ไบโอเทค-สวทช. ทุ่ม 50 ล้าน เปิด "ศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์" แบบเบ็ดเสร็จครบวงจรครั้งแรกในไทย หวังใช้มันสมองนักวิจัย ยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร-เพิ่มโอกาสการแข่งขัน-ลดการนำเข้า ชี้ ! เป็นฮับวิจัยด้านการใช้จุลินทรีย์ที่ดีที่สุด เอกชนกว่า 30 บริษัทแห่ร่วมคึกคัก
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดตัว "ศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์" (Food and Feed Innovation Center: FFIC) ยกระดับความสามารถผู้ประกอบการในการแข่งขันทางธุรกิจ ณ โถงชั้น 1 อาคาร กลุ่มนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ. ปทุมธานี เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 59 โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิด
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรด้านอาหารที่สำคัญ ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกถึง 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่ด้วยสภาพการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดอาหารโลก และความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้อุตสาหกรรมอาหารไทยจำเป็นต้องสร้างความโดดเด่นด้วยการใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่า
“เป็นความน่ายินดีไบโอเทคและสวทช. ซึ่งต่างก็มีความพร้อมด้านนวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์จะมาทำงานร่วมกันแบบเบ็ดเสร็จที่เดียว เอกชนซึ่งดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมอาหารจะได้มีที่ปรึกษาที่ชัดเจนขึ้น เพราะผมเชื่อว่าไม่มีที่ไหนจะมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถดำเนินงานวิจัยตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการวิจัย สู่การทดสอบระบบการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม จนได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่พร้อมถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างครบวงจรได้เท่า สวทช. ผมจึงคาดหวังว่านอกจากเราจะมีนวัตกรรมอาหารใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมาก จนเราต้องกังวลเรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เราจะยังรักษาแชมป์แห่งการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอาหารของอาเซียน และก้าวขึ้นสู่ครัวของโลกได้อย่างยั่งยืน" ดร.พิเชฐ กล่าว
ดร. กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม ไบโอเทค สวทช.จึงจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ขึ้นแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service) เพื่อให้บริการวิจัยและพัฒนาแก่ภาคเอกชน ทั้งในรูปแบบการวิจัยร่วม, จ้างวิจัยเป็นที่ปรึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน พร้อมกันนี้ยังให้บริการด้านเทคนิค ให้บริการเช่าเครื่องมือ จัดฝึกอบรมเฉพาะทางให้กับบุคลากรแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางจัดหาและปรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการในไทย ด้วย โดยศูนย์ฯ มีห้องปฏิบัติการวิจัยตั้งอยู่ที่ขั้น 9 ทาวเวอร์ B ของอาคาร กลุ่มนวัตกรรม 2 มีเนื้อที่ประมาณ 900 ตารางเมตร ด้วยงบประมาณการจัดตั้งกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งภายในมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย พร้อมสำหรับการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรม
นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างพื้นฐานในการทดสอบกระบวนการผลิตในระดับที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเรียกว่า BIOTEC-Bioprocessing facility ซึ่งอยู่ที่โรงงานต้นแบบไบโอเทคบนพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร มีเครื่องมือสำคัญประกอบด้วยเครื่อง Submerged Fermentor ขนาด 300 ลิตร และเครื่อง Solid State Fermentor ขนาด 500 กิโลกรัม พร้อมกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream processing) อย่างยิ่งใหญ่ครบวงจรด้วย
