xs
xsm
sm
md
lg

ถ่ายภาพทางช้างเผือกอย่างไร...ให้ใสเนียน

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ตัวอย่างภาพถ่ายทางช้างเผือกกับวิวทิวทัศน์ให้ได้รายละเอียดทั่วทั้งภาพ โดยใช้เวลาถ่ายภาพนานที่สุดเท่าที่สามารถถ่ายโดยดาวยังไม่ยืด ในสภาพแสงของท้องฟ้าที่ยังไม่มืดสนิท (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 15mm. Fisheye  / Focal length : 15mm. / Aperture : f/2.8  / ISO : 1000 / Exposure : 40s)
สำหรับช่วงนี้ถือได้ว่ากระแสการถ่ายภาพทางช้างเผือกเริ่มกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่หลายเดือนที่ผ่านมามีฝนตกตลอดทั้งเดือน และถึงแม้ว่าช่วงนี้จะเป็นหน้าฝน “แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฝนจะตกทุกวัน” หากแต่ว่าวันไหนที่ฝนไม่ตก ท้องฟ้าไร้เมฆแล้วล่ะก็ วันนั้นคุณก็จะสามารถสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจนอย่างมากเลยทีเดียว

โดยบริเวณที่ท้องฟ้าใสเคลียร์ไม่มีมลภาวะทางแสง (Light Pollution) รบกวนในช่วงเวลาหัวค่ำจนถึงกลางดึก จะสามารถสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกพาดจากทิศใต้จรดทิศเหนือและค่อยๆ เคลื่อนไปทางทิศตะวันตกเรื่อยๆ ซึ่งใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) จะสังเกตเห็นอย่างชัดเจนในทางทิศใต้
ภาพตัวอย่างบริเวณใจกลางทางช้างเผือกในทางทิศใต้ ของช่วงเดือนกันยายนในช่วงหัวค่ำ
ปัจจุบันการภาพถ่ายทางช้างเผือกกับวิวทิวทัศน์หรือวัตถุที่เป็นฉากหน้าที่สวยงาม กำลังได้รับความนิยมของเหล่านักถ่ายภาพไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือเก่าก็ตาม ดังนั้นวันนี้เรามาลองเปลี่ยนแนวทางการถ่ายภาพทางช้างเผือก โดยให้ความสำคัญกับรายละเอียดส่วนอื่นๆ นอกจากทางช้างเผือกเพียงอย่างเดียวกันบ้างครับ ซึ่งสิ่งที่ผมจะให้ความสำคัญกับภาพ ประกอบด้วย

1. ใจกลางทางช้างเผือก
2. รายละเอียดของฉากหน้า เช่น วัตถุหรือสถานที่
3. ความสว่างของภาพถ่าย
4. สัญญาณรบกวนในภาพ (Noise)

ในคอลัมน์นี้ ผมจะมาแชร์ประสบการณ์การถ่ายภาพทางช้างเผือกในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่อาจจะแตกต่างกับการถ่ายภาพทางช้างเผือกโดยทั่วไป ซึ่งโดยปกติผมมักจะแนะนำให้เริ่มถ่ายภาพในช่วงเวลาที่ท้องฟ้ามืดสนิท เพื่อให้ได้รายละเอียดของวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระจุกดาว เนบิวลา ฯลฯ ได้อย่างชัดเจน แต่วันนี้เราจะมาแหกกฏเพื่อให้ได้ภาพที่แตกต่าง และอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นการถ่ายภาพ “ทางช้างเผือกกับวิวทิวทัศน์ในช่วงที่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท”
หลายคนอาจสงสัยว่าในช่วงที่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิทแล้วจะเห็นทางช้างเผือกได้อย่างไร? จริงๆ แล้วหาก ลองตั้งกล้องถ่ายภาพโดยเริ่มถ่ายภาพไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เราจะพบว่าหลังจากช่วงทไวไลท์ไปแล้ว ท้องฟ้าจะยังคงมีแสงสว่างเรืองๆ อยู่ และประกอบกับท้องฟ้าในช่วงฤดูฝนหากวันไหนฝนไม่ตก ไม่มีเมฆเป็นอุปสรรค รวมทั้งไม่มีมลภาวะทางแสงแล้วหล่ะก็ ท้องฟ้าจะใสเคลียร์มากกกกก....มากจนสามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้เลยทีเดียว และความพิเศษของช่วงนี้ก็คือ เราจะสามารถถ่ายภาพได้ทั้งแนวทางช้างเผือกและรายละเอียดของฉากหน้าที่เป็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามได้ในช็อตเดียวกัน

