ในคอลัมน์นี้ผมจะขอแนะนำอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพา จากประสบการณ์ที่ได้รับอุปกรณ์มาทดลองใช้งาน ซึ่งมีทั้งที่ขายในประเทศและขายในต่างประเทศ แต่ก่อนอื่นจะขออธิบายก่อนว่า เจ้าอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพาคืออะไร
อุปกรณ์ตามดาวแบบพกพา คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่สำหรับการถ่ายภาพดวงดาวแบบติดตามวัตถุท้องฟ้า ที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก โดยการใช้งานเพียงติดตั้งอุปกรณ์ตามดาวบนขาตั้งกล้อง ร่วมกับกล้องถ่ายภาพ ก็สามารถใช้งานได้แล้ว อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ตามดาวจะไม่สามารถตามดาวได้ หากผู้ใช้ไม่เข้าใจการปรับมุมองศาให้อุปกรณ์ตามดาวชี้ไปยังเข้าเหนือของท้องฟ้าได้ถูกต้อง ตามกฎการเคลื่อนที่ตามของทรงกลมท้องฟ้านั่นเอง
สิ่งที่นำใช้ในการพิจารณาอุปกรณ์ตามดาวครั้งนี้
สำหรับสิ่งที่เราจะนำมาใช้ในการให้คะแนนและตัดสินว่า อุปกรณ์ตามดาวแบบใดบ้างที่จะชนะใจ เหล่านักถ่ายดาวนั้น มีดังนี้ครับ
1. การใช้งานต้องง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก
2. น้ำหนักอุปกรณ์
3. ความแม่นยำในการติดตามวัตถุท้องฟ้า
4. ความสามารถในการรับน้ำหนักกล้องถ่ายภาพ
5. ราคา และความคุ้มค่า
ในครั้งนี้ เราจะใช้คุณสมบัติทั้ง 5 ข้อนี้ ในการตัดสินว่าอุปกรณ์ตัวใดที่น่าจะเป็นตัวที่ตอบโจทย์ของเหล่านักถ่ายภาพดาราศาสตร์กันมากที่สุด แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนนะครับว่า ผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับแต่ละยี่ห้อนะครับ โดยอุปกรณ์แต่ละตัวก็มีคุณลักษณะเด่นเฉพาะตัวแตกต่างกันไป โดยผมจะเสนอในความคิดเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์การใช้งานทั่วไป เอาหล่ะมาเริ่มกันเลยครับ
1. Nano Tracker
สำหรับอุปกรณ์ตัวแรกนี้ มีชื่อว่า Nano Tracker ถือเป็นอุปกรณ์ตัวที่เล็กที่สุด สามารถรับน้ำหนักได้สูงสุด 2 กิโลกรัม แต่มีน้ำหนักอุปกรณ์เพียง 70 กรัมเท่านั้น โดยการใช้งานตัวอุปกรณ์จะมีช่องเล็งดาวเหนืออยู่บริเวณมุมล่างของตัวอุปกรณ์ เพื่อใช้ทำ Polar Alignment ส่วนตัวผมคิดว่าเหมาะที่จะใช้กับกล้องถ่ายภาพที่มีขนาดเล็กไม่หนักมาก ใครใช้กล้องถ่ายภาพประเภทมิลเลอร์เลส (Mirrorless Camera) ตัวนี้ใช้ได้ครับ
นอกจากนี้ Nano Tracker ยังสามารถปรับความเร็วการเคลื่อนที่ตามอัตราการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้าได้ถึง 3 ระดับ ทั้งการเคลื่อนที่ของดาว ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ได้ และสามารถใช้งานได้ซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ โดยใช้พลังงานจากถ่านไฟฉายขนาด AA เพียง 3 ก้อน
ราคาโดยประมาณ 5,000 บาท (ทั้งนี้ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)
“สำหรับจุดเด่นของเจ้าตัวนี้ก็คือ” เล็ก เบา พกพาสะดวกครับ
2. iOptron Sky Tracker
