นักวิจัยแผ่นดินไหว สกว.ลงพื้นที่ จ.เชียงราย เปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ สอนวิศวกร-ช่างท้องถิ่นกว่า 200 คน เสริมแกร่งอาคารต้านแผ่นดินไหวภาคปฏิบัติ รับโอกาสแผ่นดินไหวแม่ลาวครบรอบ 2 ปี
แม้เแผ่นดินไหวจะไม่ใช่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยในไทย แต่การศึกษาวิจัยโดยเฉพาะด้านวิศวกรรมยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนในพื้นที่เสี่ยง แต่จะมีประโยชน์อะไรหากงานวิจัยอยู่แค่บนหิ้งหรือวารสารวิชาการ ในขณะที่วิศวกรระดับปฏิบัติงานยังคงสร้างที่อยู่ให้ชาวบ้านด้วยความรู้แบบเดิมๆ
เพื่อนำความรู้จากงานวิจัยด้านวิศวกรรมการก่อสร้างและเสริมความแข็งแกร่งอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหวที่ตกผลึกจากนักวิจัยในโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาเผยแพร่สู่สาธารณชน สกว.จึงกำหนดจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการย้อนรอยแผ่นดินไหวเชียงรายครบรอบ 2 ปีขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.) จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 28-29 เม.ย. 2559
บรรยากาศก่อนการสัมมนาเป็นไปอย่างคึกคักวิศวกร ช่างท้องถิ่น รวมถึงนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาต่อแถวลงทะเบียนแน่นขนัดก่อนจะทะยอยขึ้นสู่อาคารวิทยบริการ มทร. ห้องประชุมสโลปขนาดใหญ่โอ่อ่าที่บรรจุได้กว่า 400 ที่นั่ง ก่อนจะเริ่มการบรรยายย้อนรอยแผ่นดินไหว ที่นำไปสู่การเตรียมพร้อมรับมือสำหรับอาคารบ้านเรือนในประเทศไทย โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยหัวหน้าโครงการฯ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
ศ.ดร.อมร กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาวขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 ได้ทำลายอาคารบ้านเรือนนับหมื่นหลังในจ.เชียงราย และ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นแผ่นดินไหวในไทยที่รุนแรงที่สุด ชุดวิจัยแผ่นดินไกว สกว.ฯ ได้จัดเวทีวิเคราะห์สาเหตุ ผลกระทบ แนวทางเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวด้วยการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและเก็บข้อมูลเพื่อหาแบบการก่อสร้างเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาคารบ้านเรือนในพื้นที่เพื่อลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพราะ จ.เชียงรายยังมีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้อีก เนื่องจากตั้งบนรอยเลื่อนมีพลัง 3 แห่งอันได้แก่ รอยเลื่อนพะเยา, รอยเลื่อนแม่อิง และรอยเลื่อนแม่จันที่นักวิจัยส่วนใหญ่ลงความเห็นว่ามีศักยภาพที่สุด
