xs
xsm
sm
md
lg

“มนุษยชาติกำลังตกอยู่ในอันตราย เพราะความผิดพลาดของตนเอง” สตีเฟน ฮอว์คิง / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน 
โดย...ประสาท  มีแต้ม 
 
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีนามก้องโลก แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร วัย 74 ปี ได้ให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ “Radio Times” สรุปได้ว่า มนุษย์จำเป็นต้อง “ระมัดระวังเป็นอย่างมาก” ในช่วง 100 ปีข้างหน้า เนื่องจากถูกคุกคามจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือจากการกระทำของเราเอง
 
ศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์คิง เป็นผู้พิการด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่ยังวัยหนุ่ม ท่านไม่สามารถพูดได้ แต่ได้รับการยกย่องอย่างไม่เป็นทางการว่า เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความฉลาดรองจากอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ท่านสามารถสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ แล้วแปลงสัญญาณออกมาเป็นเสียงให้เราฟังได้ ท่านกล่าวว่า
 
“โลกเรากำลังเผชิญต่ออันตรายหลายอย่าง รวมทั้งสงครามนิวเคลียร์ ปัญหาโลกร้อน และการแพร่ของไวรัสพันธุวิศวกรรม แต่เชื่อว่า อันตรายจากความหายนะที่แพร่กระจายไปนี้อาจใช้เวลานานออกไป อาจจะเป็น 1,000 หรือ 10,000 ปีข้างหน้า” 
 
ผมได้ตัดภาพถ่ายเมื่อ 30 กว่าปีก่อน และภาพในปัจจุบันของท่านมาลงให้ดูด้วย พร้อมกับบางข้อความเพื่อให้ท่านผู้อ่านที่สนใจได้ค้นคว้าต่อไปครับ
 

 
“ภัยคุกคามส่วนมากที่เรากำลังเผชิญอยู่มาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เราจะไม่หยุดยั้งความก้าวหน้า หรือถอยหลังกลับไป แต่เราจำเป็นต้องตระหนักถึงอันตรายเหล่านั้น และควบคุมมัน ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี และเชื่อว่าเราสามารถจะทำได้”
 
ผมจำได้ว่า ในช่วงที่จะขึ้นปี ค.ศ.2000 ทั่วโลกรู้สึกกลัวอันตรายที่เรียกว่า Y2K” อันเนื่องมาจากเกรงว่าระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์จะสับสนเกี่ยวกับรหัสของปี ซึ่งมันจะแยกไม่ออกว่าเป็นปี 2000 หรือปี 0 แล้วจะทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการบิน หลายคนไม่กล้าบินในช่วงเวลาเปลี่ยนของปี หลายประเทศได้ลงทุนนับพันล้านดอลลาร์เพื่อแก้ไข และป้องกันล่วงหน้า แต่ศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์คิง ได้ให้สัมภาษณ์ในตอนนั้นโดยไม่ได้สนใจเรื่อง Y2K แต่ท่านกล่าวว่า มนุษย์ควรจะกลัว และระมัดระวัง 3 อย่าง ซึ่งก็เหมือนกับที่ท่านได้ให้สัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อสองสามวันก่อนนี้ คือ สงครามนิวเคลียร์ โลกร้อน และ พันธุวิศวกรรมซึ่งก็รวมถึงพืชจีเอ็มโอด้วย ทั้งสามอย่างล้วนแต่เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และผลกระทบของมันกำลังเป็นภัยคุกคามต่อชาวโลกทั้งมวล
 
ผมจำได้ว่า ในช่วงนั้นผมได้ค้นคว้าเพิ่มเติมต่อพบว่า (ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าใครพูด ฮอว์คิง หรือคนอื่น) กากนิวเคลียร์ หรือวัสดุที่ได้เพิ่มประสิทธิภาพแล้ว หากรั่วไหลหลุดออกไปอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย เขาสามารถประกอบเป็นระเบิดนิวเคลียร์ได้ในช่วงเพียงข้ามคืนเท่านั้น จากนั้นก็จับใส่กระเป๋าเอกสาร หรือเป้ไปวางที่ไหนก็ได้ เหมือนกับระเบิดธรรมดาที่แพร่หลายอยู่ในหลายพื้นที่ของโลกในขณะนี้ คราวนี้แหละภัยของมันก็จะเป็นระเบิดนิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นเคยโดนนั่นเอง
 
ที่น่าแปลกใจก็คือ ทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวต่างล้วนแต่กำลังเป็นปัญหาในบ้านเรา ดังนั้น สิ่งที่ท่านฮอว์คิง เตือน จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย โชคดีที่ประเด็นเรื่องจีเอ็มโอเพิ่งผ่านพ้นไปหยกๆ ด้วยความกล้าหาญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ท่านได้สั่งยุติเรื่องไป (ชมกันหน่อย)
 
