xs
xsm
sm
md
lg

แง้มดูเทคโนโลยีอวกาศ “เวียดนาม” ไม่หวือหวาแต่ใช้งานได้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นักศึกษาเวียดนามระหว่างผลิตชิ้นส่วนเลนส์กล้องโทรทรรศน์
ภาพเครื่องมือระเกะระกะเหมือนช่างกำลังซ่อมบ้าน แต่จริงๆ แล้วคือส่วนหนึ่งของการพัฒนากล้องโทรทรรศน์ที่เวียดนามผลิตขึ้นมาเอง ซึ่งนักดาราศาสตร์ไทยถึงกับออกปากว่าการผลิตอาจจะไม่หวือหวาแต่ก็ใช้งานได้จริง รวมถึงเครื่องจำลองสภาพอวกาศเพื่อใช้ศึกษาก่อนส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรที่นักวิทยาศาสตร์เวียดนามพัฒนาทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์เอง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้ไปเยือนกรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อ 23-26 ส.ค.59 เพื่อสร้างความตระหนักด้านการศึกษาดาราศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้โครงการอบรมด้านดาราศาสตร์ระดับนานาชาติในภูมิภาคอาเซียน

ระหว่างนั้น สดร. ได้รับเชิญให้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์บางส่วนของหน่วยงานในสังกัดสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม (Vietnam Academy of Science and Technology: VAST) ซึ่งรวมถึงห้องปฏิบัติการของสถาบันฟิสิกส์ (Institute of Physics) และห้องปฏิบัติการของศูนย์ดาวเทียมเวียดนาม (Vietnam National Satellite Center: VNSC)

ณ ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ นักศึกษาปริญญาโทกำลังขมักเขม้นกับกระบวนการผลิตกระจก ซึ่ง ศ.ดิง วัน ซุง (Prof.Dinh Van Trung) รองผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์สภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม ระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตเลนส์กระจกโทรทรรศน์เพื่อใช้ในการศึกษาดาราศาสตร์
ดร.เล ซวน ฮวี นำ รศ.บุญรักษา ชมเครื่องจำลองสภาพดาวเทียมในอวกาศที่ผลิตโดยนักวิจัยเวียดนาม
อีกส่วนหนึ่งที่สถาบันฟิสิกส์ของเวียดนามเปิดให้เข้าชมคือเครื่อง LIDAR เครื่องมือที่ใช้แสงเลเซอร์ในการวัด ซึ่งเป็นผลงานของกลุ่มวิจัยที่นำโดย ศ.วัน ซุง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ โดยในกลุ่มวิจัยมีสมาชิกประมาณ 5-6 คน ส่วนหนึ่งเป็นนักวิจัยระดับปริญญาเอก และอีกส่วนเป็นนักวิจัยระดับปริญญาโท

ศ.วัน ซุง อธิบายถึงการทำงานของเครื่อง LIDAR ที่พัฒนาขึ้นเองว่า สามารถประยุกต์การใช้งานได้หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการวัดโอโซนในชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำหน้าที่กั้นรังสีอัลตราไวโอเลตหรืออยู่ยูวี โดยเลเซอร์ที่ใช้นั้นเป็นเลเซอร์สีเขียวที่มีความยาวคลื่นประมาณ 500 นาโนเมตร ทางกลุ่มจึงได้ย้อมสีให้แสงเลเซอร์เป็นสีม่วงและมีความยาวคลื่นอยู่ในย่านรังสียูวีประมาณ 200-300 นาโนเมตร จากนั้นแสงเลเซอร์ที่ผ่านการย้อมสีจะถูกสะท้อนด้วยกระจกขนาดไปกับลำกล้องของเครื่อง LIDAR และมีอุปกรณ์รับแสงเพื่อรับแสงที่สะท้อนกลับมาประมวลผลอีกที
นักวิจัยเวียดนามใช้ซอฟท์แวร์ประมวลผลการจำลองสภาพแวดล้อมในอวกาศสำหรับดาวเทียม
นอกจากนี้ศูนย์ดาวเทียมเวียดนามยังเปิดให้เยี่ยมชมเครื่องจำลองสภาพขณะดาวเทียมอยู่ในอวกาศ ซึ่ง ดร.เล ซวน ฮวี (Le Xaun Huy) หัวหน้าแผนกออกแบบระบบอวกาศ ศูนย์ดาวเทียมฯ กล่าวว่า เครื่องดังกล่าวจำลองสภาพต่างๆ ที่ดาวเทียมจะได้เจอในอวกาศ ทั้งสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำหรืออุปกรณ์จำลองสนามแม่เหล็กโลก โดยทีมวิจัยได้พัฒนาทั้งเครื่องจำลองและซอฟท์แวร์ประมวลผลเอง