สำหรับแนวทางการเสริมความแข็งแกร่งอาคารบ้านเรือนที่สร้างอยู่แล้วในพื้นที่เสี่ยง รศ.ดร.ไพบูลย์ ปัญญาคะโป นักวิจัยในชุดโครงการฯ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เผยว่า จากการลงพื้นที่ใน ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวมากที่สุดพบว่า บ้านที่ชำรุดส่วนใหญ่เกิดจากการออกแบบและสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยบ้านที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่ถล่มจะมีลักษณะคล้ายกัน คือเสาซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของบ้านแตกหักชำรุด แต่กำแพงไม่ค่อยได้รับความเสียหาย ทั้งที่ในทางวิศวกรรมผนังเป็นองค์ประกอบของบ้านที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ ทั้งที่จริงผนังมีส่วนช่วยอย่างมากในการรับแรงต้านจากด้านข้างด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.ไพบูลย์ จึงริเริ่มการวิจัยเพื่อเสริมกำลังผนังต้านแผ่นดินไหว จนได้เทคนิคและวัสดุที่เหมาะสม อันได้แก่ การใช้ตะแกรงเหล็กฉีกเบอร์ 22 ควบคู่กับการใช้อุปกรณ์ยึดที่ทดสอบแล้วว่าสามารถรับแรงเครียดและแรงเค้นได้ดีที่สุด ซึ่งวิธีดังกล่าวได้นำมาสาธิตเพื่อให้เหล่าวิศวกรได้ชมกันด้วย
"การจะเสริมกำแพงรับแรงแผ่นดินไหวอันดับแรกที่ต้องรู้ก่อนคือ จุดอ่อนของตัวบ้านว่าอยู่ตรงที่ใด เพราะบ้านแต่ละภาคมีทรงไม่เหมือนกัน อย่างบ้านภาคเหนือจะมีลักษณะยกสูงแต่ใต้ถุนเตี้ย เสาตอม่อด้านบนยาวน้อยกว่าด้านล่างลักษณะแบบนี้จุดอ่อนจะอยู่ที่เสาเพราะบ้านด้านบนได้รับแรงมากกว่ามันจะโยกให้เสาแตก ฉะนั้นต้องเสริมกำลังเสาด้วยการเพิ่มเหล็กล้อม ทั้งจำนวนเหล็กและขนาดเหล็ก หรือการพอกเสา แต่ถ้าเป็นบ้านที่อยู่ติดดิน จุดอ่อนจะอยู่ที่ผนัง เพราะโครงสร้างทั้งส่วนบนและล่างรับแรงพร้อมกัน หากผนังเปราะเสาก็จะแตกง่าย ฉะนั้นควรเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับผนังด้วยการใช้เหล็กฉีกคู่กับหมุดยึด ซึ่งใช้ได้ดีและไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมาก" รศ.ดร.ไพบูลย์ เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ส่วนการออกแบบก่อสร้างอาคารใหม่ในพื้นที่เสี่ยง รศ.ดร.ไพบูลย์ เผยว่า จำเป็นต้องออกแบบตามมาตรฐานอาคารป้องกันแผ่นดินไหวอย่างเคร่งครัด โดยแนะนำเทคนิคจากงานวิจัย 2 วิธี ได้แก่ การผูกเหล็กปลอกคุมแนวเหล็กเส้นให้ถี่โดยเฉพาะแนวด้านโคนและปลายของเสา เพราะเหล็กปลอกจะช่วยการดัดเบียดแตกของซีเมนต์เมื่อได้รับแรงสั่นสะเทือน โดยเหล็กปลอกที่ใช้จะต้องเป็นแบบพิเศษทำมุม 135 องศาเพราะเป็นองศาที่ผ่านการวิจัยมาแล้วว่ารับแรงงัดจากการสั่นสะเทือนได้ดีกว่าเหล็กปลอกทั่วไปที่ทำมุม 90 องศา ส่วนอีกวิธีคือการต่อทาบเหล็กยืน ให้หลีกเลี่ยงการต่อที่ตำแหน่งโคนเสาเพราะเป็นส่วนที่ได้รับแสงสั่นสะเทือนโดยตรงอาจทำให้เสาคลอนได้ง่าย ทางที่ดีให้ต่อที่กึ่งกลางของความสูงเสาจึงจะปลอดภัย
หลังจบการให้ความรู้ในภาคทฤษฎี กิจกรรมที่ทุกคนรอคอยก็มาถึงสำหรับการฝึกภาคปฏิบัติ ที่ทางทีมวิจัยได้จัดให้พื้นที่ใต้อาคารหอประชุม ให้กลายเป็นโรงช่างขนาดย่อม ที่ประกอบไปด้วยฐาน 3 ฐานได้แก่ ฐานตีเหล็กปลอก, ฐานเสริมความแข็งแกร่งกำแพงด้วยตะแกรงเหล็กฉีกและตัวยึด และฐานเสริมความแข็งแกร่งเสาด้วยการผูกเหล็กปลอก โดยในขั้นตอนนี้ทีมวิจัยฯ ได้แบ่งผู้เข้าฟังออกเป็นกลุ่มๆ ตามแต่ละฐาน เพื่อให้ทุกคนได้รับความรู้อย่างทั่วถึงไปเบียดเสียดเกินไป และยังเปิดโอกาสให้ได้ฝึกฝนด้วยตัวเอง
