xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเทคนิคถ่ายฝนดาวตกสิงโต

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


​ในช่วงวันที่ 17-18 พฤศจิกายน นี้จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกตกสิงโต (Leonids Meteor Shower) ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งทางดาราศาสตร์ที่น่าติดตามและเฝ้าดู สำหรับนักถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ก็ถือว่าในการเกิดฝนดาวตกสงิโตในปีนี้อาจต้องเสี่ยงกันสักนิดในการถ่ายภาพ เนื่องจากในการสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกนั้น จำเป็นต้องสังเกตใกล้กับบริเวณจุดกระจายของฝนดาวตก (radiant) ซึ่งอยู่บริเวณหัวของสิงโต กลุ่มดาวสิงโตจะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ในช่วงเวลาประมาณ 2.40 น. โดยประมาณ ซึ่งจุดกระจายจะขึ้นมาเหนือขอบฟ้าในเวลาเที่ยงคืนครึ่ง ซึ่งในปีนี้ปีดวงจันทร์เสี้ยวแรม 12 ค่ำ ขึ้นมาเหนือขอบฟ้าหลังเวลาตี 3 หลังจากนั้นจะมีแสงดวงจันทร์รบกวนบ้างเล็กน้อย

​ช่วงที่จะสามารถสังเกตได้ดีที่สุด คือเวลาตี 3 - ตี 5 ของเช้ามืดวันอังคารที่ 18-19 พฤศจิกายน 2557 ด้วยอัตราตกราว 10 ดวงต่อชั่วโมง

​ดังนั้น สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกในปีนี้อาจต้องลุ้นกับจำนวนฝนดาวตกที่เป็นลูกไฟดวงใหญ่ๆ กันสักหน่อย เนื่องจากจะมีเวลาในการถ่ายภาพหรือสังเกตการณ์ไม่นานมากนัก

มาทำความเข้าใจกันก่อน
​ฝนดาวตกเกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในบริเวณวงโคจรของดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยซึ่งทิ้งเศษฝุ่น เศษหินไว้มากมายในอวกาศ เมื่อโลกเคลื่อนที่ตัดผ่าน เศษฝุ่นเหล่านี้จะตกเข้ามาในชั้นบรรยากาศเกิดเป็นดาวตกจำนวนมากบนท้องฟ้า โดยชื่อของฝนดาวตกในแต่ละครั้งจะถูกตั้งตามจุดศูนย์กลางการแผ่กระจายของฝนดาวตกในครั้งนั้นๆ เช่น ฝนดาวตกสิงโต ได้ชื่อจากการที่ดาวตกในค่ำคืนนั้นตกแบบมีทิศพุ่งออกโดยรอบจากกลุ่มดาวสิงโตนั่นเอง

​เมื่อโลกเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในวงโคจรของดาวหางและดาวเคราะห์น้อยที่ทิ้งฝุ่นละอองไว้ สะเก็ดดาวที่ตกเข้ามาในชั้นรรยากาศโลกทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตก

เทคนิคและวิธีการ
​การถ่ายภาพฝนดาวตกนั้น มีเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพที่คล้ายกับการถ่ายภาพเส้นแสงดาวโดยทั่วไป หากแต่จะแตกต่างกันในเรื่องของค่าความไวแสงที่อาจต้องสูงมากกว่าปกติ เพราะจะสามารถช่วยให้เก็บภาพปรากฏการณ์ได้ดียิ่งขึ้น โดยจะมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

1.ตั้งค่าความไวแสง ISO สูงๆ หากกล้องของคุณสามารถตั้งความไวแสงได้สูงมากๆ โดยที่ไฟล์ภาพยังพอรับได้ไม่แตก หรือมีนอยส์ (Noise) มากเกินไป ก็ดันขึ้นไปให้สูงๆ เลยครับ ส่วนตัวผมมักใช้ที่ ISO 3200 หรืออาจจะสูงกว่านี้ เพราะหากกลัวว่าในภาพจะมีนอยส์ (Noise) คุณก็จะไม่มีฝนดาวตกติดมาในภาพเช่นกัน

2.ปรับรูรับแสงให้กว้างที่สุด เช่น f1.4 / f1.8 / f2.0 / f2.8 เพื่อให้กล้องมีความไวแสงมากที่สุด ซึ่งการเปิดขนาดรูรับแสงที่กว้างกว่าหมายถึงโอกาสที่จะได้ภาพนั้นมีมากขึ้นด้วย เมื่อจำเป็นต้องถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยเลนส์ที่สามารถเปิดรับแสงได้มากกว่าย่อมมีโอกาสได้ภาพมากกว่า

3.เลือกใช้เลนส์มุมกว้างคุณภาพสูงเพื่อให้สามารถเก็บภาพท้องฟ้าให้ได้กว้างที่สุด เพราะการเกิดฝนดาวตกจะเกิดขึ้นทั่วท้องฟ้าบริเวณกว้าง

4.เลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ประมาณ 30 วินาที ซึ่งการถ่ายภาพฝนดาวตกนั้นเราไม่สามารถทราบล้วงหน้าได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และในการเกิดดาวตกแต่ละดวงก็จะมีเวลาต่างกัน บางดวงอาจมีแสงวาบเพียง 1 วินาทีเท่านั้น หรือบางดวงอาจมีแสงวาบถึง 2-3 วินาทีเลยทีเดียว

5. ถ่ายแบบต่อเนื่อง (Continuous) โดยการใช้สายลั่นชัตเตอร์แล้วตั้งค่าการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องภาพละ 30 วินาที ไปเรื่อยๆ แล้วจึงนำภาพที่ถ่ายไปทั้งหมดหลายร้อยภาพมาเลือกดูภายหลังจากที่ถ่ายมาตลอดทั้งคืน

6.หันหน้ากล้องไปทิศของศูนย์กลางการเกิดของฝนดาวตก (Radiant) ซึ่งการจัดวางตำแหน่งภาพนั้น ควรเลือกวางตำแหน่งของศูนย์กลางการเกิดของฝนดาวตก (Radiant) ไว้บริเวณมุมใดมุมหนึ่งของช่องมองภาพของกล้อง เนื่องจากดาวตกที่จะตกใกล้จุดเรเดียนท์ลำแสงวาบของดาวตกจะสั้น และจะมีลำแสงวาบยาวขึ้นเมื่อดาวตกดวงนั้นอยู่ไกลจากจุดเรเดียนท์

​ดังนั้น หากใครอยากลองลุ้นถ่ายภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกตกสิงโต ก็อาจลองตั้งกล้องถ่ายภาพหันหน้ากล้องไปในทิศทาง ตะวันออก ตั้งแต่เวลา หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ไม่แน่เราอาจได้ภาพฝนดาวตกที่มีลูกไปดวงใหญ่ๆ เป็นเส้นยาวๆ ไว้อวดใครหลายๆ คนได้นะครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน






กำลังโหลดความคิดเห็น