xs
xsm
sm
md
lg

อินเทลสนับสนุนโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(จากซ้ายไปขวา) ม.ล. ประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ ผู้จัดการโรงเรียนราชินี, นางชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนางสาวสติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กร บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสนับสนุนโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้านไอซีที และนวัตกรรมแก่เยาวชนไทย พร้อมจับมือโรงเรียนราชินี ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีของเด็กผู้หญิง ผ่านแนวการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้ด้วยโครงการ หรือ Project-based learning เพื่อนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
Safer way ทางที่ปลอดภัย
น.ส.สติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กร บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วัตถุประสงค์หนึ่งของอินเทล คือ มุ่งเน้นการเพิ่มบทบาท และพัฒนาขีดความสามารถของผู้หญิงในวงการไอที และเทคโนโลยี ดังนั้น อินเทลจึงมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ที่ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนราชินี ด้วยการสนับสนุนชุดอุปกรณ์ อินเทล กาลิเลโอ (Intel Galileo) เพื่อให้นักเรียนได้ประดิษฐ์ คิดค้น และสร้างสรรค์โครงงานต่างๆ ที่สนใจ ซึ่งอินเทล หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ช่องว่างต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างเพศหญิง เพศชาย ความห่างไกล ความยากจน ความด้อยโอกาส จะสามารถถูกเชื่อมโยงให้แคบลงได้ด้วยเทคโนโลยี และกรณีศึกษาของโรงเรียนราชินีจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการกระตุ้นให้เด็กผู้หญิงได้เข้ามาเรียนรู้ไอทีอย่างสร้างสรรค์ และหันมาสนใจไอทีมากขึ้น
เครื่องกำหนดปริมาณกระดาษชำระ
ด้าน นางชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล กรรมการ และรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า จากแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ต้องการให้นำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดช่องว่างในสังคม และด้วยการเล็งเห็นถึงความสามารถของผู้หญิงว่ามีศักยภาพด้านไอทีเทียบเท่ากับผู้ชาย ทางมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จึงได้ร่วมกับโรงเรียนราชินี ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วนในการผลักดันให้เด็กผู้หญิงได้พัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีผ่านโครงการไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นการใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ด้วยโครงการ หรือ Project-based Learning ซึ่งจะเป็นการพัฒนาให้เด็กผู้หญิงมีทักษะด้านการเขียนโปรแกรม รู้จักการคิดวิเคราะห์ และสร้างสรรค์โครงงานต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

ด้าน ม.ล.ประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ ผู้จัดการโรงเรียนราชินี กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้นำวิชาเรียนเกี่ยวกับด้านไอที และนวัตกรรมบรรจุเป็นวิชาพื้นฐานให้แก่นักเรียนตามความเหมาะสมของแต่ระดับชั้น และเมื่อพบนักเรียนที่มีความสามารถอย่างโดดเด่น หรือสนใจ จะมีชมรมที่สนับสนุนผลักดันให้นักเรียนได้คิดค้น และประดิษฐ์โครงงานต่างๆ ที่แสดงถึงความสามารถที่เฉพาะทางมากขึ้น โดยโครงงานที่นักเรียนคิดค้นขึ้นส่วนมากจะเป็นสิ่งรอบตัวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การกระตุ้น และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ประดิษฐ์คิดค้นในสิ่งที่ตนเองสนใจ จะช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะ และความสามารถด้านไอที และมีความคุ้นเคยต่อเทคโนโลยีมากขึ้น
ชุดอุปกรณ์อินเทล กาลิเลโอ
ตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จของโรงเรียนราชินี ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แก่เด็กผู้หญิง คือ ชมรมสเต็มคลับ (STEM Club) ซึ่งถือเป็นการจัดกิจกรรม Innovation Space อีกแห่งหนึ่ง ที่มุ่งเน้นแนวทางการเรียนรู้แบบ Project-based Learning ด้วยการสร้างโอกาสให้นักเรียนทำโครงงานในเรื่องที่ตัวเองสนใจ โดยทางโรงเรียนมีการจัดที่ปรึกษาทางเทคนิคให้ และจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้พัฒนา และแสดงศักยภาพด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน โดยนักเรียนได้สร้างสรรค์ผลงานมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น เครื่องเตือนอุทกภัย เครื่องตรวจจับอุณหภูมิความร้อนของร่างกาย เครื่องกำหนดปริมาณกระดาษชำระ และเครื่องช่วยคำนวณวิชาคณิตศาสตร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ความสำเร็จของโรงเรียนราชินี ผ่านการสนับสนุนจากอินเทล ถือเป็นก้าวแรกในการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงหันมาสนใจด้านไอซีที และนวัตกรรมเทคโนโลยีมากขึ้น ตามแนวทาง และจุดประสงค์ของโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และโซลูชันต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น และที่สำคัญเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทยยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น