xs
xsm
sm
md
lg

5 ปี “จูโน” สู่วงโคจรดาวพฤหัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองยานจูโนที่มุ่งหน้าสู่ดาวพฤหัสฯ (NASA/JPL-Caltech)
5 ปีในการท่องอวกาศของยาน “จูโน” ไม่สูญเปล่า เมื่อเข้าสู่วงโคจรดาวพฤหัสฯ ได้สำเร็จ ความท้าทายต่อไปของยานอวกาศนาซาคือศึกษาดาวเคราะห์ก๊าซขนาดยักษ์เพื่อทำความเข้าใจในกระบวนการและปัจจัยเริ่มต้นขณะเริ่มกำเนิดระบบสุริยะ

ช่วงเวลา “อยู่หรือไป” ของยานอวกาศจูโน (Juno) ผ่านไปด้วยดี ท่ามกลางการลุ้นระทึกของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการภายในห้องควบคุม ณ ห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ร่วมลุ้น

เข้าสู่วงโคจรราชาดาวเคราะห์

หลังเครื่องยนต์หลักของจูโนจุดระเบิดเพื่อลดความเข้าเร็วเข้าสู่วงโคจรดาวพฤหัสเมื่อเวลา 11.18 น. ของวันที่ 5 ก.ค.2016ตามเวลาประเทศไทยเป็นไปอย่างราบรื่น โดยก่อนจุดระเบิดเครื่องยนต์เพื่อลดความเร็วเข้าสู่วงโคจรนั้นยานเดินทางด้วยความเร็ว 209,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อีก 35 นาทีต่อมาข้อมูลยืนยันชัดเจนว่ายานอวกาศไร้คนขับของนาซาเข้าสู่วงโคจรของดาวก๊าซยักษ์แล้ว ซึ่งภาพแสดงความยินดีปรีดาถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์หลักของนาซาไปทั่วโลก

ยานจูโนถูกส่งจากโลกขึ้นไปตั้งแต่ 5 ส.ค.2011 เพื่อศึกษาดาวพฤหัสฯ พร้อมไขปริศนากำเนิดระบบสุริยะ โดยนาซาระบุว่า ลึกลงไปใต้เมฆหนาที่ปกคลุมดาวก๊าซยักษ์ดวงนี้ มีความลับของกระบวนการและปัจจัยเริ่มต้นที่ควบคุมระบบสุริยะของเราระหว่างก่อกำเนิด

นาซาระบุอีกว่า ความเข้าใจในดาวเคราะห์ก๊าซขนาดยักษ์เพื่อนบ้านเรานี้ จะเป็นองค์ความรู้สำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจระบบดาวเคราะห์นอกระบบที่พบในระบบดาวฤกษ์อื่นๆ

“เราไปถึงที่นั่นแล้ว เราอยู่ในวงโคจร เราพิชิตดาวพฤหัสฯ มันเกือบเหมือนความฝันที่เป็นจริง” เอเอฟพีระบุคำพูดของ สก็อตต์ โบลตัน (Scott Bolton) หัวหน้าทีมศึกษาในโครงการของนาซา จากสถาบันวิจัยเซาธ์เวสต์ (Southwest Research Institute) ในซานอันโตนิโอ เท็กซัส สหรัฐฯ

หลังถูกส่งจากฐานปล่อยจรวดในแหลมคานาเวอรัล ฟลอริดา เมื่อ 5 ปีก่อน ยานจูโนเดินทางเป็นระยะทางถึง 2.7 พันล้านกิโลเมตร เพื่อเข้าสู่วงโคจรดาวพฤหัส และเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจหลักนาน 20 เดือนหลังจากนี้

ติด 9 อุปกรณ์ค้นคำตอบกำเนิดระบบสุริยะ

เอเอฟพีระบุว่า นับจากนี้นักวิทยาศาสตร์จะหาคำตอบว่าดาวพฤหัสฯ มีน้ำอยู่มากเท่าไร และศึกษาองค์ประกอบของแกนกลางดาวเคราะห์เพื่อหาคำตอบว่าดาวก๊าซยักษ์และดาวเคราะห์อื่นๆ รวมทั้งโลกนั้น กำเนิดขึ้นมาอย่างไรเมื่อหลายพันล้านปีก่อน

“เอกภพอันอัศจรรย์ที่เราเห็นนี้ เป็นไปและกำเนิดขึ้นมาอย่างไร นั่นเป็นหนึ่งในเรื่องอัศจรรย์ของการทำงานให้นาซา และการทำงานในโครงการใหญ่ คุณต้องหาคำตอบให้คำถามที่สำคัญ” สตีฟ เลวิน (Steve Levin) นักวิทยาศาสตร์โครงการของนาซาให้ความเห็น

