xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารพลังงานของสิงโตขณะออกล่าเหยื่อและล้มเหยื่อ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพเก่าตั้งแต่เดือน ต.ค.2015 เผยภาพสิงโต ที่ถูกปล่อยในเขตรักษาพันธุ์สิงโต Lionsrock Lions Sanctuary ใน Bethlehem แอฟริกาใต้ (AFP / MUJAHID SAFODIEN)
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.2015 สิงโตชื่อ Cecil ได้ถูกนักล่าสัตว์ชาวอเมริกันยิงเสียชีวิต หลังจากที่ถูกล่อเดินออกจากป่า Hwange ในประเทศ Zimbabwe ข่าวการเสียชีวิตของ Cecil ทำให้คนที่รักและผูกพันกับสิงโตทั่วโลกเป็นเดือดเป็นแค้นมาก เพราะ Cecil เป็นสิงโตสุดเลิฟของ David Macdonald แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ผู้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยการอนุรักษ์สิงโตของโลก

ดังนั้นเมื่อผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ชื่อ Jimmy Kimmel ประกาศขอเงินบริจาคสนับสนุนให้โครงการนี้ยืนหยัดต่อไปได้ ผู้มีจิตศรัทธาต่างๆ ได้ระดมกำลังทรัพย์ช่วยจนได้เงินประมาณ 10 ล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึงเดือน เพื่อให้นักวิจัยของโครงการสามารถติดตามศึกษาวิถีชีวิตของสิงโตจำนวนกว่า 200 ตัวในป่าของ Zimbabwe, Botswana และ Zambia โดยการใช้ดาวเทียมวิเคราะห์วิถีชีวิตของสิงโตเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี

ถ้าอินทรีคือเจ้าเวหา เจ้าป่าก็น่าจะได้แก่สิงโต เพราะสัตว์ทั้งสองชนิดนี้แข็งแรงและเฉลียวฉลาด จนทำให้ นักเล่นแร่แปรธาตุในสมัยโบราณมักเปรียบทองคำว่าเป็นสิงโต ด้านชาวยุโรปก็เชื่อว่า สิงโตคือสัญลักษณ์ของความเป็นชาย ตำราโหราศาสตร์มักใช้สิงโตเป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ และสำหรับสำนวนที่ว่าสิงโตเฒ่านั้นเป็นคำอุปมาที่ใช้แทนคนในวัยชราที่ใกล้จะหมดอำนาจวาสนา

ด้านชาวอียิปต์ในยุคฟาโรห์มีความเชื่อว่า สิงโตเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีหน้าที่ควบคุมการไหลของน้ำในแม่น้ำ Nile เพราะอุทกภัยมักเกิดในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม อันเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ในราศีสิงโต (Leo) ส่วนชาวกรีกและชาวโรมันนั้นนิยมตกแต่งน้ำพุในสวนด้วยรูปปั้นสิงโตที่มีน้ำพุ่งออกมาจากปาก กำแพง Ishtar แห่งกรุง Babylon มีกระเบื้องเคลือบที่เรียงประดับเป็นรูปสิงโต 60 ตัว และมีรูปโมเสกของเทพธิดา Ishtar ทรงธนูประทับบนรถศึกที่ลากโดยสิงโต 7 ตัว เทพนิยายกรีกกล่าวถึง เทพ Hercules ว่า ทรงใช้พระหัตถ์เปล่าในการต่อสู้และสังหารสิงโต เพื่อให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณหุบเขา Nemea ปลอดภัย แล้วทรงถลกหนังสิงโตไปทำฉลองพระองค์เพื่อคุ้มครองพระองค์ให้ปลอดจากการถูกทำร้าย

แม้ดินแดนปาเลสไตน์ในตะวันออกกลางจะไม่มีสิงโตอาศัยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่คัมภีร์ไบเบิลก็มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับสิงโต เช่น ในยามใดที่มีการกล่าวถึงสิงโต และมีลูกแกะอยู่ใกล้ๆ นั่นแสดงว่าดินแดนนั้นกำลังมีสันติภาพ และสิงโตใน Palestine ถูกจอมพลัง Samson ฆ่าด้วยมือเปล่า สำหรับองค์พระเยซูก็ทรงได้รับการเทอดทูนเสมือนว่าทรงเป็นสิงโตที่กล้าหาญ กษัตริย์ Richard ที่ 1 แห่งอังกฤษทรงโปรดให้สิงโตมีปีกเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์เพื่อแสดงการทรงพระราชอำนาจในการต่อสู้กับฝ่ายอธรรม ส่วนกษัตริย์ Assyria แห่งดินแดน Mesopotamia ทรงโปรดปรานการเสด็จป่าล่าสิงโต แต่เมื่อถึงวันนี้ป่าในยุโรป และเอเชียตะวันตกไม่มีสิงโตอาศัยอยู่เลย

สิงโตเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตามปกติมีถิ่นอาศัยอยู่ในแอฟริกา และในบริเวณที่ราบในระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูง 3,000 เมตร มันไม่ชอบอาศัยอยู่ในป่าทึบ ทะเลทราย หรือที่ชื้น แต่ชอบใช้ชีวิตในทุ่งกว้างที่มีสายน้ำไหลตลอดเวลามากกว่า เพราะจะทำให้มันหาเหยื่ออย่างอุดมสมบูรณ์ ทวีปยุโรปในสมัยดึกดำบรรพ์เคยมีสิงโต เพราะได้มีการพบซาก fossil ของสิงโตในถ้ำที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี

สิงโตมีนิสัยแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ในจำพวกแมว ตรงที่ชอบใช้ชีวิตอยู่กันเป็นฝูง โดยมีจำนวนตั้งแต่ 2-30 ตัว (แมวชอบใช้ชีวิตอิสระ) สิงโตที่โตเต็มที่อาจมีลำตัวยาวถึง 3 เมตร (วัดจากจมูกถึงปลายหาง) และสูงประมาณ 1 เมตร มีขนสีน้ำตาล และมีลีลาท่าเดินที่สง่า เวลาออกล่าเหยื่อมันจะเดินย่อง แล้วใช้ฟันที่แข็งแรงทึ้ง กัดและฉีกเนื้อเหยื่อเป็นชิ้นๆ ขากรรไกรที่แข็งแรงของมันสามารถขบศีรษะเหยื่อจนกะโหลกแตกได้ เหยื่อที่มันโปรดปรานได้แก่ ม้าลาย เก้ง กวาง เลียงผา ฯลฯ ยามขี้เกียจมันจะนอนพักผ่อน สายตาที่แหลมคมช่วยให้มันเห็นเหยื่อที่ระยะไกลได้ แม้ในยามโพล้เพล้ ตามปกติสิงโตชอบล่าเหยื่อในเวลากลางคืน หรือเวลาฟ้าคะนอง ในเวลากลางวันมันชอบนอนพักผ่อนใต้ต้นไม้ หรือกลางทุ่งหญ้า แล้วใช้สายตาจ้องดูฝูงเหยื่อที่กำลังเล็มหญ้า ตกเย็นเมื่ออุณหภูมิของอากาศเริ่มลด บรรดาเหยื่อต่างก็รู้ว่าชีวิตเริ่มไม่ปลอดภัยแล้ว เพราะสิงโตจะแอบย่องเข้าใกล้ แล้วกระโดดตะปบด้วยความเร็วที่สูงตั้งแต่ 60-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เข้ากัดที่คอเหยื่อจนขาดใจ แต่ถ้าเหยื่อฮึดสู้และหลบหนีได้นาน สิงโตก็อาจหยุดไล่ล่า แล้วหันไปซุ่มซ่อนตัวในพงหญ้าเพื่อคอยตะปบเหยื่อตัวต่อไป
Yabu สิงโตขาวในสวนสัตว์ที่ฝรั่งเศส จ้องห่อของขวัญในเทศกาลอีสเตอร์ (AFP / JEAN-FRANCOIS MONIER)
ตามปกติสิงโตสามารถซ่อนและพรางตัวได้ดีมาก แต่กลิ่นสาบของมันมักทำให้เหยื่อรู้ตัวก่อน ดังนั้นเวลาออกล่าเหยื่อ มันจะฟุบตัวหมอบอยู่ใต้ลม ให้ลมพัดเข้าหา การทำเช่นนั้นทำให้มันได้กลิ่นสัตว์อื่นแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยสัตว์อื่นจะไม่ได้กลิ่นมัน เวลาออกล่าเหยื่อ สิงโตชอบไปเป็นฝูง และทันทีที่เห็นเหยื่อเช่น กวางหรือม้าลาย มันจะหมอบลง แล้วคลานเข้าหาเหยื่ออย่างช้าๆ สิงโตอีกตัวอาจเดินแยกออกทางด้านข้าง แล้วให้สิงโตตัวอื่นๆ หมอบลง จากนั้นตัวที่เดินแยกจะย่องเดินจนถึงตำแหน่งที่อยู่ขวางทางลม แล้วมันก็จะยืนขึ้นให้ลมพัดกลิ่นตัวมันไปทางเหยื่อ ซึ่งจะทำให้เหยื่อตกใจกระโจนวิ่งไปหาหมู่สิงโตที่กำลังหมอบอยู่ ให้เลือกตะปบฆ่าตามอำเภอใจ การโจมตีพร้อมเสียงคำรามจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะวิ่งยังไม่ทันเต็มฝีเท้า แต่มันก็ถึงตัวเหยื่อแล้ว เพราะสิงโตตัวผู้และตัวเมียอาจหนักถึง 250 กิโลกรัม และ 150 กิโลกรัมตามลำดับ ดังนั้นเหยื่อที่มีขนาดเล็กกว่าเวลาถูกมันพุ่งชนจะหกล้มในทันที จากนั้นมันจะใช้ปากงับที่คอ และขบกัด จนคอเหยื่อคอหัก โดยโอกาสความสำเร็จในการล่าเลียงผาหรือละมั่งของสิงโตมีค่าประมาณ 20% และทุกครั้งที่ตัวหนึ่งตัวใดจับเหยื่อได้ มันทั้งฝูงจะแบ่งกันกินจนอิ่ม ถ้ากินเหยื่อไม่หมด มันก็จะหวนกลับมากินซากที่เหลือต่อในภายหลัง เหยื่อที่สิงโตโปรดปราน ได้แก่ ควาย ม้าลาย หมูป่า ละมั่ง, gazaelle, gnu ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ แต่ถ้ามันหิวมาก ลิง กระต่าย หรือแม้แต่หนูตัวเล็กๆ มันก็กิน จะมีแต่ช้าง แรด และจระเข้ที่โตเต็มที่เท่านั้นที่จะไม่กลัวสิงโต แต่สำหรับลูกช้างหรือลูกแรด ถ้าพ่อแม่มันไม่คุ้มครองก็อาจถูกสิงโตฆ่าได้