มาทำความเข้าในกันก่อน
เอาล่ะ...พูดเรื่องฟ้าใสกันไปมากแล้ว ทีนี้เรามาดูว่าทำไม การถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงที่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท นั้นทำให้ได้ภาพที่ใสเคลียร์กว่าการถ่ายภาพในช่วงที่ท้องฟ้ามืดสนิทอย่างไร ก่อนอื่นเลยผมคงต้องขอบอกไว้ก่อนว่า ในการถ่ายภาพลักษณะนี้ แนวทางช้างเผือกอาจไม่ดุเดือดเหมือนตอนที่เราถ่ายในช่วงท้องฟ้ามืดสนิท แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ภาพจะมีความใสเคลียร์กว่า หรือมีสัญญาณรบกวนในภาพต่ำนั่นเองครับ เลยต้องขออนุญาตนำเอาเรื่องของ สัญญาณรบกวน หรือที่เรียกกันว่า “Noise”

อธิบายกันก่อนว่า Noise คือ สัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้นในภาพ ทำให้เห็นความไม่สม่ำเสมอของความสว่างและสี ซึ่งเกิดจากการถ่ายภาพด้วยความไวแสงสูงๆ การใช้ระยะเวลาในการถ่ายภาพนานๆ หรืออุณหภูมิและขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพอีกด้วย

(รายละเอียดเรื่องสัญญาณรบกวน ตามลิงค์ : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000086131)

โดยสรุปแล้วเป้าหมายสำคัญของการลดสัญญาณรบกวน (Noise) ก็คือการถ่ายภาพเพื่อทำให้ได้ S/N (Signal-to-Noise Ratio) ที่สูงขึ้นนั่นเอง เพื่อให้ได้ภาพที่มีความราบเรียบและมีรายละเอียดที่ดีขึ้น หรืออาจพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ “การถ่ายภาพได้สัญญาณแสงมากกว่าสัญญาณรบกวนนั่นเอง”
ตัวอย่างภาพถ่ายทางช้างเผือกในช่วงรุ่งเช้าก่อนแสงทไวไลท์ โดยท้องฟ้าจะเริ่มมีแสงพื้นหลังสว่างเรื่อยๆ ช่วยให้สามารถเปิดรายละเอียดของฉากหน้าซึ่งเป็นสถานที่ได้ รวมทั้งทำให้ได้การถ่ายภาพได้แสงมากขึ้น หรือได้ S/N (Signal-to-Noise) ที่สูงขึ้น (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 15mm. Fisheye / Focal length : 15mm. / Aperture : f/2.8  / ISO : 1600 / Exposure : 40s)
เทคนิคและวิธีการ
สำหรับเทคนิคและวิธีการการถ่ายภาพทางช้างเผือกในสภาพแสงที่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิทนั้น เราสามารถถ่ายได้ในช่วงหลังแสงทไวไลท์หลังดวงอาทิตย์ตก และก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเช่นกัน โดยแสงสว่างเรื่อยๆ ของท้องฟ้าช่วยเปิดรายละเอียดของฉากหน้า ทำให้ภาพมีความสว่างทั่วทั้งภาพ ซึ่งมีรายละเอียดง่ายๆ ดังนี้