ทั้งนี้ ศูนย์ดาวเทียมเวียดนามมีประสบการณ์ในการส่งดาวเทียมขนาด 1 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจร และกำลังวางแผนในการส่งดาวเทียมหนัก 10 กิโลกรัมและ 50 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจรในปีหน้าหรือปี ค.ศ.2017 ซึ่ง ดร.ซวน ฮวี ระบุว่าการจำลองสภาพดาวเทียมในอวกาศนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมก่อนส่งดาวเทียม

ด้าน ดร.อุเทน แสวงวิทย์ นักดาราศาสตร์จาก สดร.ซึ่งร่วมเดินทางไปเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษภายใต้โครงการอบรมด้านดาราศาสตร์ฯ ให้นิยามสั้นๆ ถึงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่เวียดนามพัฒนาขึ้นเองว่า “ไม่หวือหวา แต่น่าทึ่ง” และใช้งานได้จริง ซึ่งอุปกรณ์หลายอย่างสำหรับในเมืองไทยอาจมองว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง และต้องซื้อหรือนำเข้าเท่านั้น แต่นักวิจัยเวียดนามสามารถพัฒนาใช้เองได้ภายใต้ข้อจำกัด
ดร.เล ซวน ฮวี นำ รศ.บุญรักษา และ ดร.อุเทนชมเครื่องจำลองสภาพดาวเทียมในอวกาศที่ผลิตโดยนักวิจัยเวียดนาม
ในการเยือนเวียดนามครั้งนี้ สดร.ยังได้มีลงนามความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ระหว่างสถาบันฯ และศูนย์ดาวเทียมเวียดนามด้วย ซึ่ง รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร.ระบุว่า เป็นการลงนามความร่วมมือระหว่างเวียดนามทางด้านดาราศาสตร์เป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งศูนย์ดาวเทียมเวียดนามที่ทำงานด้านอวกาศคล้ายคลึงสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ของไทยมีความประสงค์จะพัฒนาในด้านดาราศาสตร์มากขึ้น จึงได้ประสานงานและเกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น ซึ่ง สดร.เองประสงค์จะให้เกิดการพัฒนาดาราศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน
เครื่องจำลองสภาพดาวเทียมในอวกาศที่ผลิตโดยนักวิจัยเวียดนาม
“ในเรื่องดาวเทียมเขาทำงานคล้าย สทอภ.ของเรา ใช้ดาวเทียมสังเกตสภาพโลก ติดตามการตัดไม้ทำลาย ติดตามการใช้พื้นที่ การใช้ที่ดิน ซึ่งเขาได้พัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก อนาคตเขาจะใช้ดาวเทียมในการศึกษาสภาพอวกาศและต่อไปจะเชื่อมโยงทางด้านดาราศาสตร์ด้วย เพราะฉะนั้นในอนาคตจะมีความร่วมมือทางด้านการวิจัยดาราศาสตร์ระหว่างนักวิจัยไทยและเวียดนาม และมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้วย” ผอ.สดร.กล่าว
ศ.ดิง วัน ซุง นำชมเครื่องผลิตเลเซอร์ย้อมแสงเพื่อศึกษาชั้นโอโซน
รศ.บุญรักษายังกล่าวถึงข้อเสนอแก่ ผศ.ดร.ฝ่าม แองห์ ต๋วน (Pham Anh Tuan) ผู้อำนวยการศูนย์ดาวเทียมเวียดนาม ซึ่งร่วมลงนามความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ระหว่างไทยและเวียดนามว่า สดร.กำลังจัดตั้งอุทยานดาราศาสตร์ ซึ่งจะเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสถาบันฯ ที่มีความพร้อมทั้งห้องปฏิบัติการและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนักวิจัยและนักศึกษาจากเวียดนามสามารถไปฝึกอบรมได้ และสถาบันฯ เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นศูนย์อบรมดาราศาสตร์ระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
เครื่อง LIDAR
โอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ถามความเห็นจาก ดร.ฝ่าม หง็อด เดียบ (Pham Ngoc Diep) หัวหน้าแผนกดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ศูนย์ดาวเทียมฯ ถึงประโยชน์ที่คาดว่าเวียดนามจะได้รับ ซึ่งเขาบอกว่าความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวแรกที่จะได้เรียนรู้ความก้าวหน้าทางด้านดาราศาสตร์จาก สดร. ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี เครื่องมือ เครือข่ายและกำลังคน โดยทางศูนย์ดาวเทียมเวียดนามก็สนับสนุนให้ทีมของเวียดนามได้ทำงานร่วมกับ สดร.

