แม้จะรู้ดีว่าเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์เท่าที่มีอยู่วันนี้ของ "ลาว" จะยังไปได้ไม่ไกลถึงอวกาศ แต่การบรรยายเรื่องดาราศาสตร์พื้นฐานและจักรวาลวิทยาจากนักวิจัยไทย อาจทำให้ไฟแห่งความรักในวิทยาศาสตร์ของใครบางคนลุกโชนขึ้น
"สะบายดี .. เซ็นชื่อเข้างานรับเอกสารประกอบก่อนเด้อ เปิดพิธีจะเริ่มในอีกซาวนาที" คำทักทายด้วยภาษาที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ของชาวลาวย้ำเตือนให้เราตื่นขึ้นจากอาการมึนงง หลังรถตู้แวนขนาดย่อมที่นำทีมข่าวเข้ามายังพื้นที่ถูกเขย่าด้วยแรงลูกรังฝุ่นแดงความยาวหลายกิโลเมตรเพื่อนำเรามาส่งยังจุดหมายปลายทาง ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เมืองเวียงจันทน์ที่วันนี้เปิดประตูกว้างเพื่อต้อนรับมิตรผู้มาเยือนจากประเทศไทยที่ไม่ได้มาเพียงเพราะเรื่องราวทางไมตรี แต่ยังนำอุปกรณ์การเรียน คู่มือ รวมไปถึงการอบรมความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ดีๆ มาเผยแพร่ให้แก่ครูและนักเรียนชาวลาว
ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เพื่อติดตามโครงการอบรมดาราศาสตร์อาเซียนซึ่งถูกกำหนดจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาค ระหว่างวันที่ 4-5 เม.ย. 2559 ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เมืองเวียงจันทน์ ซึ่งมีคณะครูนักเรียน นักศึกษาตลอดผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 ชีวิต
วันแรกของการอบรมจะเป็นการบรรยายพิเศษเรื่องจักรวาลวิทยาสังเกตการณ์โดย ดร.อุเทน แสวงวิทย์ นักวิจัย สดร. ผู้เชี่ยวชาญด้านจักรวาลวิทยา ส่วนวันที่สองจะเป็นการอบรมความรู้ดาราศาสตร์เบื้องต้นผ่านการบรรยายและสาธิตของเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
ก่อนการบรรยายจะเริ่มขึ้น ดร.อุเทน เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่าการบรรยายในครั้งนี้ "ไม่ง่าย" เพราะมีปัญหาตั้งแต่ยังไม่ออกจากสนามบินจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนทำให้อุปกรณ์สื่อการสอนต่างๆถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรลาวริบไว้เป็นของกลาง จนต้องให้เจ้าหน้าที่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลาวเข้าไปประสานงาน ถึงจะได้อุปกรณ์และเอกสารประกอบการสอนคืนกลับมาทันเวลา ส่วนการบรรยายเขาเตรียมการเป็นอย่างดีโดยตั้งใจที่จะใช้สไลด์ประกอบการสอนเป็นภาษาอังกฤษและบรรยายเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย
ในห้องบรรยายคนฟังนั่งล้น แต่บรรยายกาศเงียบกริบ เด็กๆ ตั้งตารอฟังการบรรยายเรื่องการวัดจักรวาลด้วยดาราศาสตร์อย่างจดจ่อ ดร.อุเทน ทักทายผู้ฟังด้วยน้ำเสียงเป็นกันเองก่อนเริ่มการบรรยายราว 3 ชั่วโมงเต็มด้วยการพาทุกคนมองย้อนกลับไปว่าโลกที่เราอยู่อยู่จุดใดของระบบสุริยะ, ระบบสุริยะประกอบด้วยอะไรบ้าง, จักรวาลยิ่งใหญ่เพียงใด และนักดาราศาสตร์มีวิธีการวัดอายุจักรวาลอย่างไร เพราะจักรวาลวิทยามีความหมายว่าการศึกษาเกี่ยวกับจักรวาล, ลำดับ, ความงามทั่วทั้งหมดเพื่อ ความเข้าใจจนถึงจุดกำเนิด, ส่วนประกอบ, หน้าที่ และลำดับขั้นวิวัฒนาการของจักรวาล
