xs
xsm
sm
md
lg

มากกว่าหน้าที่ เพราะเราทำสิ่งนี้ด้วย "หัวใจ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลายเดือนเมษายน 2558 มหาธรณีวิบัติที่รุกคืบจู่โจมประเทศเนปาล ส่งผลให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายกันถ้วนหน้า ว่ากันว่า การสูญเสียในครั้งนั้น ไม่ต่างจากสมรภูมิสงครามแม้แต่น้อย เพียงแต่ มันคือสงครามระหว่างมนุษย์กับภัยธรรมชาติ

2 เดือนผ่านไป หลังจากเหตุการณ์ยุติลง ขณะที่ข่าวคราวการยื่นมือช่วยเหลือชาวเนปาลจากหลายองค์กรทั่วโลกเริ่มสร่างซาบนหน้าจอโทรทัศน์ ผู้คนต่างค่อยๆ พากันหลงลืมโศกนาฏกรรมครั้งนี้ไป กลับสู่ภาวะปกติ ทว่า กลับมีหญิงไทยคนหนึ่งวัย 48 ปี ที่มีชื่อว่า ฐอน รัสรินทร์ กิจชัยสวัสดิ์ ยังคงให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวเนปาลอย่างเงียบเชียบ ในมุมเบื้องหลังที่ไม่เคยคาดหวังผลตอบแทนแต่อย่างใด ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ จนสามารถแปรเปลี่ยนจากสงครามแผ่นดินไหว ให้กลายเป็นสงครามน้ำใจได้ในที่สุด

“เราไม่ทำแล้วใครจะทำ”
 
 
  “เพราะก่อนหน้านี้ ครั้งหนึ่งตอนที่พี่เคยไปเนปาล พี่เคยมีปัญหาในชีวิตเยอะมาก แต่การเดินขึ้นไปบนเทือกเขาหิมาลัย ความสูงใหญ่ ก็ช่วยให้พี่คิดได้ว่า ตัวเองตัวเล็กแค่ไหน เรากับปัญหาจริงๆ แล้ว ก็แค่เศษฝุ่นผง แล้วพอนึกได้แบบนั้น มันก็เลยทำให้วางปัญหาลงได้ อีกอย่างที่พี่คิดว่าเป็นเรื่องแปลก คือตอนที่มีโอกาสขึ้นไปอยู่บนนั้น พี่รู้สึกเหมือนกับตัวเองเคยอยู่ที่นี่มาก่อน รู้สึกเหมือนมีพระเจ้ามาโอบกอดพี่ไว้ มันสบายใจ ทุกอย่างโล่ง ทุกข์ร้อนที่เคยมีเหมือนได้รับการรักษา แล้วพอวันที่คนที่นั่นมีปัญหาบ้าง พี่ก็เลยอยากตอบแทนบุญคุณ อยากให้กำลังใจ ให้พวกเขาไม่ยอมแพ้” และนั่นคือเหตุผลให้ ฐอน รัสรินทร์ กิจชัยสวัสดิ์ ไม่อาจเมินเฉยปล่อยชาวเนปาลต้องยืนอย่างเดียวดายท่ามกลางภัยพิบัติ
 
“ตั้งแต่วันที่ 25 เมษาฯ หลังเกิดแผ่นดินไหวได้สามสี่วัน ไกด์ที่พี่รู้จักที่ทำงานอยู่ฮ่องกง แต่ตัวบ้านและครอบครัวของเขายังอยู่ในเนปาล ก็ติดต่อมาหาพี่ทางเฟซบุ๊กว่า ให้ช่วยหาคนเข้าไปช่วยในหมู่บ้านของเขาหน่อย เพราะไม่มีหน่วยงานไหนที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เลย ทุกอย่างพังหมด เพราะจังหวัด Gorka ที่เป็นหมู่บ้านของไกด์ คือจุดที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวแรงที่สุด มีคนตายเยอะที่สุด เรียกว่าเป็นจุดกำเนิดของแผ่นดินไหวครั้งนี้เลยก็ได้ แต่เขาไม่ได้ขอให้ช่วยเรื่องเงินนะคะ เขาแค่ขอให้มีหน่วยงาน องค์กร หรือมูลนิธิอะไรก็ได้เข้าไปช่วยเหลือ