เรื่องที่ผมจะพูดต่อไปนี้ เป็นประเด็นโลกร้อนครับ ซึ่งผมเองได้นำมาเสนอหลายปีแล้ว สาเหตุของโลกร้อนเกิดจากภาคพลังงานถึงกว่า 72% ที่เหลือเป็นภาคการเกษตรซึ่งได้แก่การใช้ปุ๋ยเคมี และการเน่าเปื่อยของพืช
 
การใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ภาคส่วนที่มากที่สุดก็คือภาคการผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าก็คือ เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำซึ่งเกิดขึ้นนับร้อยปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ ก็มีหลักการเดียวกัน คือ เอาเชื้อเพลิงมาต้มน้ำให้เป็นไอ แล้วเอาพลังไอน้ำไปหมุนกังหันแม่เหล็กเพื่อตัดกับขดลวดแล้วก็เกิดไฟฟ้า ผลเสียของมันนอกจากจะเสียเปรียบเชิงกลแล้ว ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ในกรณีถ่านหิน) แล้วก็เกิดก๊าซเรือนกระจกจนโลกร้อน
 
ปัญหาโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นในอัตราเร่ง และเป็นเรื่องใกล้ตัว เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชาวสวนอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้เล่าให้ผมฟังว่า “ปีนี้ลิ้นจี่อัมพวาอาจจะไม่ติดลูกเพราะอากาศเย็นไม่พอ ปกติเดือนนี้ควรจะเป็นลูกขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวแล้ว แต่ตอนนี้ไม่มี เพราะแรงดึงดูดของโลก (เขาพูดอย่างนี้จริงๆ)” ผมไปนอนที่นั่นอยู่ 2 คืน คืนแรกนั่งประชุมอยู่ใต้ถุนบ้านบางคนรู้สึกหนาวต้องใส่เสื้อ 2 ชั้น แต่ในคืนที่สองใส่เสื้อตัวเดียวก็รู้สึกร้อนเล็กน้อย นี่คือ ความแปรปรวน
 
รัฐบาลไทยเองก็ได้ประกาศสถานการณ์ภัยแล้งกว่า 1 ใน 3 ของประเทศแล้ว นับเป็นภัยแรงที่รุนแรงที่สุดซึ่งทำให้รัฐบาลทหารต้องปวดหัว และใช้เงินเป็นจำนวนในการแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อกว่า 4 พันบ่อ ซึ่งผมเองไม่แน่ใจว่าจะมีน้ำหรือไม่ ผมได้นำภาพ และข่าวสั้นๆ มาลงให้ดูด้วยครับ
 

 
ความจริงแล้วเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม เป็นเรื่องตามฤดูกาลธรรมดาๆ แต่ที่มันไม่ธรรมดาก็เพราะมีปรากฏการณ์ “เอลนีโญ่” เข้ามาผสมโรง และเกิดบ่อยมากขึ้น และเอลนีโญ่ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้เขาเรียกว่า “ซูเปอร์เอลนีโญ่” คือ รุนแรงมาก มันจึงเป็น “ซูเปอร์แล้ง” ครับ
 
จากการบันทึกของสถาบันด้านภูมิอากาศที่มีชื่อเสียงของโลกหลายสถาบันได้รายงานตรงกันว่า ปี 2015 ที่ผ่านมา เป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศสูงที่สุดนับตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม
 
แต่ที่น่ากลัวกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในปี 2016 จะร้อนกว่าปีที่แล้วอีก เพราะอิทธิพลของเอลนีโญ่ที่รุนแรงกว่าเดิมจะเข้ามาเสริมถึง 25% (ดูภาพประกอบเพลินๆ นะครับ)
 

 
ประเทศไทยเราอาจจะยังรวบรวมสถิติไว้ไม่ดีพอ แต่จากข้อมูลของสหรัฐอเมริกา พบว่า พื้นที่ที่ถูกไฟป่าไหม้ในปี 2015 นั้น กินพื้นที่มากที่สุดในรอบ 45 ปี คือกว่า 10 ล้านเอเคอร์ หรือประมาณ 25 ล้านไร่ ข้อมูลนี้ช่วยเสริมข้อมูลข้างต้นได้
 

 
ผลกระทบเรื่องโลกร้อนไม่ได้มีแค่ภัยแล้ง น้ำท่วม และโอกาสในการเกิดพายุระดับรุนแรงเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงความเป็นกรดของน้ำทะเลอีกด้วย ทำให้บ้านของปลาคือ ปะการังถูกฟอกขาวและตาย นอกจากนี้ สารเคมีที่จะไปสร้างกระดูกของปลาต้องลดน้อยลง โลกจะขาดแคลนอาหารทะเลซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของมนุษย์
 