หลักการของการศึกษาจักรวาลวิทยามีอยู่ด้วยกัน 2 หลักตามสมมุติฐานพื้นฐาน คือ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีความสม่ำเสมอ (Homogenous) และมีความเหมือนกันในทุกทิศทาง (Isotropy) โดยหลักเหมือนกันในทุกทิศทางจะได้รับการยอมรับมากกว่าเพราะมีการพิสูจน์ที่หลากหลายทั้งการวัดรังสีไมโครเวฟด้วยดาวเทียม, การถ่ายภาพความเปลี่ยนแปลงความสว่างของอวกาศ ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และการทำแผนที่กาแล็กซี่
การทำแผนที่แล็กซี่เป็นการสำรวจอวกาศด้วยการวัดระยะไปให้ถึงกาแล็กซี่นั้นๆ แล้วดูการกระจัดตัวผ่านการเชื่อมต่อจุด เพราะเวลาที่นำจุดมาเชื่อมต่อกันจะทำให้เห็นว่าอวกาศทั้งส่วนที่ว่างเปล่าและส่วนที่ยื่นออกมา ว่ามีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งจากการสำรวจตั้งแต่ปี 2547 พบว่าเอกภพมีกาแล็กซีมากกว่า 60,000 กาแล็กซี และเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ยังนำไปสู่ทฤษฎีที่ทำให้มนุษยชาติเชื่อว่า อวกาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ยืดตัว ก็หดตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักการทุกสิ่งเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ (Homogeneity) ที่กล่าวว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยแม้เราจะเคลื่อนที่ออกไป (translational invariance) อันเป็นหลักที่บอกว่าเราไม่ได้อยู่ศูนย์กลางของจักรวาล
อย่างไรก็ดี ดร.อุเทน เล่าว่า ในช่วงแรกผู้คนส่วนมากยังมีความยังเชื่อว่าจักรวาลคงตัว เพราะจากการพยากรณ์ด้วย Newtonian Physics ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ผนวกกับความทรงพลังของทฤษสัมพัทธภาพที่ถูกค้นพบขึ้นในปี 2452 ที่ให้น้ำหนักไปกับจักรวาลคงตัวก็ทำให้ทุกคนยิ่งมั่นใจ แต่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ก็เกิดขึ้นเมื่อการทดลองของเอ็ดวิน ฮับเบิลในปี 2472 ที่เป็นการวัดระยะทางระหว่างทางไปเนบิวลาทรงเกลียวผ่านดาวแปรแสง (Cephelid Variable Star) ที่แปรผันตรงกับความสว่างพร้อมวัดความเร็วพบว่า กราฟระหว่างระยะทางและความเร็วที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่ากาแล็กซีมีการขยายตัว
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสร้างความตะลึงงันให้กับวงการฟิสิกส์ การออกมาขอโทษของไอน์สไตน์และการยอมศิโรราบให้กับทฤษฎีของฮับเบิลทำให้มนุษยชาติเริ่มเชื่อในการค้นพบใหม่ว่า จักรวาลกำลังขยายตัว นำมาสู่ความอยากรู้ใหม่ว่าจักรวาลจะขยายตัวไปอย่างไร ในรูปแบบใด ทำให้นักฟิสิกส์พยายามคิดค้นวิธีสำหรับการวัดขนาดของจักรวาลในอีกหลากหลายรูปแบบ
ทั้งการศึกษาพื้นหลังจักรวาลด้วยรังสีไมโครเวฟ (Cosmic Microwave Background Radiation), การสำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศในแบบ 2 มิติ 3 มิติ, การนับจำนวนคลัสเตอร์, การวัดระยะทางด้วยเทคนิคบันไดลิง (Cosmic Distance Ladder), การวัดระยะทางด้วยแสงและการวัดระยะทางด้วยเสียง ซึ่งทั้งหมดนำมาสู่การค้นพบครั้งสำคัญอีกหลายๆ อย่าง อาทิ ทฤษฎี Redshift ที่เป็นการอธิบายถึงสิ่งที่กำลังปล่อยคลื่นมีการเคลื่อนที่ด้วยความสัมพัทธ์กับเรา ความยาวคลื่นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร, ค่าคงตัวของฮับเบิล, ทฤษฎีบิ๊กแบงและพลศาสตร์การขยายตัวของจักรวาล
การบรรยายยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ ในอีกหลากหลายเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าผ่านไปจนเกือบหมดวัน แต่ที่ไม่เปลี่ยนคือความตั้งใจของบรรดานักเรียน นักศึกษาที่ไม่ว่าจะมองไปกี่ครั้งก็ยังเห็นภาพความตั้งใจ คอยจดตามที่วิทยากรพูดตลอดเวลา จนการบรรยายสิ้นสุดลง ดร.อุเทนได้เปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยพร้อมกับเล่นเกมส์ตอบคำถามชิงรางวัล ในช่วงนี้ถือเป็นความหรรษาอย่างหนึ่งเพราะนักเรียนทั้งชายและหญิงต่างยกมือตอบแย่งกันเป็นพัลวันทั้งที่คำถามยังถูกกล่าวไม่จบประโยค เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจในวันแรก
"นักเรียน นักศึกษาที่มาฟังบรรยายในวันนี้เขาจะได้รู้จักระบบสุริยะ ความเร็วแสง เราจะพาเขาย้อนอดีตเพื่อไปทำความรู้จักกับหลักการเบื้องต้นของจักรวาลวิทยา การวัดขนาดจักรวาลด้วยเทคนิคต่างๆ ให้พวกเขารู้ว่านักดาราศาสตร์รู้ได้อย่างว่าจักรวาลกำลังขยายตัว ไปจนถึงสสารมืด และการทดลองต่างๆ ของนักดาราศาสตร์ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเนื้อหาจะเยอะและยากเกินไปไหม แต่ผมจะบรรยายให้ฟังง่าย ฟังสนุกที่สุดครับ" ดร.อุเทน กล่าว
ระหว่างการบรรยายทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สังเกตเห็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มีท่าทีกระตือรือร้นต่อการเรียนเป็นพิเศษ จึงติดต่อขอพูดคุยหลังการบรรยาย ท้าวยด คำพะจัน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาฟิสิกส์ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เผยแก่ทีมข่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นมากที่มีนักวิชาการจ่กประเทศไทยมาให้ความรู้ถึงที่มหาวิทยาลัย เพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่สนใจในเรื่องจักรวาลวิทยาและพยายามศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเอง เพราะที่ลาวไม่มีครูหรือหลักสูตรที่เปิดสอนทางด้านดาราศาสตร์โดยตรง ใกล้เคียงสุดคือภาควิชาฟิสิกส์ที่เขากำลังศึกษาอยู่
ก่อนการบรรยายวันนี้จะมาถึงเขาจึงตั้งใจอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาจากอินเทอร์เน็ตเท่าที่พอสืบค้นได้ มาทำความเข้าใจด้วยตัวเองและหาจุดที่ยังไม่เข้าใจเพื่อมาสอบถามกับ ดร.อุเทน ซึ่งหลังจากได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวก็รู้สึกดีมาก เพราะได้คำตอบตามที่ตัวเองตั้งใจทำให้มีแรงบันดาลใจที่จะสมัครสอบเข้าไปเรียนดาราศาสตร์ ในระดับชั้นปริญญาโท ที่ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกครั้ง เพราะเป็นสิ่งที่สนใจ แต่ระดับปริญญาตรียังเรียนไม่ได้ เพราะที่ลาวไม่มีความพร้อมเรื่องดาราศาสตร์
"ความรู้เรื่องจักรวาลวิทยา หาฟังได้ยากมากที่ลาว ถือเป็นโอกาสดีมากที่ทางไทยมาจัดโครงการแบบนี้ให้ เนื้อหาบางอย่างเป็นเรื่องใหม่ไม่เคยรู้ที่ไหนมาก่อน ผมเลยมีคำถามมาก ถามตลอด จนกลัวว่าอาจารย์เขาจะรำคาญเหมือนกัน แต่ผมก็ต้องถาม เพราะไม่รู้ว่าหากอาจารย์กลับไทยแล้วผมจะไปถามใคร บางทีก็แอบอิจฉาเด็กไทย อยากไปเรียนที่เมืองไทยเหมือนกัน" ยดกล่าวทิ้งท้าย