xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.คนใหม่แห่งไบโอเทคเร่งผลักดันนวัตกรรมอาหาร-ธุรกิจจุลินทรีย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง" ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. คนใหม่ เผยวิสัยทัศน์บริหาร "เน้นนวัตกรรมอาหาร-ธุรกิจจุลินทรีย์" ชี้บุคลากรคือจุดแข็งพร้อมให้อิสระทางความคิด เร่งเดินหน้าผลักดันงานวิจัยลงหิ้งให้ภาคสังคมใช้งาน

ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่สำหรับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพราะช่วงเวลาไม่กี่เดือนนี้ มีการโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งของผู้บริหารในหลายหน่วยงานอยู่หลายเก้าอี้ ล่าสุด ดร.กัญญาวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการไบโอเทคซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 51-59 ได้สิ้นสุดวาระลง นักวิจัยอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยเกี่ยวกับดีเอ็นเอเทคโนโลยี ผู้ทำงานให้กับไบโอเทคมากว่า 24 ปีอย่าง "ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง" จึงได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.คนต่อไป

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 59 เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้มาดำรงตำแหน่ง ผอ.ไบโอเทคในวาระนี้เพราะตลอดเวลาที่ทำงานมานานกว่า 20 ปีทั้งในฐานะนักวิจัยและผู้บริหารได้เห็นศักยภาพและซึมซับความรู้ความเข้าใจของทั้งสองบริบทจึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถนำประสบการณ์ที่มีมาบริหารไบโอเทคได้

ดร.สมวงษ์ กล่าวว่า จุดแข็งของไบโอเทคอยู่ที่ความรู้ความสามารถของนักวิจัยซึ่งถือเป็นบุคลากรชั้นยอดของประเทศ เนื่องจากบุคลากรของไบโอเทคซึ่งมีอยู่ประมาณ 500 คน 180 คนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก อีก 400 คนเป็นนักวิจัยเป็นช่างเทคนิคระดับปริญญาโทผู้ได้รับทุนจากรัฐบาลไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อีกทั้งการดำเนินงานของผู้อำนวยการคนก่อน ก็เป็นระบบที่ดีทำให้นักวิจัยสามารถขับเคลื่อนไบโอเทคได้ด้วยตัวเอง แนวทางการบริหารทีมนักวิจัยนับจากนี้จึงเป็นการให้อิสระทางความคิดไม่วางกรอบมากจนเกินไป และกระตุ้นให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับทิศทางในการบริหารไบโอเทคต่อจากนี้ ดร.สมวงษ์ กล่าวว่า จะให้น้ำหนักกับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อาหารและผลักดันให้เกิดนวัตกรรมออกสู่ภาคสังคมมากขึ้น เพราะงานวิจัยด้านอาหารของไบโอเทคมีมากแต่ถูกนำไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์น้อย โดยจะบูรณาการนำงานวิจัยลงจากหิ้งไปพร้อมๆ กับการสร้างพื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์แก่สังคมที่ดี เพราะตั้งใจที่จะทำให้ไบโอเทคเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่รับรู้และเป็นที่พึ่งของสังคม และให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) เพื่อสนองตอบต่อนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้เทคโนโลยีชีวภาพเข้าไปมีส่วนสร้างและส่งเสริมอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มคุณภาพของแป้งในมันสำปะหลัง เราผลิตสายพันธุ์มันที่มีแต่คุณภาพดีได้อุตสาหกรรมก็จะดีให้เศรษฐกิจดีตรงกับความต้องการของรัฐบาล

นอกจากงานวิจัยด้านอาหาร จุลินทรีย์ก็เป็นสิ่งที่ผอ.ไบโอเทคคนใหม่ให้ความสำคัญ เพราะไบโอเทคมี ศูนย์ชีววัสดุซึ่งเป็นคลังเก็บจุลินทรีย์ที่พบในประเทศไทยมากกว่า 70,000 ชนิด และยังมีบริการรับฝาก รับซื้อขาย วิจัยและพัฒนาเชื้อเพื่อต่อยอดธุรกิจในระดับที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งในปัจจุบันกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดเพราะสามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งการนำจุลินทรีย์มาผลิตเป็นปุ๋ยคุณภาพซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าได้อย่างมหาศาล, การใช้จุลินทรีย์โปรไบโอติกในอาหารสัตว์ และอาหารคนบางประเภทเช่น อาหารหมักดอง, ซีอิ๊วหรือแหนม ไปจนถึงการใช้จุลินทรีย์เพื่อผลิตน้ำตาลอะไรพลังงานซึ่งมีราคาขายที่สูงมาก

"ที่เราให้ความสำคัญกับจุลินทรีย์เป็นเพราะเรามีฐานเก็บจุลินทรีย์ที่ค่อนข้างใหญ่และจุลินทรีย์ยังเป็นเหมือนกระบวนการที่ทำให้เราสามารถผลิตอาหารหรือยาใหม่ๆได้ดีขึ้น ส่วน 4 ปีต่อจากนี้ถ้าถามว่าอะไรจะเป็นผลงานที่เห็นเด่นชัดที่สุดในยุคของผม คงต้องเป็นเรื่องต่อยอดการเกษตร เราต้องยอมรับว่าสำหรับบ้านเรายังทิ้งระบบเกษตรไม่ได้ ผมจึงอยากผลักดันผลงานเก่าๆ ไปสู่ภาคประชาชนให้มากที่สุด ให้นวัตกรรมดีๆ เทคโนโลยีดีๆ ไปช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านมีปริมาณและมีคุณภาพสูงขึ้น " ดร.สมวงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้การแถลงข่าวเปิดตัวผู้อำนวยการคนใหม่ของไบโอเทค จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พ.ค.59 ณ อาคาร INC2 ไบโอเทค สวทช. จ.ปทุมธานี
ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ









กำลังโหลดความคิดเห็น