สิงโตไม่ชอบล่าเหยื่อในป่าที่มีต้นไม้หนาแน่น เพราะสัตว์ที่อาศัยในป่าทึบมักปีนป่ายต้นไม้เก่ง มันจึงปล่อยเหยื่อในบริเวณนั้นให้เสือล่าแทน แอ่งน้ำเป็นสถานที่หนึ่งที่สิงโตชอบออกล่าเหยื่อ เพราะในหน้าแล้งสัตว์จำนวนมากมักมาดื่มน้ำที่แอ่ง ดังนั้น สิงโตจึงชอบมาคอยเหยื่อตั้งแต่เช้า การที่มันสามารถว่ายน้ำได้ดี ดังนั้นมันจะสามารถว่ายข้ามแม่น้ำกว้างได้อย่างไม่มีปัญหา

ตามปกติสัตว์แทบทุกชนิดเวลาเห็นสิงโตมักวิ่งหนี แต่มีสัตว์เพียงสองชนิดที่ชอบเดินตาม สัตว์ดังกล่าว คือ hyena กับ jackal ตัว hyena นั้นมีรูปร่างเหมือนสุนัข ชอบกินสัตว์ที่ตายแล้ว เพราะสิงโตไม่ชอบกินเนื้อ hyena ดังนั้นมันจึงปลอดภัย และชอบเดินตามสิงโตไปทุกหนแห่งเพื่อขอแบ่งกินเหยื่อที่สิงโตล่าได้ โดยมันจะยืนดูสิงโตจากที่ไกล จนเห็นว่าสิงโตกินเหยื่อไม่หมดแล้ว มันก็จะเดินเข้าไปกินต่อ สำหรับ jackal นั้นมีนิสัยเดียวกับ hyena แต่ฉลาดกว่าและวิ่งเร็วกว่า