ในตอนแรกๆ นักวิทยาศาสตร์รู้สึกดีใจมากที่มหาสมุทรซึ่งมีขนาด 3 ใน 4 ของผิวโลกเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ หรือทำให้ผ้าห่มโลกบางลง แต่หลังจากปี 2003 เป็นต้นมา (เพิ่ง 10 กว่าปีเท่านั้น) นักวิทยาศาสตร์ พบว่า มหาสมุทรกลับมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น คือ น้ำทะเลเป็นกรด
 
ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องว่าถ้าน้ำทะเลเป็นกรดแล้วจะส่งผลกระทบต่ออาหารทะเลอย่างไร แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน เกรงว่าท่านผู้อ่านจะไม่สนใจ แต่ในบทความนี้ ผมขอยกบทความชิ้นหนึ่งใน Ecowatch ซึ่งเพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว มาวันนี้ผมขอยกมาให้ดู คือ เรื่อง “อาหาร 10 ชนิดอาจจะหายไปเพราะโลกร้อน” ในจำนวนนี้มีข้าว และถั่ว และอาหารทะเลด้วย (ที่ผมจำได้ มี กาแฟ แอปเปิล พืชที่ใช้ทำเบียร์ ช็อกโกแลต เนยถั่ว และอะโวคาโด ซึ่งชาวอเมริกันนิยมนำมาผสมอาหารขบเคี้ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาเชียร์อเมริกันฟุตบอล)
 
ประชากรกว่าครึ่งโลกต้องบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก และในจำนวนนี้ 90% เป็นชาวเอเชีย และในจำนวนนี้ 560 ล้านคน เป็นคนจนครับ ข้าวเป็นพืชที่ต้องใช้น้ำมากกว่าพืชชนิดอื่น ดังนั้น ในที่สุดแล้วคนจนในเอเชียก็ได้รับผลกระทบจากภัยโลกร้อนเป็นอันดับแรกๆ
 

 
ดังนั้น ภัยจากโลกร้อนจึงรุนแรง และน่ากลัวมาก เราจำเป็นต้องตระหนักถึงอันตรายเหล่านั้นและควบคุมมันตามที่ ศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์คิง ได้เตือนไว้ แล้วท่านได้ทิ้งท้ายไว้ว่าท่านเป็นคนมองโลกในแง่ดี และเชื่อว่า “เราสามารถจะทำได้”
 
คำถามคือ ทำอย่างไร ศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์คิง ไม่ได้ตอบคำถามนี้
 
แต่เมื่อเราทราบต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน ประกอบกับเรามีเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัย และแตกต่างในเชิงหลักการอย่างสิ้นเชิงกับเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งได้แก่ โซลาร์เซลล์ กังหันลม ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีต้นทุนถูกลงมาก ถูกกว่าค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคจ่ายให้แก่บริษัทผลิตไฟฟ้าในหลายเมืองใหญ่ของโลก ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 และ 2016 (รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย) เราก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ ผมเข้าใจว่านี่คือความหมายที่ ศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์คิง ว่า “เราสามารถจะทำได้”
 
ผมได้ติดตามเอกสารงานวิจัยขององค์กรที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมายซึ่งยืนยันถึงสิ่งที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ก็มีผู้สนใจอ่านเพียงจำนวนน้อยนิด ในขณะที่กลุ่มพ่อค้าพลังงานฟอสซิลที่ผูกขาดได้ใช้อำนาจทุกอย่าง ทั้งอำนาจเงิน อำนาจทางการเมือง ให้ข้อมูลเท็จต่อสังคม ด้วยความมุ่งหวังเพียงประการเดียวคือ กำไรของตนเท่านั้น
 
ล่าสุด รายงาน The International Renewable Energy Agency (IRENA) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลได้ออกรายงานล่าสุดเมื่อกลางเดือนมกราคม 2016 นี้เอง ซึ่งมีข้อสรุปสำคัญบางส่วนว่า จีดีพีโลก และการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นอีก 1.1% หากมีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในปี 2030 โดยจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 24 ล้านตำแหน่ง
 
ผมจะค่อยๆ นำมาเสนอในคอลัมน์นี้ แต่ก่อนจะจบบทความนี้ผมขอนำประสบการณ์ของต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว เขาสรุปว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์จากล่างขึ้นบน (Bottom Up Phenomenon)” ไม่ใช่ “จากบนลงล่าง” ดังนั้น ท่านผู้อ่านที่เห็นด้วยกรุณาช่วยกันครับ อย่าลืมว่าภัยคุกคามกำลังมาในอัตราเร่งครับ ขอบคุณครับ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น