เมื่อถึงคราวที่เพื่อนตกทุกข์ได้ยาก ฐอน รัสรินทร์ จึงเริ่มประสานงานไปยังนักข่าวรุ่นน้องอย่างอุ๋ย นริศรา คินิมาน ผู้สื่อข่าวช่อง 3 ให้ช่วยลงพื้นที่ตรงนี้ ไว้ในพิกัด ที่การช่วยเหลือยังไปไม่ถึง ทว่า เพราะความยากลำบากด้านการเดินทาง เนื่องจากทุกอย่างพังราบ จึงส่งผลให้ทีมข่าว และทหารไทยที่พยายามเข้าแก้ไขสุดกำลัง ล้มเหลวในการปฏิบัติภารกิจ แต่ดูเหมือนความพยายามครั้งนี้ยังไม่ถูกลดละ เพราะเธอได้ประกาศเปิดรับเงินบริจาคผ่านทาง Facebook ส่วนตัวที่ชื่อ Muzer dunn เพื่อกระจายเงินทุกบาททุกสตางค์ไปยังกลุ่มเพื่อนผู้ประสบภัยที่รู้จัก

“คือมีลูกหาบเพื่อนพี่ที่ชื่อราม กับรามิส เขาแจ้งมาว่า ที่หมู่บ้านของเขาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังต้องนอนอยู่ในเต็นท์กันอยู่ แล้วตอนนี้ฝนก็ตกหนักด้วย พี่เลยอยากหาเงินไปช่วยเขา ในครั้งแรกก็เลยรับบริจาคผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง แล้วก็มีเพื่อนๆ ช่วยแชร์กันมา ได้ 160,000 บาท ทำได้อาทิตย์เดียว หลังจากนั้นพี่ก็หยุดรับบริจาค เพราะส่วนตัวพี่ไม่อยากให้ใครคิดว่า เราไปเอาเงินใครมา แล้วเงินจะไปถึงไหม คือพี่กลัวคนจะไม่ไว้ใจ”

คงจะจริงอย่างที่ว่า “เมืองไทย เรื่องน้ำใจไม่เคยแล้ง” เพราะหลังจากปิดรับบริจาคไปได้สักระยะ กลับยังมีคนรู้จัก ทั้งศิลปินและบุคคลธรรมดา ติดต่อเข้ามาหาเธอ ขอร่วมนำรูปถ่าย รวมถึงเครื่องประดับต่างๆ นานาของพวกเขาไปเปิดประมูลผ่านทางเฟซบุ๊ก Muzer dunn ของเธออีกครั้ง เพื่อนำรายได้ทั้งหมดส่งตรงสู่เนปาลเพื่อสมานแผลกายและใจที่บอบช้ำด้วยฤทธิ์แผ่นดินไหว ไม่เพียงเท่านั้น หญิงใจบุญคนนี้ยังตัดสินใจหักรายได้ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “Trekking กับ หญิงอ้วน” ที่เนื้อหาเล่าเรื่องราวชีวิตขณะ backpack ตะลุยเนปาลของเธอ เพื่อสมทบทุนค่าหยูกยา อาหารให้แก่ผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

“พี่คิดว่า ไหนๆ พี่ก็เขียนหนังสือถึงที่นั่นมาแล้ว เลยคิดว่าถ้ามันพิมพ์ออกมา แล้วขายได้ ก็คงได้เงินไปช่วยซัปพอร์ตตรงนี้เพิ่ม พี่ก็เลยเอาหนังสือพี่หักเล่มละหนึ่งร้อยบาทเพื่อช่วยเหลือชาวเนปาล แล้วที่พี่คิดไว้คือ กำไรไม่กำไร พี่ก็หักเลยนะ ไม่รอให้ขายจนได้ทุนก่อน แล้วค่อยหักทีหลัง” ซึ่งดูเหมือนความทุ่มเทของหญิงคนนี้จะไม่สูญเปล่า เพราะเธอบอกว่า “ความสุขทางใจ เกิดขึ้นได้จริงๆ เมื่อเริ่มเป็นผู้ให้”

“ตอนนี้เขาเห็นเหมือนเราเป็นพระเจ้าเลยค่ะ อย่างตอนที่พี่ส่งไปให้รามที่เป็นลูกหาบพี่คนหนึ่งนะคะ เขาก็ส่งภาพกลับมาเป็นภาพที่เขาซื้ออาหาร ซื้อน้ำมัน ถั่วงา หมี่ และอาหารต่างๆ ไปแจกกับคนในหมู่บ้าน แล้วทุกคนก็แบบเดินลงมาจากภูเขาเป็นชั่วโมง เพื่อมาแบกของใส่ถุงปุ๋ยกลับไป ทุกคนแฮปปี้มากที่เราไม่ทิ้งเขา แล้วพอเราเห็นรูปนั้นแล้วเรารู้สึกใจชื้นตามไปด้วย ส่วนอีกหมู่บ้านหนึ่งของไกด์พี่ที่ชื่อซีบร้า เขาบอกว่า เขานำเงินไปปรับปรุงโรงเรียนเพื่อให้เป็นที่อยู่รวมกันก่อน ซึ่งคนในหมู่บ้านของซีบร้ามาบอกกับเขาว่า ถ้าเกิดพวกเราไปที่เนปาล พวกเขาจะมาเดินแห่พวกเราเหมือนพระเจ้าเลย(หัวเราะ) นอกนั้นก็มีอีกองค์กรหนึ่งที่พี่ส่งเงินไปช่วยซึ่งอยู่กาฐมาณฑุ เพราะตอนลงทำข่าวในพื้นที่ น้องอุ๋ยนักข่าวช่อง 3 บอกพี่ว่า ตอนที่เขาไป เขาเห็นว่าคนที่นั่นเดินมาขอแผ่นโฟมเพื่อไปรองนอน เพราะพวกเขาต้องนอนลงกับหิน” นางฟ้า เล่าให้ฟังอย่างเริงร่า ทว่า ยังมีความตื้นตันใจแฝงอยู่ในน้ำเสียง