สิงโตตัวผู้ที่เป็นหัวหน้าฝูงอาจมีฮาเร็มตัวเมียหลายตัว หรือตัวเมียหนึ่งตัวอาจมีฮาเร็มตัวผู้หลายตัว สิงโตตัวเมียที่อยู่ในฝูงเดียวกันมักช่วยดูแลลูกให้กัน และเวลาติดสัดสิงโตตัวผู้และตัวเมียจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนานประมาณสองสัปดาห์ อีก 4 เดือนต่อมา ตัวเมียจะคลอดลูกที่หนักประมาณ 1 กิโลกรัม ลูกครอกหนึ่งอาจมีตั้งแต่ 2-6 ตัว ลูกสิงโตที่เกิดใหม่มักมีลายเต็มตัว (หลังจากที่เวลาผ่านไป 10 เดือน ลายตามตัวจะเลือนหายไปจนหมด) เพราะลูกสิงโตช่วยตัวเองไม่ได้ ดังนั้นแม่สิงโตจึงต้องนำลูกอ่อนไปซ่อนไม่ให้สิงโตตัวผู้อื่นเห็น เพราะมันอาจถูกสิงโตที่ไม่ใช่พ่อฆ่าได้ เวลาสิงโตตัวเมียหิว มันจะออกล่าหาอาหารมาเลี้ยงลูก และทิ้งลูกน้อยให้อยู่ตามลำพัง ถ้า hyena หรือ jackal ได้กลิ่นลูกสิงโต มันอาจเข้ามาจับกิน ดังนั้น โอกาสการรอดชีวิตของลูกสิงโตจึงมีประมาณ 50% เมื่อลูกสิงโตมีอายุ 3 เดือน มันจะวิ่งเล่นเหมือนลูกแมว และเริ่มฝึกล่าเหยื่อเมื่ออายุได้ประมาณ 5 เดือน โดยพ่อหรือแม่มันจะไล่เหยื่อขนาดเล็กให้วิ่งหนีมาให้ลูกมันฝึกฆ่า สิงโตที่อายุ 2 ปีถือว่าโตเต็มที่ และถ้าได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี มันอาจมีอายุยืนถึง 30 ปี แต่ถ้ามันอยู่ป่า ชีวิตของมันจะสั้น ส่วนสิงโตที่มีอายุมากเวลาไม่มีญาติหาเหยื่อมาให้กิน มันก็จะอดอาหารตาย
Yabu สิงโตขาวในสวนสัตว์ที่ฝรั่งเศส จ้องห่อของขวัญในเทศกาลอีสเตอร์ มีตัวเมียเดินมาข้างๆ  (AFP / JEAN-FRANCOIS MONIER)
ชาวบ้านแอฟริกาที่ยากจนชอบเลี้ยงสัตว์ และทำไร่มาก และเวลาสิงโตหาอาหารไม่ได้เลย มันจะรู้สึกหิวมากจนต้องลอบฆ่าสัตว์ที่ชาวบ้านเลี้ยง ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงสร้างคอกกั้นสัตว์เลี้ยง สำหรับสิงโตชราที่ล่าสัตว์ไม่ได้ และหิวมากก็อาจเดินเข้ามาล่าสัตว์เลี้ยงอย่างไม่กลัวคน และถ้ามันเห็นเด็กเล็ก หรือคนชรา มันก็อาจกินเนื้อมนุษย์แทน ซึ่งถ้าชอบ มันก็จะสอนลูกของมันให้ทำฆาตกรรมคนต่อไป และเวลาคนในหมู่บ้านถูกสิงโตฆ่า ชาวบ้านในพื้นที่มักรู้สึกต้องการแก้แค้น สำหรับชนเผ่า Masai นั้นยึดถือประเพณีว่า ชายคนใดที่มีเลือดสิงโตติดที่ปลายหอก เขาคือผู้กล้าหาญที่สตรีชาว Masai ทุกคนชื่นชม และชายใดที่ฆ่าสิงโตได้ ก็จะได้เป็นวีรบุรุษของเผ่า อนึ่งเวลาออกล่าสิงโต คนที่สามารถทำให้สิงโตมีบาดแผลได้เป็นคนแรก จะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ฆ่าสิงโตตัวนั้น

ส่วนชนเผ่า Ankole ในแอฟริกามีประเพณีว่า เวลากษัตริย์ของเผ่าเสด็จสวรรคต พระองค์จะทรงกลับชาติมาเกิดเป็นสิงโต ดังนั้น คนเผ่านี้จึงไม่ฆ่าสิงโต แต่ถ้าสมาชิกของเผ่าถูกสิงโตฆ่า ชาวบ้านมักมาขอคำปรึกษาจากหมอผีว่าควรทำอย่างไรต่อไป ซึ่งถ้าหมอผีบอกว่า สิงโตตัวนั้นเป็นเพียงสัตว์ธรรมดา ชาวบ้านก็จะออกล่าสิงโตทันที แต่ถ้าหมอผีบอกว่าสิงโตเป็นกษัตริย์ที่กลับชาติมาเกิดใหม่ พวกเขาก็จะนำเนื้อสัตว์ไปให้สิงโตกิน สิงโตเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบสุงสิงกับคน ดังนั้น มันมักหลบหลีกคน และเวลาหิวมากมันจะออกอาการดุร้าย ในทำนองตรงกันข้าม ถ้าท้องอิ่ม มันก็จะมีอารมณ์ดี