ด้าน ดร. วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร ไบโอเทค กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์จะดำเนินงานด้วยทีมวิจัยประมาณ 40 คน ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ตั้งแต่ ด้านการคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีความสามารถพิเศษ, ด้านเทคโนโลยีการหมัก, ด้านเทคโนโลยีชีวกระบวนการ, ด้านการประเมินความเสี่ยงความปลอดภัยในอาหาร, ด้านเคมีอาหาร, ด้านการผลิตสารมูลค่าสูงจากวัสุดเศษเหลือ และด้านวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์ทำให้มีความพร้อมต่อการช่วยเอกชนแก้ปัญหา ที่มักจะมาจากการเริ่มดำเนินการธุรกิจหรือการผลิตไปแล้วแต่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
"ที่นี่จะไม่เหมือนที่อื่น เราไม่ได้ทำวิจัยไปสุ่มๆ แต่เราจะเอาปัญหาของเอกชนมาช่วยหาทางแก้ไข แล้วก็ผลิตแต่นวัตกรรมซึ่งเป็นสิ่งใหม่ๆ เท่านั้น ฉะนั้นเอกชนที่จะเข้ามาหาเราจะต้องมีโจทย์ชัดว่าคุณต้องการอะไร เกิดปัญหาอะไร หากเรามีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับปัญหาก็จะเกิดการจับคู่ฟอร์มทีม และคำนวณค่าใช้จ่ายการวิจัยตามกรณี เพราะแต่ละปัญหามีความยากง่ายไม่เท่ากัน โดยเราจะเน้นที่การคัดเลือกจุลินทรีย์เป็นหลัก เพราะนักวิจัยมีความเชี่ยวชาญในการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์และผลผลิตในการผลิตเป็นอาหารหรือยา รองมาจะเป็นด้านเคมีอาหารที่เป็นการสังเคราะห์โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และการประเมินความเสี่ยงอาหารที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์ก่อโรค"
อย่างไรก็ดี ดร.วรรณพ เผยว่า การจัดตั้งศูนย์ในลักษณะนี้ในประเทศไทยอาจเคยมีมาก่อน แต่เป็นเพียงศูนย์ขนาดเล็กที่อยู่กระจัดกระจายกันตามจังหวังต่างๆ จึงมีความเชื่อมั่นว่า ศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์แห่งนี้จะเป็นฮับวิจัยที่ครบวงจรที่สุดในด้านการใช้จุลินทรีย์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการก็ได้มีการดำเนินงานกับเอกชนจนประสบความสำเร็จมาแล้วกว่า 10 บริษัท
"เรามีแผนว่าภายใน 5 ปีหลังจากนี้จะมีผู้ประกอบการเข้ามาทำวิจัยร่วมกับเราประมาณ 50 บริษัท แต่ตอนนี้มีเอกชนเซ็นต์สัญญาเข้ามาร่วมแล้วกว่า 30 บริษัทซึ่งเกินคาดมาก ขั้นต่อไปเราจึงมองไปถึงการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา โดยตั้งใจไว้ว่า 20% ของบริษัทที่มาร่วมทุนกับเราจะต้องให้กำเนิดนวัตกรรมใหม่ที่มีสิทธิบัตรของตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าเราจะมองแค่เอกชนรายใหญ่ๆ เท่านั้น SMEs หรือวิสาหกิจชุมชนก็สามารถมาร่วมกับเราได้ เช่นตอนนี้เรามีความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์เพื่อผลิตต้นเชื้อจุลินทรีย์ให้กับกลุ่มแม่บ้านเพื่อหมักอาหารวัว ฉะนั้นไม่ต้องกลัวใครที่มีแนวคิดเกี่ยวกับจุลินทรีย์ชัดเจนแต่ติดขัดมาติดต่อศูนย์ได้ เรามีความร่วมมือหลากหลายรูปแบบ
ทั้งนี้ในพิธีเปิดยังได้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย ซึ่งดำเนินการไปก่อนหน้าและประสบความสำเร็จแล้วกว่า 10 บูธให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมชื่นชมด้วย อาทิ เทคโนโลยีจุลินทรีย์ต้นเชื้อบริสุทธิ์สำหรับหมักแหนมและผลิตผักกาดดองเปรี้ยว, การผลิตเอนไซม์ที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์, การผลิตสารมูลค่าสูง เช่น กระบวนการผลิตกรดไขมันไม่อิ่มตัวและโพลีแซคคาไรด์จากจุลินทรีย์ ไปจนถึงการอาหารเสริมต่างๆ เช่น คอลลาเจนชนิดผง ผลิตภัณท์โปรตีนไข่ พาสเจอร์ไรซ์ เป็นต้น
***** รูปภายในห้องปฏิบัติการของศูนย์ฯ *****