แม้จะเป็นแค่พลังจุดเล็กๆ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากคนคนเดียว แต่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ยามเพื่อนมนุษย์ประสบภัย ยังมีคนไทยบางกลุ่มที่ไม่เคยทอดทิ้ง และขณะที่การช่วยเหลือยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด ฐอน รัสรินทร์ ก็เกิดปิ๊งโปรเจ็กต์ใหม่ขึ้นมา เพื่อหาทางเยียวยาผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหว นั่นก็คือ แคมเปญจักรยาน สองน่องปันน้ำใจ

Bike For Nepal

เช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน 2558 คราที่ดวงตะวันยังไม่ทันเบิกฟ้า อันเป็นเวลาที่หลายคนควรได้ซุกกายใต้ผ้าห่ม ทว่า ไกลออกไป คนกลุ่มหนึ่งกำลังมุ่งหน้ามาบนถนนเส้นโพธิ์ทอง ชุมชนสามย่าน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในทริปปั่นจักรยาน สมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล ภารกิจในการเขียนสารคดีวันนี้ พาทีมข่าว feelgood มาหยุดอยู่ท่ามกลางนักปั่นกว่า 50 ชีวิต พร้อมกับช่างภาพที่กระจายกำลังกันไปตลอดระยะทาง 41.17 กิโลเมตร

ณ สถานที่อันเป็นเหย้าของงาน นักปั่นแต่ละคนล้วนมีปลายทาง เส้นชัย หรือมวลอากาศอันลอยคว้างอยู่ระหว่างมุมถนนสุดปลายทาง แท้จริงนั้นมันคือจุดเริ่มต้น เพราะวันนี้ สำหรับบางคน "การออกมามีส่วนร่วมในงานปั่น นั่นคือเส้นชัย"

“คือพี่คิดว่า ที่จัดทริปปั่นนี้ขึ้น เพราะอยากให้คนออกมามีส่วนร่วมในการรณรงค์ ให้เขาเห็นความสำคัญ และรับรู้ถึงความยากลำบากที่ชาวเนปาลกำลังเจออยู่ตอนนี้ แล้วนี่ก็เป็นทริปปั่นที่ไม่ต้องเสียเงินเลย ใครมีแรงก็ช่วยแรง ออกมาปั่นกันตามเส้นทางสวยๆ ในจังหวัดที่พี่จัดไว้ ประมาณ 40 กิโลฯ ส่วนใครมีเงินก็อาจจะร่วมบริจาค หรือซื้อเสื้อยืดสกรีนลาย bike for Nepal ซึ่งรายได้ตรงนี้พี่จะนำส่งไปให้ผู้ประสบภัยที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ” ฐอน รัสรินทร์ เจ้าของโปรเจ็กต์ เกริ่นถึงเป้าหมายในการจัดโครงการ

ทันทีที่กิจกรรมดีๆ นี้เกิดขึ้น ข่าวคราวก็แว่วไปถึงหูของคู่รักนักปั่นจักรยานรอบโลก อย่าง หมู เจริญ โอทอง และวรรณ อรวรรณ โอทอง ผู้ชื่นชอบการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อยู่แล้วเป็นทุนเดิม จึงทำให้ทั้งสองติดต่อเข้ามาขอร่วมเรือลำเดียวกัน เพื่อเสริมกำลังในการช่วยเหลืออีกแรง

“ก่อนหน้านี้พอรู้ข่าวเรื่องเนปาลพี่ก็อยากช่วยนะ แต่พี่ไม่มีหนทาง แล้วพอมาเห็นว่าพี่ฐอน เขากำลังทำตรงนี้อยู่ พี่ก็เลยติดต่อเข้ามา ขอเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งทางพี่ฐอนเขาก็โอเค จัดเอาจักรยานกับแคมเปญนี้มาร่วมกันเลย ประจวบเหมาะกับพี่อยากเอาหนังสือ (ปั่นข้ามฝัน... 2,000 วันรอบโลก เล่ม 3 ยุโรปโรแมนติก) ของพี่กับหมูมาอยู่ในร้านหนังสืออิสระด้วย แล้วที่ร้านหนังสือสุนทรภู่ของพี่ฐอนก็กำลังจะจัดครบรอบ 2 ปีพอดี พี่ก็เลยคิดว่า งั้นเอารายได้จากการขายหนังสือของพี่ตรงนี้ไปช่วยกับเนปาลเลย” วรรณ ย้อนที่มาถึงการเข้าร่วม ก่อนเปิดทางให้หมู เล่าต่อ