ตัวที่สองนี้ เป็นอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพาที่มีตัวแทนจำหน่ายในไทยที่เอาเข้ามาขายให้เห็นกันอยู่บ้าง สามารถรับน้ำหนักได้สูงสุด 3.5 กิโลกรัม โดยในชุดอุปกรณ์จะประกอบไปด้วยตัวตามดาว ฐานที่สามารถปรับมุมเงย (Altitude) และมุมทิศ (Azimuth) ซึ่งปรับได้แบบละเอียดที่ติดมาพร้อมกับตัวตามดาว และมีช่องเล็งดาวเหนือ เข็มทิศ มาในตัวอุปกรณ์ รวมทั้งกล้องสำหรับเล็งดาวเหนือแถมมาให้ เพื่อให้สามารถทำ Polar Alignment ได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถใช้งานได้ซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ โดยใช้พลังงานจากถ่านไฟฉายขนาด AA เพียง 4 ก้อน และทำงานได้ต่อเนื่องถึง 24 ชั่วโมง
ขนาดของตัวอุปกรณ์จัวนี้อาจจะดูใหญ่ไปสักนิดหากในกระเป๋าคุณมีพื้นที่ว่างพอ ตัวนี้ถือเป็นตัวที่มีอุปกรณ์มาให้ครบเกือบทุกอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องมีหัวขาตั้งกล้องแบบ Geared Head เพราะมีฐานที่ปรับมุมได้ติดมาในตัวเรียบร้อยแล้ว
แต่ในการใช้งานในสถานที่ หรือตำแหน่งละติจูดต่ำๆ ในบางมุมเมื่อต่อกล้องเข้ากับอุปกรณ์ อาจติดหรือชน กับฐานบ้างซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของเจ้านี้
ราคาโดยประมาณ 15,000 บาท (ทั้งนี้ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)
“สำหรับจุดเด่นของอุปกรณ์ตัวนี้คือ” มีฐานที่สามารถปรับมุมเงย และมุมทิศ ที่ติดมาพร้อมกับตัวตามดาว รวมทั้งมีกล้องสำหรับเล็งดาวเหนือแถมมาให้ ทำให้สะดวกในการใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมอุปกรณ์อื่นๆ และสามารถรับน้ำหนักกล้องใหญ่ๆได้ดี
3. Vixen Polarie Star Tracker
ตัวที่สามนี้ มีชื่อว่า Vixen Polarie Star Tracker เท่าที่หาข้อมูลยังยังพอมีตัวแทนจำหน่ายในไทย โดยอุปกรณ์ตัวนี้จะขนาดเล็กพกพาสะดวก สามารถรับน้ำหนักได้สูงสุด 2.0 กิโลกรัม ซึ่งปรับความเร็วการเคลื่อนที่ตามอัตราการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้าได้ถึง 3 ระดับ ทั้งการเคลื่อนที่ของดาว ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ได้ละเอียด รวมทั้งสามารถใช้งานได้ซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ โดยใช้พลังงานจากถ่านไฟฉายขนาด AA เพียง 2 ก้อน ทำงานต่อเนื่องได้ถึง 4 ชั่วโมง
โดยอุปกรณ์ตัวนี้จะมีช่องเล็งดาวเหนือมาในตัวอุปกรณ์ ด้านข้างอุปกรณ์มีสเกลบอกมุมเงยติดมาให้ในตัวพร้อมทั้งไฟสีแดง เพื่อช่วยในการปรับในเวลากลางคืน นอกจากนั้นในการทำ Polar Alignment แบบละเอียดของเจ้าตัวนี้ เราจำเป็นต้องซื้อกล้องเล็งดาวเหนือเพิ่มเติม แต่ถือว่าเป็นกล้องเล็งดาวเหนือที่คุ้มค่าคุ้มราคา เพราะเป็นกล้องที่สามารถตั้งค่าตำแหน่งดาวเหนือตามวัน เวลา และตำแหน่งของผู้ใช้งาน ได้อย่างละเอียดถูกต้องมากๆ
ในการใช้งานกล้องเล็งดาวเหนือจะใส่ตรงกับแกนหมุนของตัวตามดาวพอดี ทำให้การทำ Polar Alignment มีความแม่นยำมาก(ตรงนี้เป็นจุดเด่นของเจ้าตัวนี้เลย) และสิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่าง คือการหมุนของมอเตอร์ที่ละเอียดแม่นยำมาก สำหรับการใช้งานที่ละเอียดและรวดเร็วผมแนะนำว่า ควรใช้ร่วมกับหัวขาตั้งกล้องแบบ Geared Head เพื่อช่วยให้การปรับกล้องเล็งดาวเหนือได้สะดวกแม่นยำขึ้น