ที่ Mexico มีสิงโตภูเขา (Puma concolor) และแกะเขาใหญ่ (Ovis Canadensis) ซึ่งเป็นสัตว์ที่ได้รับความคุ้มครอง แต่แกะเขาใหญ่มักถูกสิงโตภูเขาฆ่า การสำรวจตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมาทำให้มีข้อมูลว่า แกะเขาใหญ่ 40 ตัวต้องเสียชีวิตเพราะถูกสิงโตภูเขาฆ่า ด้วยเหตุนี้รัฐบาล Mexico จึงขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสิงโตและได้ข้อเสนอแนะว่า ชาวบ้านควรฆ่าสิงโตภูเขาให้มากขึ้น เพื่อแกะเขาใหญ่จะได้ไม่สูญพันธุ์ จากเดิมที่เคยฆ่า 176 ตัว ใน 10 ปี ก็ให้สามารถฆ่าได้ถึง 234 ตัวในเวลาเดียวกัน ซึ่งจำนวนนี้อาจมากถึง 1/3 ของสิงโตภูเขาที่ประเทศเม็กซิโกมี

ด้าน C. Parker แห่งภาควิชานิเวศวิทยาของมหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกาก็ได้รายงานว่า ในประเทศ Tanzania การวิเคราะห์เหยื่อที่ถูกสิงโตฆ่า ทำให้พบว่า ตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา มีคน 563 คนที่ถูกสิงโตฆ่า และคนที่ถูกสิงโตทำร้ายก็มีมากถึง 308 คน การสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่า การฆาตกรรมมักเกิดในฤดูเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สิงโตขาดแคลนอาหาร
Nikita สิงโตวัย 9 ขวบ พร้อมลูกๆ อีก 3 ตัว มารุมของขวัญในเทศกาลอีสเตอร์ (AFP / JEAN-FRANCOIS MONIER)
เพื่อวางวางแผนป้องกันการฆาตกรรมคนในอนาคต การสำรวจทำให้ได้ข้อมูลว่า ในปี 2531 ประชากร ชาว Tanzania ได้เพิ่มจาก 23.1 ล้านคนเป็น 34.6 ล้านคนในปี 2554 และ 39% ของเหยื่อได้ถูกสิงโตฆ่าในฤดูเก็บเกี่ยว คือ ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยที่ 18% ของเหยื่อมีอายุต่ำกว่า 10 ปี และ 69% ของเหยื่อที่เสียชีวิตเป็นผู้ชาย สถิติตัวเลขนี้เป็นของชายที่ต้องทำหน้าที่เฝ้าวัว ควาย หรือชอบเดินคนเดียวในเวลาค่ำ อีกทั้งชอบออกล่าสัตว์คนเดียว ส่วนผู้หญิงมักถูกสิงโตฆ่าเวลาอยู่ในบ้าน กลางทุ่งนา โดยสิงโตจะบุกเข้าในบ้านเพื่อลากตัวสตรีผู้เคราะห์ร้ายไป หรือขณะที่เธอให้นมลูก สำหรับเด็กที่ถูกสิงโตทำร้ายนั้นมักเป็นเด็กที่ชอบเล่นนอกบ้าน เพราะรั้วบ้านมักทำด้วยกิ่งไม้ที่ไม่แข็งแรง ดังนั้น สิงโตจึงบุกทำลายได้ง่าย หรือเวลาชาวบ้านไปส้วม ที่อยู่นอกบ้านเขาก็อาจถูกสิงโตจู่โจม การสำรวจยังได้ข้อสรุปว่า 27% ของการเสียชีวิตเกิดที่บริเวณทุ่งนา ขณะเหยื่อกำลังเฝ้านาไม่ให้หมูป่าบุกรุก