“ที่เราต้องมาช่วย พี่ขอยกตัวอย่างจากตัวเรา เราไม่มีบ้านมา 6 ปี กลับมาจากเดินทางรอบโลกก็ยังไม่มีบ้านอยู่ เพราะว่ากลับมาปุ๊บเราเหลือศูนย์ คราวนี้เราก็เริ่มปะติดปะต่อเรื่องกับชาวเนปาลที่เคยมีบ้าน แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งบ้านพังแตกสลายไปทั้งประเทศ มันจะขนาดไหน กว่าเขาจะมีบ้านใหม่แต่ละหลัง มันยากขนาดไหน ตรงนี้เราก็เลยอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับตรงนี้ อาจจะช่วยให้เขาได้เสาสักต้นหนึ่งตรงนี้พี่ก็ว่ามันมีความหมาย”

ส่วนหนังสือที่ทั้งสองนำมาร่วมจำหน่ายสมทบทุนบริจาค หมูและวรรณ เปิดใจว่าใช้ทุนตัวเอง พวกเขาติดต่อสั่งซื้อทางสำนักพิมพ์ เพื่อนำมาวางจำหน่ายภายในร้านหนังสือสุนทรภู่ โดยกำไรจากหนังสือทุกเล่ม จะหักเป็นค่าใช้จ่ายส่งตรงสู่ชาวเนปาล และด้วยธีมที่ชัดเจนว่า “งานปั่นวันนี้ ใครมีแรงช่วยแรง ใครมีทรัพย์ช่วยทรัพย์” ลุงสินชัย อ่อนไสว ข้าราชการบำนาญ วัย 78 ปี ผู้ใช้ชีวิตบนหลังอานมากว่า 15 ปีจึงพลาดไม่ได้

“ปกติมีกิจกรรมอะไรผมก็ออกมาช่วยตลอดนะ แล้วยิ่งวันนี้เป็นการปั่นเพื่อเป็นส่วนร่วมของสังคมด้วย ผมก็ยิ่งต้องออกมาครับ ชาวเนปาล เปรียบเหมือนเพื่อนบ้านของเรา ผมคิดว่าบ้านของเขาก็เหมือนบ้านของเรา เป็นเมืองพี่เมืองน้องก็ว่าได้ วันนี้เขาเดือดร้อน เราต้องช่วยในฐานะเพื่อนมนุษย์ ง่ายๆ นะครับ อย่าว่าแต่ 40 กิโลฯ เลย 100 กิโลฯ ผมก็ปั่นไหวถ้าได้ทำความดี เพราะเส้นชัย คือหัวใจ ไม่ใช่ระยะทาง”

ส่วนนักแข่งขันจักรยานระดับเยาวชนจากชมรม “เสือเมืองแกลง” ที่เคยคว้าแชมป์มาแล้วทั่วประเทศ อย่างน้องกฤตภาส สวัสดิภาพ วัย 15 ปี ก็ไม่แพ้กัน แม้จะยังไม่ค่อยเข้าใจในจุดประสงค์ของการปั่นครั้งนี้ แต่ก็บอกกับทีมข่าว เสียงดังฟังชัดว่า “ปั่นวันนี้ เพื่อเนปาลครับ”

นอกจากนี้ เจ้าของงานยังกระซิบไว้อีกว่า โครงการทริปปั่นแบบนี้อาจจัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยในเรื่องการท่องเที่ยวเมืองแกลง และประแสอีกทาง ซึ่งในอนาคตมีแผนจะทำเป็น Set ทัวร์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการปั่นจักรยาน โดยจะหักเงินจากการขายบัตรไปเป็นเงินช่วยเหลือชาวเนปาล หรือสถานที่ที่อาจมีภัยในอนาคต เรียกว่า ได้สุขภาพแล้ว ยังได้บุญอีกด้วย ส่วนระยะทางจะมีดังนี้

จุดสตาร์ท ร้านหนังสือสุนทรภู่ สู่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ก่อนจะมุ่งหน้าไปสะพานประแสสิน มุ่งหน้าสู่ ทัพเรือรบกรมหลวงชุมพรฯ จากนั้นก็ลัดเลาะตามเส้นทางธรรมชาติไปยังวัดราชบัลลังก์เพื่อสักการะพระเจ้าตากสิน แล้ววนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอย่างร้านหนังสือสุนทรภู่






ข่าวโดยทีมข่าว Feel Good


กำลังโหลดความคิดเห็น