ปัตตานี - ผลพวงจากมาตรการห้ามเรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายออกจับปลา เผยพิษลามถึงกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ปัตตานี เจ้าของเรือหลายลำไม่กล้าออกทะเลกลัวติดร่างแห โอดหน่วยงานรัฐไม่เคยดูแล แถมยังสร้างความแตกแยกให้กลุ่มประมงในอ่าวปัตตานี ครวญขอให้ชะลอการขึ้นค่าธรรมเนียมตีทะเบียนเรืออีกเท่าตัวออกไปก่อน
จากกรณีที่ทางรัฐบาลประกาศห้ามเรือประมงผิดประเภท และไม่มีใบอนุญาตออกจับสัตว์น้ำในทะเล ส่งผลให้ผู้ประกอบการเรือจำนวนมากต่างนำเรือเข้าจอดท่า โดยเฉพาะเรือประมงพื้นบ้านในพื้นที่ จ.ปัตตานี กว่า 1,000 ลำ ต้องได้รับผลกระทบจากการไม่กล้านำเรือออกจับปลาไปด้วย อีกทั้งปัญหาสัตว์น้ำในทะเลที่หายาก และต้องมาแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าน้ำมัน ค่าซ่อมแซมเรือประมง และต้องมาแบกรับภาระค่าขอขึ้นทะเบียนเรือที่ทางกรมประมง และกรมเจ้าท่าได้ขึ้นราคาจาก 200 บาทเป็น 400 บาทนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี เห็นว่า ควรจะชะลอมาตรการดังกล่าวไว้ก่อน โดยควรนำงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเป็นค่าซ่อมแซมเรือให้ประมงพื้นบ้าน รวมทั้งค่าส่งเสริมอุปกรณ์เครื่องมือทำประมงแจกจ่ายให้ชาวบ้านได้ทั่วถึงทุกชุมชนหมู่บ้าน เพราะตลอดที่ผ่านมา ไม่มีการช่วยเหลือ และมักแจกจ่ายอุปกรณ์ที่ผิดประเภท ไม่ตรงต่อความต้องการของกลุ่มทำประมงต่างๆ แบบไม่เคยสอบถามความต้องการ และข้าราชการบางคนยังจงใจให้กลุ่มชาวประมงบางพื้นที่เป็นประมงผิดกฎหมายด้วย
นายสรศักดิ์ แหล่หมัน ชาวประมงพื้นบ้าน บ้านแหลมนก ต.บานา อ.เมืองปัตตานี กล่าวว่า ประมงพื้นบ้านมีความเดือดร้อนมากจริงๆ และยังมีความแตกแยกระหว่างกลุ่มอวนลอย อวนปัก ยอพับ เบ็ด ในอ่าวปัตตานีตอนนี้เกิดความแตกแยก และทะเลาะกันเอง ส่วนกลุ่มประมงพื้นบ้านบางแห่งก็มีความพยายามจะทำให้เป็นกลุ่มผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำทะเล โดยเฉพาะอวนที่ทางกรมประมงนำมาแจกจ่ายตั้งแต่ปี 2553-57 ก็ไม่ตรงต่อความต้องการของชาวประมงพื้นบ้าน แถมการแจกจ่ายก็ยังไม่ทั่วถึง มีส่วนน้อยที่จะได้รับ และมักจะเลือกแจกจ่ายเป็นกลุ่มพรรคพวก เลือกกลุ่มพวกพ้องมากกว่า ซึ่งเป็นการเลือกที่จะให้
“ส่วนการขอขึ้นทะเบียนก็อยากให้ชะลอการขึ้นราคาจาก 200 บาท เพิ่มเป็น 400 บาทไว้ก่อน เพราะปัจจุบันปลาหาจับยาก และเรือประมงของชาวบ้านก็มีสภาพเก่าพัง โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากหน่วยที่เกี่ยวข้อง” นายสรศักดิ์ กล่าว