xs
xsm
sm
md
lg

สุดอึ้ง!! “สตีเฟน ฮอว์กิง” ไอน์สไตน์แห่งโลกศตวรรษที่ 21 ยังไม่สามารถนิยามความดังของโดนัลด์ ทรัมป์ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - สตีเฟน ฮอว์กิง(Stephen Hawking) ที่รู้จักว่าเป็นไอน์สไตน์แห่งศตวรรษที่ 21 ศาสตราจารย์ด้านจักรวาลวิทยายอมรับกับสื่ออังกฤษว่า เขาไม่สามารถใช้ความสามารถทั้งหมดด้านวิชาการที่มี เพื่อเข้าใจความโด่งดังของว่าที่ตัวแทนพรรครีพับลิกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ และในการให้สัมภาษณ์ ฮอว์กิงยังปฎิเสธปรากฎการณ์ Brexit หรือการที่อังกฤษจะออกจากการสมาชิกสหภาพยุโรป

หนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนต์รายงานวันนี้(31 พ.ค)ว่า ในการให้สัมภาษณ์ของนักฟิสิกต์ชื่อดังก้องโลก สตีเฟน ฮอว์กิง(Stephen Hawking) ได้ยอมรับกับรายการที่มีชื่อเสียงในอังกฤษ กูดมอร์นิง ทางสถานีโทรทัศน์ ITV ว่า ความโด่งดังของว่าที่ตัวแทนชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรครีพับลิกัน โดนัลด์ ทรัมป์นั้นเกินกว่าความฉลาดของเขาที่จะเข้าใจได้

โดยในการตั้งคำถามของสถานีโทรทัศน์อังกฤษที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ฮอว์กิงจะใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีด้านการศึกษาเอกภพเพื่อที่จะอธิบายถึงปรากฎการณ์ที่โดนัลด์ ทรัมป์สามารถจูงใจมหาชนในสหรัฐฯได้ในระดับกว้างจนได้กลายเป็นตัวแทนพรรค ซึ่งทำให้ฮอว์กิงตอบกลับมาว่า “ผมไม่สามารถเข้าใจได้…เขาเป็นนักการเมืองกลับกลอก ที่ดูเหมือนสามารถดึงดูดฝูงชนที่ไร้ปัญญา”

ทั้งนี้ความโด่งดังของโดนัลด์ ทรัมป์นั้นไม่เฉพาะมีแต่ในสหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งจากการรายงานของเอพีเมื่อวานนี้(30 พ.ค)พบว่า มีประชาชนชาวจีนให้การสนับสนุนทรัมป์ จนถึงกับตั้งกลุ่มแฟนคลับให้กำลังใจ เป็นต้นว่า “ก็อด เอ็มเพอเรอร์ ทรัมป์” โดยมียูสเซอร์คนหนึ่งโพสต์ในกลุ่มแชตว่า “ยิ่งรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ฉันยิ่งรู้สึกแรงกล้าว่า เขาไม่ได้แค่ปกป้องอเมริกาเท่านั้น แต่ยังพิทักษ์โลกด้วย”

และเมื่อเทียบกับว่าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครต ฮิลลารี คลินตันแล้ว ดูเหมือนว่าชาวจีนจะมีความกังวลในคลินตันมากกว่า ซึ่งปัจจัยหนึ่งในความนิยมต่อตัวเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์อเมริกันในจีน เอพีชี้ว่า เป็นเพราะบุคลิกขวานผ่าซากที่โดดเด่น รวมไปถึงยุทธศาสตร์การประชาสัมพัน์ของเขานั้นคล้ายคลึงกับเศรษฐีพันล้านแดนมังกร “แจ็ค หม่า” เจ้าของเว็บไซต์อาลีบาบา

ซึ่งในเรื่องความนิยมของทรัมป์ในต่างแดนนี้คงไม่เป็นที่น่าแปลกใจนัก เพราะในการรายงานของสื่อสหรัฐฯ The American Interest ในต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชี้ได้ว่า ถึงแม้โดนัลด์ ทรัมป์ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มต่อต้านในอเมริกา แต่ทว่าในต่างแดนแล้ว ความเป็นที่รู้จักของเขาต่อคนทั้งโลกนั้นมีเหนือกว่าผู้สมัครรายอื่นอย่างแน่นอน ซึ่งสื่อสหรัฐฯรายงานว่า เป็นที่น่าสนใจว่าทรัมป์สามารถทำให้นักการเมือง และผู้มีชื่อเสียงในหลายประเทศที่มีแนวคิดการเมืองแบบขวาจัด สามารถจับมือรวมตัวเป็นหนึ่งเดียว ประกาศสนับสนุนชายผู้นี้

และนักการเมืองแดนกังหันลมสีส้ม กีร์ต วิลเดอร์ส (Geert Wilders) สส.เนเธอร์แลนด์ที่มีนโยบายต่อต้านศาสนาอิสลาม และคัมภีรฺอัลกุรอาน ถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยเขาได้ประกาศตัวสนับสนุนทรัมป์ ในเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา

และในเดือนเดียวกันนี้ นักการเมืองร่วมทวีปจากฝรั่งเศส ฌอง มารี เลอร์เพ็น (Jean-Marie Le Pen) นักการเมืองแดนน้ำหอมขวาจัดผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง เนชันแนล ฟรอนต์ ปาร์ตี ที่ได้เคยยืนยันความไม่มีอยู่จริงของเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ประกาศตัวสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากนี้ ยังเป็นที่ยอมรับว่าโดนัลด์ ทรัมป์ยังสามารถทำให้ชายผู้ที่ถูกกล่าวขวัญว่า “เป็นมันสมองของปูติน” อเล็กซานเดอร์ ดูกิน (Aleksandr Dugin) นักปรัชญาชาวรัสเซีย ที่มีแนวคิดนีโออิมพีเรียลลิสต์ และขวาจัด ประกาศยอมรับได้

แต่จากความเป็นที่รู้จักทั่วโลกของโดนัลด์ ทรัมป์กลับไม่ใช่สิ่งที่เป็นบวกต่อเขาแม้แต่น้อย ซึ่ง The American Interest ชี้ว่า ปรากฎการณ์รวมตัวของกลุ่มขวาจัดทั่วโลกที่สนับสนุนว่าที่ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯพรรครีพับลิกันที่มีแนวคิดต่อต้านมุสลิม และชาวลาตินอเมริกาผู้นี้ถือเป็นสิ่งที่ “คนทั้งโลกต้องเป็นกังวล” ถึงความโกลาหลที่อาจจะเกิดขึ้นหากชายผู้นี้ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกจริง

นอกจากนี้ดิอินดีเพนเดนต์ยังรายงานต่อว่า ต่อปัญหาสำคัญตัดสินอนาคตอังกฤษ Brexit หรือการที่อังกฤษจะออกจากการสมาชิกสหภาพยุโรป ฮอว์กิงยังกล่าวยืนยันอีกครั้ง โดยเรียกร้องอีกครั้งให้ประชาชนอังกฤษร่วมใจที่จะไม่ปล่อยให้แดนผู้ดีต้องออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

“ความน่าจะเป็นที่อังกฤษอาจต้องเสี่ยงออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปได้ทำให้ค่าสกุลเงินปอนด์ตกลงอย่างหนัก เพราะตลาดเงินตลาดทุนได้ประเมินแล้วว่า สิ่งนี้จะทำให้เศรษฐกิจของเราทรุด” ฮอว์กิงกล่าว

และศาสตราจารย์ชาวอังกฤษด้านเอกภพได้กล่าวให้ความเห็นต่อว่า “ซึ่งมี 2 เหตุผลสำคัญที่อังกฤษสมควรที่ยังอยู่กับอียูต่อไปคือ หนึ่ง การสนับสนุนในการเคลื่อนย้ายเสรีของพลเมืองอียู นักเรียนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในอังกฤษได้ และนักเรียนของเราสามารถเดินทางไปประเทศอื่นๆในเขตเศรษฐกิจยุโรปเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยประเทศเหล่านั้น”

และศาสตราจารย์ฮอว์กิงยังชี้ต่อถึงประเด็นสำคัญที่ว่า “และที่สำคัญที่สุดในระดับการวิจัย การแลกเปลี่ยนนักวิจัยที่มีความสามารถนั้นสามารถทำได้อย่างทันที และทำให้มีการเกิดหน้าใหม่ หรือเลือดใหม่ขึ้นในแวดวงของการวิจัย ทำให้มีแนวคิดใหม่ๆและหลากหลายเกิดขึ้นในแวดวงวิชาการ ซึ่งแนวคิดที่หลากหลายนี้สะท้อนมาจากภูมิหลังและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของคนเลือดใหม่เหล่านี้”

และสุดท้ายฮอว์กิงสรุปถึงความจำเป็นของการต้องคงอังกฤษไว้กับสหภาพยุโรปว่า “ส่วนเหตุผลที่สองนั้นเกี่ยวกับการเงิน สภาวิจัยยุโรป (The European Research Council)ได้ให้เงินสนับสนุนกับอังกฤษจำนวนมหาศาล เพื่อทำให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ และเป็นการสนับสนุนการแลกเปลี่ยน”

ทั้งนี้ศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์กิง ที่ในขณะนี้อายุได้ 74 ปี ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนอ่อนแรงเอแอลเอส (Amyotrophic Lateral Sclerosis: ALS) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่าโรคลู เกห์ริก (Lou Gehrig's disease) ซึ่งในปัจจุบันเขาต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนรถเข็น และใช้การติดต่อสื่อสารผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยทำให้เขาสามารถกล่าวทักทายผู้คนได้ตามปกติ

ฮอว์กิงเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ลูคัสเซียน (Lucusian) ทางด้านคณิตศาสตร์ที่เคมบริดจ์ยาวนานถึง 30 ปี และเกษียณจากตำแหน่งดังกล่าวเมื่อปี 2009 โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ในอดีตอย่าง เซอร์ ไอแซค นิวตัน (Sir Isaac Newton) ก็ได้รับตำแหน่งเดียวกันนี้ ปัจจุบันฮอว์กิงเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่ศูนย์จักรวิทยาเชิงทฤษฎีของเคมบริดจ์ ซึ่งเขาประสบความสำเร็จทั้งหมดนี้ด้วยสภาพร่างกายที่เกือบจะเป็นอัมพาตทั้งตัว

กำลังโหลดความคิดเห็น