xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ คาเมรอนประกาศ ‘ลาออก’ หลังประชามติ ‘สหราชอาณาจักร’ ตัดสินใจให้ถอนตัวออกจาก ‘อียู’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - สหราชอาณาจักรออกเสียงลงประชามติ แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ผลการนับคะแนนระบุในวันนี้ (24 มิ.ย.) นับเป็นการหวดกระหน่ำอย่างรุนแรงใส่อียู อีกทั้งกำลังแพร่กระจายความตื่นตระหนกไปยังตลาดการเงินต่างๆ ทั่วโลก โดยที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงลดค่าวูบลงมาสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 31 ปี ขณะที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ประกาศจะขอลาออกจากตำแหน่ง

บรรดานักลงทุนพากันวิ่งวุ่นอลหม่านเทขายเงินปอนด์, น้ำมัน และหุ้น ขณะที่สหราชอาณาจักรเดินซวนเซเข้าสู่ดินแดนซึ่งไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อน เมื่อกลายเป็นชาติแรกที่ลาออกจากในประวัติศาสตร์ 60 ปีของอียู

ภายหลังเขตรวมคะแนนทั้ง 382 เขตประกาศผลการนับคะแนนในเขตของพวกตนครบถ้วน ปรากฏว่า ผู้ออกเสียงที่เลือก “แยกตัว” ชนะผู้ที่ต้องการ “คงอยู่” ในอียู 51.9% ต่อ 48.1% โดยผู้โหวตให้ออกจากอียูมี 17.4 ล้านคน ส่วนผู้ลงคะแนนให้เป็นสมาชิกต่อไปมี 16.1 ล้านคน

“ขอให้วันที่ 23 มิถุนายนได้รับการจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ของเราว่าเป็นวันประกาศเอกราชของเราเถิด” ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคยูเค อินดิเพนเดนซ์ ปาร์ตี้ กล่าวอย่างปลาบปลื้ม เขาเป็นหนึ่งในผู้นำนักรณรงค์ต่อต้านอียู ซึ่งให้สัญญาแก่ชาวสหราชอาณาจักรว่า นี่เป็นโอกาสที่จะยึดอำนาจคืนมาจากบรัสเซลส์ (สำนักงานใหญ่ของอียูตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์, เบลเยียม) และจำกัดควบคุมผู้อพยพที่เข้าประเทศมาอย่างมากมาย

“ถ้าการทำนายผลเท่าที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้ถูกต้องแล้ว นี่ก็จะเป็นชัยชนะสำหรับประชาชนอย่างแท้จริง เป็นชัยชนะสำหรับประชาชนคนสามัญ เป็นชัยชนะสำหรับประชาชนผู้มีเกียรติน่ายกย่องนับถือ” เขากล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนของเขตในย่านเวสต์มินสเตอร์ ของลอนดอน

ขณะที่ฝูงชนซึ่งอยู่ในอาการลิงโลด ตะโกนตอบรับเขาว่า “ออก! ออก! ออก!” ออกจากสหภาพยุโรป

ทางด้านจุดรวมพลของฝ่าย “อยู่ต่อ” ใน รอยัล เฟสติวัล ฮอลล์ ของลอนดอน กลุ่มผู้สนับสนุนที่มีท่าทีเซื่องซึม ถูกดึงดูดติดแน่นอยู่กับจอทีวีที่กำลังรายงานผลการลงประชามติ ในมือหลายต่อหลายคนกำกระป๋องเบียร์เอาไว้แน่น ขณะที่บางคนเอามือปิดปาก

กระแส “ไม่เอาอียู” โหมแรง

เงินปอนด์อังกฤษดำดิ่งลงกว่า 9% สู่ระดับ 1 ปอนด์แลกได้ 1.33 ดอลลาร์ ถือเป็นมูลค่าต่ำที่สุดในรอบ 31 ปี ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ไหลรูดลงกว่า 6% ดัชนีสำคัญของตลาดหุ้นโตเกียวหล่นหายกว่า 8%

ชาวสหราชอาณาจักรดูเหมือนไม่แยแสกับคำเตือนอันน่าหวาดหวั่นที่ว่า การออกจากกลุ่มพันธมิตรยุโรป 28 ชาติเช่นนี้ จะทำให้เกิดรูโหว่เบ้อเริ่มทางด้านงบประมาณ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องอุดด้วยการตัดลดรายจ่ายและเพิ่มการจัดเก็บภาษี ในทันทีที่พวกเขาสูญเสียช่องทางการทำการค้าอย่างเสรีไร้ข้อผูกมัดกับอียู

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการตัดสินใจของพวกเขายังจะเป็นการปลุกความหวาดกลัวที่ว่า จะเกิดกระแสเรียกร้องให้จัดการลงประชามติในรัฐอียูรายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกชาติสมาชิก ซึ่งกลุ่มข้องใจการรวมอยู่ในสหภาพยุโรป กำลังมีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และนั่นย่อมเป็นอันตรายต่อความเป็นหนึ่งเดียวของอียู ในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์หนักหนาสาหัสถึง 2 อย่างพร้อมๆ กันอยู่แล้ว อันได้แก่ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และวิกฤตการณ์ผู้อพยพลี้ภัย

“ยักษ์จินีแห่งความข้องใจไม่เอาอียู ได้หลุดออกมาจากขวดที่ขังมันไว้แล้ว และตอนนี้มันจะไม่ยอมถูกนำลงไปในขวดอีก” ฟาราจ ประกาศ

ขณะที่ ส.ส.ขวาจัดของเนเธอร์แลนด์ กีร์ต วิลเดอร์ส และ มารีน เลอ เปน หัวหน้าพรรคเนชั่นแนลฟรอนต์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพรรคแนวทางขวาจัด ได้ออกมาเรียกร้องในทันที ให้ประเทศของพวกตนจัดการลงประชามติว่าจะยังเป็นสมาชิกอียูต่อไปหรือไม่

ทางด้านนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ผู้นำการต่อสู้ที่พ่ายแพ้ในการชักชวนเกลี้ยกล่อมผู้ออกเสียงชาวสหราชอาณาจักรให้ยึดมั่นอยู่กับบรัสเซลส์ต่อไป ก็เผชิญกับแรงบีบคั้นให้เขาลาออกจากตำแหน่งในทันที

พวกบ่อนพนันถูกกฎหมายในสหราชอาณาจักรต่างให้แต้มต่อรองซึ่งชี้ว่า ตัวเต็งที่จะเข้าดำรงตำแหน่งแทนคาเมรอน ได้แก่ อดีตนายกเทศมนตรี บอริส จอห์นสัน คู่ปรับคนสำคัญที่สุดภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเขา และเป็นเสมือนหัวหน้าของฝ่าย “แยกตัว” คราวนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น