กล้องฮับเบิลของนาซาพบหลักฐานบ่งชี้มีไอน้ำพุ่งจาก “ยูโรปา” ดวงจันทร์ของดาวพฤหัส ซึ่งคาดว่าดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ก๊าซนี้อาจจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ เพราะเชื่อว่ามีแหล่งน้ำเค็มอยู่ใต้ผิวที่ใหญ่กว่ามหาสมุทรของโลกถึง 2 เท่า
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เพิ่งออกมาแถลงถึงหลักฐานจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ที่บ่งชี้ว่ามีไอน้ำพุ่งออกมาจากดวงจันทร์ยูโรปา (Europa) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริวารกว่า 50 ดวงของดาวพฤหัสบดี
สำหรับยูโรปานั้นนาซาถือว่ามีโอกาสมากที่จะเป็นอีกแหล่งที่พ บสิ่งมีชีวิตภายในระบบสุริยะ เนื่องจากเชื่อว่าดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ก๊าซนี้มีน้ำเค็มอยู่ใต้พื้นผิวที่มีขนาดใหญ่กว่ามหาสมุทรบนโลกเป็น 2 เท่า
เอเอฟพีรายงานต่อว่า การค้นพบล่าสุดนี้ให้ความหวังใหม่แก่ทีมนักวิทยาศาสตร์ว่า วันหนึ่งยานอวกาศที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ส่งไปจะบินโฉบไอน้ำที่พวยพุ่งเหล่านั้น แล้วได้ศึกษาว่ามีองค์ประกอบอะไรอยู่ในนั้นบ้าง โดยไม่ต้องขุดเจาะลงไปในชั้นผิวน้ำแข็งของดวงจันทร์
“วันนี้เรากำลังนำเสนอหลักฐานใหม่จากฮับเบิลที่แสดงว่ามีไอน้ำพวยพุ่งออกจากผิวน้ำแข็งของยูโรปา” วิลเลียม สปาร์กส์ (William Sparks) นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาการกล้องโทรทรรศน์อวกาศในบัลติมอร์เผยแก่สื่อมวลชนระหว่างการประชุม
สปาร์กส์ระบุว่า หลักฐานใหม่นั้นได้จากภาพถ่ายที่บันทึกในย่านรังสีอัลตราไวโอเลตของกล้องฮับเบิลที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่ยุค '90 และเผยให้เห็นสิ่งที่น่าจะไอน้ำพวยพุ่งออกมาจากขอบทางด้านใต้ของ และรอยยื่นมืดๆ หรือรอยปะที่่น่าจะอาจจะเกิดจากการดูดกลืน
ทั้งนี้ตลอด 15 เดือนนับจากปี 2014 นักวิทยาศาสตร์สังเกตพบปรากฏการณ์ดังกล่าว 3 ครั้ง ระหว่างที่ดวงจันทร์ยูโรปาผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี ซึ่งสปาร์กส์กล่าวว่า พบหลักฐานที่น่าจะเป็นไอน้ำพวยพุ่งจากยูโรปาเพียง 3 ครั้งจากปรากฏการณ์ดวงจันทร์ผ่านหน้าดาวพฤหัส 10 ครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกว่า การประทุของไอน้ำนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
นอกจากนี้ดูเหมือนว่า ปรากฏการณ์ที่นั้นเกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกันซ้ำๆ และส่วนใหญ่เกิดขึ้นทางด้านใต้ของยูโรปา ซึ่งเป็นบริเวณที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้เคยพบเมื่อปี 2012 แต่ใช้เครื่องมืออีกแบบที่ติดตั้งบนกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล โดยพบไอน้ำพวยพุ่งสู่อวกาศขึ้นไปกว่า 160 กิโลเมตร
“หากพวยไอน้ำมีจริง นี่จะเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะจะทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงมหาสมุทรที่อยู่ใต้ดินได้งายขึ้น” สปาร์กส์กล่าว แต่ก็ออกตัวอย่างระวังว่า จำเป็นต้องมีหลักฐานมากกว่านี้ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อมั่นได้ ไม่ว่าจะอาศัยการสำรวจจากกล้องฮับเบิล หรือแม้แต่ใช้เทคนิคอื่นๆ ที่ไ่เกี่ยวข้องกับเทคนิคที่ใช้นี้
“ผมอยากจะเน้นว่า การสังเกตการณ์นี้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดเท่าที่กล้องฮับเบิลจะสามารถทำได้ เราไม่ได้อ้างว่าได้พิสูจน์ว่ามีไอน้ำพุ่งอยู่จริง แต่ได้ให้หลักฐานที่บอกว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจจะมีอยู่” สปาร์กส์กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมานาซาได้ประกาศว่า มีความตั้งใจที่จะส่งยานอวกาศอัตโนมัติ ที่ติดตั้งเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ครบชุด ไปโคจรรอบดวงจันทร์ไอโอปาในปีทศวรรษที่ 2020 ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวไม่ได้ตั้งเป้าที่จะค้นหาสิ่งมีชีวิต แต่ตั้งเป้าตรวจวัดถึงสภาพที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของไอโอปา เพื่อประเมินว่าปัจจัยที่มีอยู่นั้นจะช่วยให้จุลินทรีย์ดำรงชีวิตอยู่บนดวงจันทร์ที่โคจรครบดวงดาวพฤหัสบดีได้ทุกๆ สามวันครึ่งหรือไม่
นอกจากนี้เมื่อปีที่ผ่านมาข้อมูลจากกล้องฮับเบิลยังยืนยันว่า แกนีมีด (Ganymede) ดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดีนั้น มีมหาสมุทรอยู่ใต้พื้นผิวมากกว่าน้ำที่พบอยู่บนโลก การค้นพบดังกล่าวขยายขอบเขตการค้นหาดินแดนภายในระบบสุริยะที่สิ่งสามารถดำรงอยู่ได้ และถึงตอนนี้เท่าที่ทราบแน่ชัดมีดวงจันทร์เพียงหนึ่งเดียวในระบบสุริยะที่มีไอน้ำแข็งพวยพุ่งออกมา นั่นคือดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ของดาวเสาร์ ซึ่งยืนยันข้อมูลได้จากยานอวกาศแคสซินี (Cassini) ของนาซา
สำหรับปฏิบัติการล่าสุดของนาซาที่ส่งไปสำรวจดาวพฤหัสบดีคือปฏิบัติการจูโน (Juno) ซึ่งเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์ลำดับที่ 5 ในระบบสุริยะเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่นาซาระบุว่ายานอวกาศดังกล่าวต้องรักษาระยะห่างจากดวงจันทร์ยูโรปา เพื่อระวังการปนเปื้อนจากโลกที่อาจติดยานขึ้นไป
ส่วนกล้องโทรทรรศน์อวกาศแบบเดียวกับฮับเบิลรุ่นต่อไปของนาซาคือกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ (James Webb Space Telescope) มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี 2018 และจะล่าสัญญาณของน้ำบนดวงจันทร์ยูโรปา โดยใช้การสำรวจด้วยคลื่นแสงในย่านอินฟราเรด
“เป็นเวลานานแล้วที่มนุษยชาติได้เฝ้าสงสัยว่ามีสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่นอกโลกหรือไม่ และเราก็โชคดีที่มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่เราสามารตั้งคำถามเช่นนี้ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์” พอล เฮิร์ตซ์ (Paul Hertz) ผู้อำนวยการแผนกดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ประจำนาซาสำนักงานใหญ่กล่าว