จีนเดินเครื่องกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว โดยคาดหวังว่ากล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอล 30 สนาม ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศนี้จะช่วยค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว รวมถึงสังเกตพัลซาร์ไกลๆ ที่เป็นต้นกำเนิดซูเปอร์โนวา
เอเอฟพีอ้างรายงานจากสำนักข่าวซินหัวว่า จีนได้เริ่มเดินเครื่องกล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์ (Aperture Spherical Radio Telescope: FAST) ซึ่งตั้งอยู่ภายในหุบเขาของมณฑลกุ้ยโจว (Guizhou) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันที่ 25 ก.ย.2016 ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น
กล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์เป็นกล้องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร ความใหญ่เทียบเท่าสนามฟุตบอล 30 สนาม โดยจานรับสัญญาณขนาดใหญ่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนถึง 4,450 แผง ความมหึมาของกล้องที่อยู่กลางหุบเขานี้กลบรัศมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุของหอดูดาวอาเรซิโบ (Arecibo Observatory) ในเปอร์โตริโก ที่ครองตำแหน่งกล้องขนาใหญ่ที่สุดมาก่อน และกล้องจากจีนยังมีความไวในการรับสัญญาณมากกว่าเป็น 2 เท่า
กล้องฟาสต์ที่มีมูลค่าราว 6,000 ล้านบาทนี้ จะถูกใช้เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงปัญญานอกโลก และยังจะใช้เพื่อสังเกตพัลซาร์ (pulsars) ที่อยู่ไกลโพ้น ซึ่งพัลซาร์นั้นเป็นดาวนิวตรอนที่หมุนรัวๆ และเชื่อว่าจะเป็นต้นกำเนิดของการระเบิดซูเปอร์โนวา
ด้าน เหยน จวิ้น (严俊: Yan Jun) ผู้อำนวยการหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติจีนให้สัมภาษณ์ผ่านซินหัวว่า กล้องโทรทรรศน์วิทยุนี้เป็นการก้าวกระโดดในศักยภาพทางด้านดาราศาสตร์ของจีน และจะเป็นหนึ่งในโครงการกล้องโทรทรรศน์ระดับ “เวิร์ลคลาส” ที่จะเริ่มปฏิบัติการในทศวรรษหน้า
จากการเดินเครื่องทดสอบนั้นนักวิจัยของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติจีนรายงานว่า กล้องฟาสต์ได้ตรวจพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากพัลซาร์ซึ่งอยู่ไกลกว่า 1,300 ปีแสง
ส่วนเป้าหมายในการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงปัญญานอกโลกนั้น เอเอฟพียกคำพูดของ อู่ เซี่ยงผิง (武向平: Wu Xiangping) ผู้อำนวยการใหญ่ของสมาคมดาราศาสตร์จีน ที่ระบุว่ากล้องโทรทรรศน์ฟาสต์นั้นมีความละเอียดในการรับสัญาณสูง ซึ่งจะช่วยเราค้นหาสิ่่งมีชีวิตทรงปัญญาที่อยู่นอกกาแล็กซีของเราได้
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญได้ค้นสิ่งมีชีวิตทรงปัญญามาเป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษแล้ว โดยอาศัยกล้องโทรทรรศน์วิทยุค้นหาไปยังดาวฤกษ์ต่างๆ ด้วยความหวังที่จะได้ค้นพบสัญญาณของอารยธรรมอื่น แต่เอเอฟพีระบุว่ายังไม่มีการค้นพบหลักฐานใดๆ
เมื่อเดือนที่ผ่านมามี “สัญญาณเข้ม” ที่ตรวจวัดได้โดยกล้องโทรทรรศน์ของรัสเซียที่ค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตต่างดาว ซึ่งจุดกระแสความสนใจของนักวิทยาศาสตร์อย่างมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปถึงกำเนิดของสัญญาณดังกล่าว
ทว่าในมุมของ ดักลาส วาคอช (Douglas Vakoch) ประธานกลุ่มเมติ (METI) กลุ่มที่ส่งข้อความไปยังอวกาศเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวบอกทางซินหัวว่า กล้องโทรทรรศน์ฟาสต์ตัวใหม่นี้ จะช่วยการค้นพบในขอบเขตที่เกินกว่ามนุษย์จะจินตนาการได้
สำหรับการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์ฟาสต์เริ่มขึ้นเมื่อปี 2011 และทางการในท้องถิ่นได้อพยพประชากรราวๆ 10,000 คน ที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบๆ พื้นที่ก่อสร้างกลองโทรทรรศน์ออกไป เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบสำหรับใช้ตรวจตราสัญญาณ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริเวณดังกล่าวก็ถูฏตัดสัญญาณลงด้วยเพื่อตัดสัญญาณวิทยุรบกวน
บริเวณรอบๆ ที่ตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์นั้นอยุ่ห่างไกล และค่อนข้างทุรกันดาร ซึ่งสื่อของจีนระบุว่า บริเวณดังกล่าวได้รับเลือกเพราะไม่มีเมืองใหญ่อยู่ใกล้ๆ ส่วนชาวบ้านที่ถูกย้ายออกไปนั้นได้รับการชดเชยเป็นเงินหรือบ้านหลังใหม่ โดยงบประมาณที่ใช้อพยพผู้คนนั้นคิดเป็นเงิน 9 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินที่ใช้ก่อสร้างกล้องโทรรทรรศน์