ในส่วนของการศึกษาดาราศาสตร์ฟิสิกส์ของศูนย์ดาวเทียมนั้น ดร.หง็อด เดียบ ระบุว่า จะเน้นการศึกษาทางด้านดาราศาสตร์วิทยุ โดยอาศัยข้อมูลจากกล้องวิทยุขนาดใหญ่อัลมา (Atacama Large Millimeter/submillimeter Array: ALMA) ในชิลี โดยใช้วิธีซื้อข้อมูลรายปี ซึ่งเพียงพอสำหรับการทำงานวิจัย และในแผนกดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มีนักวิจัยระดับปริญญาเอก 7 คน และนักศึกษาปริญญาเอกอีก 1 คนนัั้น ได้ใช้ข้อมูลกล้องดาราศาสตร์วิทยุอัลมา เพื่อศึกษาดาวอายุน้อย ดาวอายุมาก รวมถึงระยะเริ่มต้นของเอกภพ และใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุของหอดูดาวเฮย์สแตค (Haystack Observatory) ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เพื่อใช้ศึกษาดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ รวมถึงแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุในอวกาศด้วย
แบบจำลองย่อส่วนของหอดูดาววิทยุ ALMA ในชิลี
เวียดนามเองยังมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร โดย ดร.ฝ่าม หง็อด ระบุเหตุผลที่เวียดนามเน้นศึกษาทางด้านดาราศาสตร์วิทยุเนื่องจากเวียดนามอยู่ในเขตมรสุมที่่มีเมฆปกคลุมอยู่ตลอดทั้งปี จึงเป็นอุปสรรคต่อการใช้กล้องโทรทรรศน์เชิงแสง แต่เมื่อร่วมมือกับ สดร.ก็คาดว่าจะได้ใช้ประโยชน์กล้องโทรทรรศน์เชิงแสงขนาด 2.4 เมตรของไทย และเวียดนามก็กำลังจะสร้างหอดูดาวทีี่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซ็นติเมตร แต่มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา มากกว่าใช้ประโยชน์ด้านการวิจัย

ด้าน ดร.อุเทน ให้ความเห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากความร่วมมือทางด้านดาราศาสตร์ระหว่างไทยและเวียดนามว่า ทั้งสองประเทศยังมีกลุ่มวิจัยที่เล็ก และต่างมีความเชี่ยวชาญคนละด้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนกัน อย่างการศึกษาด้านดาราศาสตร์วิทยุนั้นเวียดนามไปไกลกว่าไทย และได้เข้าร่วมในกลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากกล้องอัลมา โดยได้รับการอบรมจากประเทศที่เจริญในด้านนี้มากๆ อย่างจีน เกาหลีและญี่ปุ่น จึงเป็นไปได้ว่าไทยอาจส่งนักศึกษามาทำงานในด้านดังกล่าวเป็นเวลา 2-3 เดือน ขณะเดียวกันเวียดนามจะได้ประโยชน์จากไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านดาราศาสตร์เชิงแสงมากกว่า

