เอเอฟพี - ผลการทำประชามติในเนเธอร์แลนด์เมื่อวันพุธ (6 เม.ย.) พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ “ไม่ยอมรับ” ข้อตกลงสมาคมและการค้าระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับยูเครน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกระแสต่อต้านความเป็นอียูที่กำลังแผ่ลาม และยังสร้างความอับอายไม่น้อยต่อรัฐบาลอัมสเตอร์ดัม ซึ่งขณะนี้เวียนมาเป็นประธานอียูตามวาระ
สำนักข่าว ANP ของเนเธอร์แลนด์รายงานว่า จากผลการนับคะแนนที่ผ่านไปแล้ว 99.8% พบว่ามีผู้โหวต “โน” สูงถึง 61.1% และมีเพียง 38% เท่านั้นที่โหวตสนับสนุนข้อตกลงความร่วมมือ 2 ปีระหว่างอียูกับเคียฟ
ANP ประเมินด้วยว่า มีประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติครั้งนี้ราว 32.2% ซึ่งหมายความว่าการหยั่งเสียงมีผลใช้ได้ และจะต้องได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรี มาร์ก รัตต์
“ดูเหมือนประชาชนชาวดัตช์จะโหวตโนให้กับพวกชนชั้นปกครองในยุโรป และไม่เอาข้อตกลงที่ทำร่วมกับยูเครน นี่คือจุดเริ่มต้นของจุดจบของอียู” กีร์ต วิลเดอร์ส ส.ส.จากพรรคขวาจัด ออกมาให้สัมภาษณ์วานนี้ (6)
คำถามที่ผู้ใช้สิทธิต้องตอบก็คือ พวกเขาสนับสนุนข้อตกลงสมาคมระหว่างสหภาพยุโรปกับยูเครนหรือไม่ ซึ่งข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอียูกับอดีตรัฐโซเวียตที่กำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม
อย่างไรก็ตาม คณะผู้จัดประชามติยอมรับว่า การหยั่งเสียงที่ไม่มีผลผูกพันในทางกฎหมายนี้ไปเข้าทางพวกลังเลสงสัยในสหภาพยุโรป (eurosceptic) และคงจะสร้างความอับอายไม่น้อยแก่รัฐบาลอัมสเตอร์ดัม ซึ่งได้เวียนขึ้นมาเป็นประธานอียูระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. ปีนี้
ผลของประชามติครั้งนี้ยังเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิดทั้งในยุโรปและมอสโก และอาจส่งอิทธิพลไปถึงการจัดประชามติในอังกฤษว่าด้วยการแยกตัวจากอียู (Brexit) ในเดือน มิ.ย. ด้วย
เนเธอร์แลนด์เป็นชาติเดียวในกลุ่มอียู 28 ประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อข้อตกลงสมาคมกับยูเครน ทั้งที่ผ่านความเห็นชอบจากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
นายกรัฐมนตรี รัตต์ ออกมายอมรับว่า ฝ่ายที่โหวตโน “ชนะอย่างน่าเชื่อถือ” และหากมีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเกินกว่า 30% ขึ้นไป “รัฐบาลคงไม่สามารถให้สัตยาบันต่อข้อตกลงฉบับนี้ ด้วยเนื้อหาที่มันเป็นอยู่ได้”
ก่อนหน้านี้ รัตต์ได้เรียกร้องให้ประชาชนโหวตสนับสนุนข้อตกลงสมาคมกับเคียฟ โดยระบุว่า “เราต้องช่วยยูเครนสร้างรัฐที่มีอำนาจตุลาการและระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”
แม้การทำประชามติครั้งนี้จะไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย ทว่ารัฐบาลผสมของรัตต์ ซึ่งกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากวิกฤตผู้ลี้ภัย ก็อาจเสนอให้ตัดเนื้อหาบางส่วนของข้อตกลงที่ประชาชนไม่เห็นด้วยออกไป
ผู้นำ 6 พรรคการเมืองใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ได้เห็นพ้องร่วมกันวานนี้ (6) ว่า รัฐบาลไม่สามารถให้สัตยาบันต่อข้อตกลงอียู-ยูเครนได้
“รัฐบาลยังให้สัตยาบันไม่ได้ เราต้องให้น้ำหนักกับเสียงของประชาชนที่โหวตโนด้วย” ดีเดริก ซัมซอม ผู้นำพรรคแรงงานซึ่งเป็นหุ้นส่วนอยู่ในรัฐบาลผสมของรัตต์ให้สัมภาษณ์
กลุ่มที่รณรงค์โหวตโนได้อ้างเหตุผลต่างๆ นานา โดยเฉพาะปัญหาการคอร์รัปชันในยูเครน และการสู้รบระหว่างกองทัพกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออก ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้ง่ายๆ