ทั้งนี้ จูโนได้รับการติดตั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์ไปบนยาน 9 อุปกรณ์ ซึ่งมีกล้องบันทึกภาพรวมอยู่ด้วย โดยหน้าที่หลักของกล้องคือบันทึกภาพวิดีโอของดาวพฤหัสและดวงจันทร์บริวารทั้งหลายขณะโคจรไปรอบๆ ด้วยความเร็วต่างกัน

“ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้เห็นจริงๆ ว่าการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้าผ่านกันนั้นเป็นอย่างไร นี่คือราชาของระบบสุริยะของเรา และบริวารทั้งหมดก็เคลื่อนที่ไปรอบๆ สำหรับผมนี่มีความสำคัญมาก เราได้เห็นวิดีโอของจริง เราได้เห็นภาพจริงๆ การเคลื่อนไหวเหล่านี้เราเคยได้แต่จินตนาการมันขึ้นมาจนกระทั่งวันนี้” โบลตันกล่าวระหว่างเปิดวิดีโอการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์รอบๆ ดาวพฤหัสฯ

ทั้งนี้ ไม่มีอุปกรณ์หลักบนยานจูโนตัวใดที่ถูกปิดเครื่องระหว่างการเข้าหาดาวพฤหัส แต่เอเอฟพีอ้างคำแถลงของนาซาว่า ภาพหลังการเข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสภาพแรกที่บันทึกด้วยกล้องบนยานจะส่งมาถึงโลกในอีก 2-3 วันข้างหน้า

การโคจรรอบดาวพฤหัสฯ ช่วงแรกของยานจูโนจะใช้เวลา 53 วัน หลังจากนั้นจะลดเวลาลงเหลือ รอบละ2 สัปดาห์ โดยยานอวกาศของนาซาจะโคจรรอบดาวเคราะห์ก๊าซที่อยู่ลำดับที่ 5 ของระบบสุริยะ 37 รอบ ก่อนจะพลีชีพด้วยการพุ่งชนดาวพฤหัสในปี 2018

การโหม่งดาวพฤหัสเพื่อจบภารกิจของยานจูโนนั้น เพื่อป้องกันยานอวกาศสร้างความเสียหายต่อดวงจันทร์น้ำแข็งของดาวพฤหัสฯ ซึ่งนาซาคาดหวังว่าจะได้เดินทางไปสำรวจเพื่อค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตต่อไปในอนาคต

ภารกิจแรกส่องความลับใต้เมฆหนา

ภารกิจแรกของจูโนคือสำรวจลึกลงไปใต้เมฆหนาของดาวพฤหัสฯ โดยยานจะโคจรจากขั้วเหนือหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง แล้วเก็บตัวอย่างอนุภาคมีประจุของดาวเคราะห์กับข้อมูลสนามแม่เหล็กเป็นครั้งแรก และจะเผยให้เห็นรายละเอียดของแสงออโรราที่เห็นได้รอบแถบขั้วดาวเคราะห์ด้วยข้อมูลในย่านแสงอัลตราไวโอเลต

จูโนไม่ใช่ยานอวกาศลำแรกที่เดินทางสู่ดาวพฤหัสฯ แต่นาซาระบุว่า เส้นทางโคจรของยานอวกาศลำล่าสุดนี้จะอยู่ในระยะใกล้กว่ายานบุกเบิกอย่างยาน “กาลิเลโอ” (Galileo) ซึ่งถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 1989 โดยครั้งนี้ยานอวกาศนาซาจะโคจรอยู่ในระยะ 5,000 กิโลเมตร เหนือเมฆชั้นบน

ก่อนหน้านี้ยานกาลิเลโอพบหลักฐานของน้ำเกลือใต้ผิวดวงจันทร์ยูโรปา (Europa) แกนิมีด (Ganymede) และคาลลิสโต (Callisto) บริวารของดาวพฤหัสฯ จากนั้นยานได้จบภารกิจโดยพุ่งชนดาวเคราะห์ยักษ์เมื่อปี 2003

สำหรับชื่อยานจูโนนั้นตั้งตามชื่อเทพเจ้าของโรมัน ซึ่งเป็นภรรยาของเทพจูปิเตอร์ (Jupiter) เทพเจ้าแห่งต้องท้องฟ้าตามความเชื่อของเทพนิยายโบราณ
เจ้าหน้าที่หัวหน้าทีมปฏิบัติการโครงการจูโนแถลงความสำเร็จ (Robyn BECK / AFP)
ภาพจำลองยานจูโน (Robyn BECK / AFP)









กำลังโหลดความคิดเห็น