“ตอนนี้การพัฒนาดาราศาสตร์ของเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และได้รับทั้งความสนใจและการสนับสนุน แต่ก่อนหน้านี้ก็คล้ายๆ กับไทยที่ไม่ค้อยได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน ทำให้นักวิจัยหันไปทำงานด้านทฤษฎีกันมากเพราะไม่ต้องใช้เครื่องมือมาก แต่ในขณะนี้ เริ่มมีเงินลงทุนจากรัฐบาล ซึ่งจะทำให้งานวิจัยทางด้านนี้ไปได้เร็วขึ้น นอกจากนี้การสร้างอุปกรณ์ต่างๆ ยังเป็นการพัฒนาทางด้านกำลังคนด้วย ทั้งด้านเทคโนโลยี วิศวกรรมและเทคนิค ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาทางด้านอื่นๆ ด้วย” ดร.อุเทนให้ความเห็น

นอกจากนี้ รศ.บุญรักษา พร้อมคณะจาก สดร.ยังได้หารือร่วมกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮานอย (Unversity of Science and Technology of Hanoi) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลฝรั่งเศส และผลิตบัณทิตทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับปริญญาโทถึงปริญญาเอก โดย สดร.ซึ่งทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยประมาณ 15 มหาวิทยาลัย ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนากำลังคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย และพร้อมสนับสนุนให้นักศึกษาจากฮานอยไปฝึกงานที่ สดร.โดยมีนักวิจัยไทยหรือเวียดนามเป็นที่ปรึกษาได้
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม
“สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ของเราสามารถที่จะพัฒนาคนได้ครบวงจร โดยมีความดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือ ที่ทำให้คนสนใจและเก่งทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี สดร.มีการประชาสัมพันธ์ปรากฏการณ์ดาราศาตร์ต่างๆ เช่น ฝนดาวตก ซึ่งทำให้คนสนใจและรักวิทยาศาสตร์ก่อน เสร็จแล้วก็ให้การศึกษาอย่างที่ได้ทำในประเทศไทยและที่กำลังร่วมมือกับเวียดนาม เมื่อจบแล้วก็สนับสนุนให้เขาทำวิจัย ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับทั่วไป ระดับสนับสนุนการศึกษาและระดับวิจัย” รศ.บุญรักษากล่าว

ส่วน ดร.อุเทนระบุว่า มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ฯ ตรงนี้เป็นมหาวิทยาลัยค่อนข้างใหม่และเปิดมาได้ 5-6 ปี และมีอาจารย์ที่ได้รับเงินเดือนจากเงินภาษีของฝรั่งเศสมาสอนโดยตรง แต่ก็มีความท้าทายที่มหาวิทยาลัยต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเองภายใน 10 ปี และอาจารย์ฝรั่งเศสจะน้อยลงตามงบประมาณสนับสนุนที่น้อยลงด้วย ทางมหาวิทยาลัยจึงต้องหาความร่วมมือกับต่างชาติ ซึ่งไทยที่เป็นประเทศใกล้เคียงจะสามารถส่งบคุลากรมาแลกเปลี่ยนได้ และไทยอาจส่งบคุลากรมารวมอบรมในบ้างโครงการทางด้านอวกาศที่ไทยยังไม่มีองค์ความรู้ เช่น โครงการใช้การ์ดจอประมวลข้อมูลที่เก็บจากอวกาศ ซึ่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ฯ กำลังจะเริ่มต้น
ดร.อุเทน แสวงวิทย์







กำลังโหลดความคิดเห็น