ราคาโดยประมาณ 16,000 บาท (ทั้งนี้ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)
“สำหรับจุดเด่นของอุปกรณ์ตัวนี้คือ” น้ำหนักเบา ขนาดไม่ใหญ่มาก พกพาสะดวก รับน้ำหนักได้ดี และมีความแม่นยำสูง
4. Takahashi Teegul Sky Patrol
ตัวสุดท้ายนี้จะมีราคาค่อนข้างสูง แต่สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานเพื่อรับน้ำหนักกล้องถ่ายภาพได้ดีมาก โดยสามารถรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 5.0 กิโลกรัม นอกจากนั้นยังสามารถปรับความเร็วการเคลื่อนที่ตามอัตราการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้าได้ 3 ระดับ ทั้งการเคลื่อนที่ของดาว ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ รวมทั้งสามารถใช้งานได้ซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ โดยใช้พลังงานจากถ่านไฟฉายขนาด AA เพียง 4 ก้อน
สำหรับอุปกรณ์ตัวนี้ไม่มีช่องเล็งดาวเหนือติดมาให้นะครับ โดยในการใช้งานต้องประกอบกล้องเล็งดาวเหนือก่อนในการทำ Polar Alignment ซึ่งมีมาให้ในชุดอุปกรณ์ตามดาว ทำให้ต้องใช้เวลานิดหน่อยในการประกอบอุปกรณ์ ทั้งตัวกล้องเล็งดาวเหนือ และตัวสั่งงานมอเตอร์ สำหรับการใช้งานที่ละเอียดและรวดเร็วผมแนะนำว่า ควรใช้ร่วมกับหัวขาตั้งกล้องแบบ Geared Head เพื่อช่วยให้การปรับกล้องเล็งดาวเหนือได้สะดวกแม่นยำขึ้น
อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ตัวนี้ยังสามารถเพิ่มเติมอุปกรณ์บาลานซ์น้ำหนัก เพื่อให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีน้ำหนักมากๆได้ถึง 5 กิโลกรัม และนอกจากนั้นตัวมอเตอร์ตามดาวยังสามารถเร่งความเร็วของมอเตอร์ได้ เพื่อประโยชน์ในการจัดองค์ประกอบภาพได้ซึ่งอุปกรณ์ตัวอื่นๆไม่มี ส่วนในด้านความละเอียดและความแม่นยำในการตามดาว ตัวนี้ถือว่าทำงานได้ดี มอเตอร์ทำงานได้ละเอียดแม่นยำ แต่การทำ Polar Alignment อาจทำให้ไม่สะดวกเท่าไรเนื่องจากตัวกล้องเล็งดาวเหนือเล็กและเล็งหาดาวเหนือยากสักหน่อย
ราคาโดยประมาณ 25,000 บาท (ทั้งนี้ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)
“สำหรับจุดเด่นของอุปกรณ์ตัวนี้คือ” รับน้ำหนักได้มาก ปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นได้หลากหลาย และมีความแม่นยำ
อุปกรณ์ตามดาวแบบพกพาตัวไหน คือผู้ชนะใจนักถ่ายดาวในครั้งนี้
สำหรับอุปกรณ์ที่คว้าตำแหน่งขวัญใจนักถ่ายดาวแบบพกพาในครั้งนี้คือ Vixen Polarie Star Tracker โดยมีจุดเด่นในเรื่อง ขนาดที่พกพาสะดวกตามโจทย์ในครั้งนี้ รวมทั้งมีความแม่นยำในการตามดาวมากที่สุด เนื่องจากการทำ Polar Alignment ทำได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ตอบโจทย์การถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล SLR แบบทั่วไปที่มักถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าแบบมุมกว้าง นอกจากนี้ยังใช้แหล่งพลังงานจากถ่านไฟฉายขนาด AA ที่หาซื้อได้ทั่วไป รวมทั้งราคาที่สมเหตุสมผล
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน