ไชน่าเดลี - จีนเริ่มใช้งานกล้องโทรทรรศน์วิทยุสำรวจอวกาศใหญ่สุดในโลกแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน
รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายนนี้ กล้องโทรทรรศน์วิทยุสำรวจอวกาศ ฟาสต์(fast)ของจีน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มใช้งานแล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำกล่าวกับไชน่าเดลี่ว่า นักวิทยาศาสตร์ต่างชาติจะได้รับเชิญให้มาใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์นี้ด้วย
กล้องโทรทรรศน์ฟาสต์ "ดวงเนตรเผยความลับจักรวาล" นี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร ซึ่งเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 30 สนาม ตั้งอยู่กลางหุบเขาในอำเภอผิงถัง มณฑลกุ้ยโจว มีขนาดใหญ่กว่ากล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่หอดูดาวอาเรซีโบในเปอร์โตริโกซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 300 ม. สร้างขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์และมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ (NSF)
เมื่อวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังได้ส่งสาส์นแสดงความยินดีกับคณะนักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมสร้างกล้องฟาสต์แห่งนี้ อีกทั้งกล่าวว่า การเปิดโครงการฟาสต์ คือความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์จีน และมีนัยยะสำคัญมากกับกลยุทธการผลักดันนวัตกรรมชาติ
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า กล้องโทรทรรศน์ฟาสต์ จะค้นหาคลื่นความโน้มถ่วง เพื่อตรวจสอบการปล่อยคลื่นวิทยุจากดวงดางอื่นๆ ในกาแลคซี อีกทั้งจับสัญญาณชีวิตนอกโลก
เฉียน ไล่ นักวิจัยฯ จากศูนย์สังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ หน่วยงานใน สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ CAS (Chinese Academy of Sciences) กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของฟาสตร์คือการค้นหาอารยธรรมอื่นในจักรวาล
นายเจ้อ เสี่ยวเหนียน ผู้อำนวยการสถานีหอดูดาวแห่งสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่า ฟาสต์ มีศักยภาพมากขึ้นในการค้นหาดวงดาวต่างๆ ในท้องฟ้า ค้นหาแหล่งที่มาและการเปลี่ยนแปลงในจักรวาล สัญญาณการสื่อสารระหว่างดวงดาว รวมถึงแสวงหาอารยธรรมนอกอวกาศด้วย
จาง ซู่ซิน รองผู้จัดการทั่วไปของโครงการฯ กล่าวว่า เทคโนโลยีของฟานตร์เป็นสิ่งที่ยังใหม่มากสำหรับพวกเรา และยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงพัฒนาอีก ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และพัฒนาวิธีการเพื่อความแม่นยำเที่ยงตรง และนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติสามารถดำเนินการวิจัยฯ ที่ฟาสต์ได้ หากจุดที่ยังต้องปรับปรุงเหล่านี้ลุล่วงแล้ว ซึ่งอาจจะประมาณ 3 - 5 ปี ที่สามารถรับประกันความสมบูรณ์ทางศักยภาพของฟาสต์