่วนของภาพก็ได้ ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
ตัวอย่างภาพถ่ายพาโนรามา 360 องศา โดยถ่ายภาพในแนวตั้งทั้งหมด 16 ภาพ แล้วนำมาต่อกันด้วยโปรแกรม Photoshop (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/3.2 / ISO : 3200 / Exposure : 30 sec x 16 Images)
สำหรับเทคนิคและวิธีการง่ายๆ ดังนี้

1. สำหรับการถ่ายภาพพาโนรามานั้น เราจะถ่ายภาพโดยให้ภาพเหลื่อมทับกันประมาณ 1/3 ส่วนของภาพ ซึ่งหากเป็นการถ่ายภาพในช่วงเวลากลางวันเราอาจใช้เวลาถ่ายภาพไม่กี่นาที ก็ครบทั้ง 360 องศา แต่สำหรับการถ่ายภาพในเวลากลางคืนนั้น เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพจนครบทั้ง 360 องศาอาจใช้เวลากว่า 30 นาที หรือมากกว่านั้น ซึ่งแน่นอนในการถ่ายภาพเราก็จำเป็นต้องเปิดระบบ Long Exposer Noise Reduction เพื่อลดสัญญาณรบกวน ซึ่งนั้นหมายถึงเวลาการถ่ายภาพก็จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

2. ก่อนการเริ่มถ่ายภาพเราควรตรวจเช็คดูองค์ประกอบภาพทั้ง 360 องศา โดยอาจลองมองผ่านช่องมองภาพแล้วแพนกล้องดูให้ครบ 1 รอบ ว่ามีอะไรที่อาจบดบังหน้ากล้องหรือไม่

3. เลือกบริเวณที่เป็นจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของการถ่ายภาพนั้น ควรเป็นบริเวณที่มีแสงสว่างโดยรอบมีแสงสม่ำเสมอ ไม่มีแสงที่มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะหากนำภาพมาต่อกันภายหลังภาพอาจจะมีรอยต่อตรงกลางจะไม่เชื่อมต่อกันทั้งภาพ


เพราะหากภาพแรกและภาพสุดท้าย มีสภาพแสงที่แตกต่างกันมากๆ เมื่อนำภาพพาโนรามามาต่อกันเป็นภาพ Planetary Panorama แล้ว ภาพจะต่อกันไม่สนิท หรือภาพมีแสงที่แตกต่างกันมากจนเกินไป ทำให้ยากต่อการรีทัชในภายหลัง ดังเช่นภาพตัวอย่างข้างบน

4. หลังจากที่เราได้ภาพมาครบทั้ง 360 แล้ว ตอนนี้เรามาเริ่มสร้างภาพแนว Polar Coordinate ด้วยโปรแกรม Photoshop กันดีกว่าครับ

มาดูวิธีการสร้างภาพ Planetary Panorama กันเลยดีกว่า

1. ต่อภาพพาโนรามา ด้วยโปรแกรม Photoshop

2. ครอปภาพบริเวณส่วนเกินออก

3. ปรับขนาดของภาพให้เป็น สี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยให้ทั้งสองด้านมีขนาดเท่ากัน ดังภาพตัวอย่าง

4. กลับภาพ 180 องศา ดังภาพ

5. หลังจากได้ภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัสและกลับภาพ 180 องศา แล้ว ก็พร้อมที่จะสร้างภาพ Planetary Panorama โดยเลือกคำสั่ง Filter > Distort > Polar Coordinate ก็จะได้ภาพดังตัวอย่างด้านล่าง

6. หลังจากที่สร้างภาพ Planetary Panorama แล้วอาจทำการรีทัชในส่วนรอยต่อ แล้วครอปภาพส่วนเกินโดยรอบก็จะได้ภาพแนวที่แปลกตา 360 องศากันแล้วครับ

สำหรับเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพแนวนี้ คุณอาจนำไปประยุกต์ใช้ในการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ก็ถือเป็นอีกแนวหนึ่งที่ทำให้เราได้ภาพที่แปลกตาไม่ซ้ำแบบใครไว้อวดเพื่อนได้ “เพราะหากหยุดคิด ชีวิตก็ไม่แตกต่าง” เข้าใจตรงกันนะ!



เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน






กำลังโหลดความคิดเห็น