ด้านวิศวกรผู้มาร่วมการสัมมนาอย่าง นายวิศว์ ดวงแสงทอง วิศวกรผู้ประสานงานโครงการ บริษัท พานพงษ์ไทย จำกัด กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะทำให้เห็นวิธีการทำงานและปัญหาของงานโครงสร้างโดยตรง เพราะปกติการอบรม จะอยู่ในรูปแบบการบรรยาย จึงมักไม่ค่อยเห็นภาพ โดยส่วนตัวเห็นว่าการเสริมกำลังให้กับกำแพงเป็นวิธีที่เหมาะสมกับการซ่อมแซมอาคารที่ชำรุดจากแผ่นดินไหว ส่วนการมัดเสาด้วยเหล็กปลอก เป็นสิ่งที่ต้องทำตามมาตรฐานการก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงอยู่แล้ว ทำให้เห็นว่างานวิจัยที่ สกว.นำมาถ่ายทอดเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้จริง และถ้าหากในอนาคตมีการจัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นอีกอยากให้นักวิจัยสาธิตการขึ้นกรงเสาเหล็กให้ได้ชมด้วยก็จะดีมากเพราะเป็นวิธีที่น่าสนใจต่อการเสริมกำลังต้านแผ่นดินไหว
เช่นเดียวกับ นายสถิต อุดมวัฒนศิริ ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เผยว่า การจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อวิศวกรในพื้นที่ เพราะปกติการบรรยายในพื้นที่โดยเฉพาะการจัดเวิร์คช็อปในลักษณะนี้แทบไม่เคยมี วิศวกรต้องออกไปแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองจากส่วนกลาง ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ครั้นจะอนุมัติให้วิศวกรหรือช่างท้องถิ่นเดินทางไปฟังบรรยายที่กรุงเทพก็ไม่มีใครมีเวลาและไม่มีทุนทรัพย์ การมาจัดบรรยายในครั้งนี้วิศวกรในพื้นที่จึงค่อนข้างตื่นตัว เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและเห็นพฤติกรรมจากแผ่นดินไหวโดยตรง
โดยการสาธิตการฉาบเสริมกำลังกำแพงและการมัดเหล็กปลอกถือเป็นวิธีที่ช่างทำได้ และไม่เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายมากจึงมีแนวคิดว่าจะนำความรู้จากการอบรมในครั้งนี้ไปถ่ายทอดให้กับลูกน้องในพื้นที่ปฏิบัติงานและชมรมช่างจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอยู่ใต้ปกครองอีกนับ 10 คน ส่วนในโอกาศหน้าหากมีการวิจัยหรือการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้อีกอยากให้เพิ่มการสาธิตการเสริมฐานรากและการฟื้นฟูทานในพื้นที่ที่มีความลาดชันเข้าไปด้วยเพราะจากการลงพื้นที่ในชีวิตจริงลักษณะบ้านเรือนในรูปแบบนี้ค่อนข้างมาก
ท้ายสุด น.ส.ณัชชา กันไชย นักศึกษาชั้นปีที่สองภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงราย หนึ่งในนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมเผยว่า การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่เพราะเธอเป็นแค่นักศึกษาชั้นปีที่สองบางครั้งยังไม่เคยเห็นอุปกรณ์หรือเทคนิคเฉพาะทาง โดยวันนี้เธอได้ฝึกตีเหล็กปลอก และผูกเหล็กเส้นกับอุปกรณ์สาธิตของจริงตามที่ตั้งใจ เนื่องจากแผ่นดินไหวเมื่อ 2 ปี ที่แล้วเธอเป็นผู้ประสบภัยโดยตรง