1. ใช้เวลาเปิดหน้ากล้อง ในการถ่ายภาพให้นานที่สุด (นานเท่าที่ดาวจะยังไม่ยืด ซึ่งคำนวณได้จากสูตร Rule of 400/600 รายละเอียดตามลิงค์ : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000154287) เพื่อให้มีความเข้มแสงที่เพียงพอ ทำให้ได้ S/N (Signal-to-Noise Ratio) ที่สูงขึ้นตามด้วย

2. ใช้รูรับแสง (Aperture) ที่กว้างที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรับแสงมากยิ่งขึ้น

3. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ต่ำ เนื่องจากการใช้ ISO สูง นั้นเป็นการขยายสัญญาณ รวมทั้งขยายสัญญาณรบกวน (Noise) ด้วย ดังนั้นการลด ISO ก็จะช่วยลดสัญญาณรบกวนอีกด้วย ทำให้ภาพถ่ายใสเคลียร์ขึ้นกว่าการใช้ค่า ISO สูงๆ *** แต่อย่างไรก็ตามในการถ่ายภาพภายใต้สภาพแสงที่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิทนั้น การใช้ ISO สูงก็จะทำให้ภาพสว่างโอเวอร์อยู่แล้ว สภาพท้องฟ้าจึงเหมือนเป็นตัวกำหนดที่บังคับให้เราชดเชยค่า ISO ให้ต่ำลงไปในตัวอยู่แล้ว***

4. ถ่ายภาพให้ได้มุมที่กว้างขึ้น หรือการใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้สามารถเพิ่มเวลาในการถ่ายภาพให้นานขึ้น ซึ่งเมื่อมีเวลาถ่ายได้นานขึ้น เราก็จะสามารถลดค่า ISO ให้ต่ำลงได้อีกด้วย

5. อาจหาไฟฉายเปิดฉากหน้าเพิ่มเติม หากสภาพแสงของฉากหน้ามืดเกินไป ก็จะช่วยให้ภาพสว่างขึ้นทั่วทั้งภาพ รวมทั้งทำให้ได้ความเข้มแสงที่เพียงพอ หรือได้ S/N (Signal-to-Noise Ratio) ที่สูงขึ้นตามด้วย เนื่องจากบริเวณที่เป็นส่วนมืดของภาพเราจะสังเกตเห็น Noise ได้ง่ายนั่นเอง

ดังนั้นการที่เราสามารถถ่ายภาพในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ช่วยให้เราสามารถถ่ายภาพให้ได้แสงหรือโฟตอนได้มากขึ้นและง่ายขึ้นกว่าการถ่ายภาพในช่วงที่ท้องฟ้ามืดสนิท ได้ในช่วงเวลาที่จำกัดบนการถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบอยู่นิ่ง ซึ่งด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ที่กล่าวมาเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ ก็จะช่วยให้เราได้ S/N (Signal-to-Noise Ratio) ที่สูงขึ้น เป็นผลให้เราได้ภาพทางช้างเผือกที่ใสเคลียร์นั่นเองครับ

ทิ้งท้ายอีกนิด สำหรับใครที่อยากลองถ่ายภาพแนวนี้ดู ผมคิดว่าช่วงนี้หากฟ้าใสเป็นใจ และยังมีข้อดีอีกอย่างสำหรับการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงนี้ก็คือ จะไม่มีอุปสรรคของแนวแสงจักรราศี (Zodiacal Light) มารบกวนบริเวณใจกลางทางช้างเผือก เนื่องจากแนวแสงจักรราศีจะปรากฏบริเวณแนวการขึ้นตกของดวงอาทิตย์ ซึ่งปรากฏในทิศตะวันออก-ตะวันตก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและหลังดวงอาทิตย์ตกตามลำดับ (ช่วงนี้ใจกลางปรากฏในทางทิศใต้)

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน








กำลังโหลดความคิดเห็น