xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวทีเสวนากำหนดอนาคตทะเลระยอง รำลึก 2 ปี เหตุน้ำมันดิบรั่วไหล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ระยอง - ชาวประมงระยอง จัดเวทีเสวนารำลึก 2 ปี จากเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบรั่วไหล เพื่อกำหนดอนาคตทะเลระยอง พร้อมขอให้มีการประกาศให้พื้นที่ในทะเลอ่าวระยองห่างจากชายฝั่งกว่า 20 ไมล์ทะเล เป็นเขตควบคุมมลพิษ

วันนี้ (27 ก.ค.) ที่ทำการสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง หมู่ 9 ต.ตะพง อ.เมืองระยอง นายสำออย รัตนวิจิตร นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง พร้อมด้วยคณะกรรมการประกอบด้วย นายไพบูลย์ เล็กรัตน์ เลขาสมาคมฯ นายบรรเจิด ล่วงพ้น นายทะเบียนสมาคมฯ จัดเวทีเสวนาเพื่อกำหนดอนาคตทะเลระยอง เนื่องในวันครบรอบ 2 ปี จากเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบรั่วไหลเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 โดยเชิญ นายแสงชัย รัตน์เสรีวงษ์ นายชาญวิทธิ์ อร่ามสิทธิ์ ดร.สมรักษ์ หุตานุวัตร ดร.อาภา หวังเกียรติ ร่วมเสวนาครั้งนี้

ทั้งนี้ นายแสงชัย รัตน์เสรีวงษ์ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบรั่วไหลจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 2 ปี ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ฟื้นคืนสู่สภาพเดิมยังไม่ถึงครึ่ง ทำให้อาชีพประมงยังคงได้รับความเดือดร้อน ตะกอนน้ำมันที่ถูกสารเคมีสลายจมใต้ทะเลยังคงถูกคลื่นลมซัดเข้าชายหาดแม่รำพึงอย่างต่อเนื่องตามที่เป็นข่าว

สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในอ่าวทะเลระยองต้องหายไป มูลค่าทรัพยากรที่เสียหายจากท่อน้ำมันดิบรั่วที่ตกตะกอนจมใต้ทะเล ทำให้แหล่งเพาะพันธุ์ปลา แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เชื่อว่ายังไม่มีใครประเมินค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น จนทำให้กลุ่มประมงฟ้องเรียกค่าเสียหาย ปัญหาใหญ่

ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำอะไรอยู่ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้แต่ดำเนินการปล่อยพันธุ์ปลา กุ้งหอย ปู ฯลฯ ตราบใดที่ใต้ทะเลยังกลายเป็นแหล่งสะสมคราบน้ำ รวมทั้งของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ต่อให้ปล่อยพันธุ์ปลาต่างๆ บรรดาสัตว์น้ำที่นำไปปล่อยคงไม่อยู่รอดรอให้ประมงเข้าไปจับมาเป็นรายได้

ด้าน นายยงยุทธ ชัยศักดิ์ อายุ 43 ปี เรือลากหมึกที่ใช้เหยื่อปลอม กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบรั่วไหล ต้องนำเรือออกไปลากหมึกทิศตะวันออกของเกาะเสม็ด เกาะทะลุ และเกาะมัน ไกลมาก ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าน้ำแข็งเพิ่มมากขึ้น เสี่ยงอันตรายจากพายุลมมรสุม ต้องค้างแรมอยู่ในทะเลนานถึง 7 วัน 2 ปีที่ผ่านมา ทรัพยากรสัตว์น้ำก็ยังไม่ดีขึ้นเลย

ส่วนกรณีที่มีหน่วยงานนำพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ ปล่อยลงทะเลฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้แก่ชาวประมงได้ สิ่งที่ชาวประมงอยากได้คือ ความยั่งยืนของอาชีพ เมื่อไหร่ทะเลมีทรัพยากร ขอความอุดมสมบูรณ์ธรรมชาติกลับคืนมาเท่านั้นก็พอใจ

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายประมงได้เสนอมาตรการสำคัญในการฟื้นฟูทะเลระยองดังนี้ คือ ต้องดำเนินการเก็บตะกอนน้ำมันที่ตกค้างใต้ทะเลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามแหล่งบริเวณร่องน้ำเดินเรือ แหล่งหินใต้ทะเล แหล่งปะการัง ร่วมกับชุมชนประมงท้องถิ่น ระหว่างดำเนินการหากมีความจำเป็นต้องระงับการทำประมง หรือการทำกิจกรรมอื่นในทะเลของผู้ที่มีความจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพ

บริษัทฯ ผู้ก่อมลพิษ และหน่วยงานราชการต้องพิจารณาจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้สูญเสียโอกาสในอัตราที่เหมาะสม และเป็นธรรม ต้องมีมาตรการลดปริมาณการปล่อยสารพิษจากอุตสาหกรรมลงสู่ทะเล รวมทั้งขอให้มีการปิดอ่าว ตามกฎเกณฑ์ และเงื่อนไขของกรมประมง เพื่อลดกิจกรรมของการใช้เครื่องมือประมง โดยมีการกำหนดเขตพื้นที่ปิดอ่าวให้มีระยะที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการฟื้นฟูของทรัพยากรทะเล และสัตว์น้ำเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ให้มีการประกาศให้พื้นที่ในทะเลอ่าวระยอง ห่างจากชายฝั่งกว่า 20 ไมล์ทะเล เป็นเขตควบคุมมลพิษ



กำลังโหลดความคิดเห็น