การสำรวจได้ฟันธงสรุปว่า แม้สิงโตหลายสายพันธุ์ได้สูญพันธ์ไปแล้ว แต่จำนวนคนที่เพิ่มตลอดเวลาทำให้คนจำนวนมากต้องพากันไปบุกรุกป่า เพื่อล่าสัตว์ที่เป็นอาหาร (ของสิงโต) การกระทำเช่นนี้ทำให้สิงโตขาดแคลนอาหาร ดังนั้น การจะให้สิงโตไม่สูญพันธุ์ นักอนุรักษ์สิงโตจึงต้องพยายามเข้าใจวิถีชีวิตและจิตใจของชาวบ้านด้วย
ลูกสิงโตขาวในสวนสัตว์ที่ฝรั่งเศสอีกตัวกำลังเปิดห่อของขวัญในเทศกาลอีสเตอร์ (AFP / JEAN-FRANCOIS MONIER)
ในวารสาร Science ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.2014 D.M. Scantlebury กับคณะได้รายงานการวิเคราะห์การใช้พลังงานของสัตว์กินเนื้อ ในการออกล่าเหยื่อ และในการสังหารเหยื่อว่า สัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ (เสือ สิงโต ฯลฯ) จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ในปริมาณมากอย่างเพียงพอจึงจะมีชีวิตรอดได้ และมันต้องเดินหาเหยื่อ เพราะเหยื่อเป็นสิ่งมีชีวิตที่เดินได้ และเมื่อพบเหยื่อแล้วมันก็จะใช้พลังงานอีกส่วนหนึ่งเพื่อฆ่าเหยื่อนั้นเป็นอาหาร ส่วนสัตว์กินพืชไม่มีปัญหาใดๆ เพราะพืชมักอยู่ปักหลักให้มันกิน โดยไม่ต่อต้านอะไรเลย

คณะนักวิจัยยังได้พบอีกว่า สิงโตภูเขาเป็นสัตว์ที่ชอบหมอบฟุบคอยให้เหยื่อเดินมาหา แต่เสือชีตา (Acinonyx jubatus) ชอบเดินล่าเหยื่อไปรอบๆ โดยการไล่จับด้วยความเร็วสูง สัตว์ทั้งสองชนิดนี้จึงมีวิธีล่าที่แตกต่างกัน
สิงโตหลุดจากอุทยานแห่งชาติ Amboseli ของเคนยา และป้วนเปี้ยนในเขต Kajiado ซึ่งห่างจากกรุงไนโรบีเพียง 35 ไมล์ สุดท้ายจึงถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย (AFP / STRINGER)
ตามปกตินักวิจัยในอดีตที่ศึกษาปัญหาการใช้พลังงานของสัตว์มักใช้วิธีประเมินอัตราการเผาผลาญพลังงาน ด้วยการวัดระยะทางที่สัตว์เดินหาเหยื่อ และความเร็วในการฆ่าเหยื่อเป็นเวลานาน 24 ชั่วโมง โดยใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น กล้องส่องทางไกล หรือระบบ GPS (Global Positioning System) ในการติดตามสัตว์

แต่นักวิจัยชุดนี้กลับใช้อุปกรณ์ SMART (species movement, acceleration and radio tracking) ซึ่งมักติดอยู่ที่ปลอกคอของสัตว์ และสามารถบอกปริมาณพลังงานที่สัตว์ใช้ไป ไม่ว่าจะเป็นเวลาพักผ่อน กินอาหาร วิ่ง ฯลฯ องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้คือพลังงานที่ใช้ในการแสวงหาเหยื่อ มีค่าสูงกว่าพลังงานที่ต้องใช้ในการฆ่าเหยื่อ ซึ่งตรงข้ามกับสามัญสำนึกของคนทั่วไปที่คิดว่า การล้มเหยื่อ เช่น ช้าง ยีราฟ ควายป่า ฯลฯ ของสิงโตต้องใช้พลังงานมากกว่าการเดินหาเหยื่อตามสบายๆ และคำอธิบายสำหรับเรื่องนี้คือพลังงานที่สิงโตใช้ในการฆ่า แม้จะมาก แต่ภายในช่วงเวลาสั้นๆ ส่วนการเดินหาเหยื่อนั้น แม้จะใช้พลังงานน้อย แต่สิงโตต้องใช้เวลานาน ดังนั้นสิงโตภูเขาจึงชอบวิธีนั่งคอยให้เหยื่อเดินเข้ามาหา ทั้งนี้เพื่อประหยัดและสงวนพลังงานในตัวมันนั่นเอง
Tejas สิงโตในสวนสัตว์ที่เยอรมนี (AFP / dpa / Oliver Berg)
อ่านเพิ่มเติมจากบทความวิจัยใน The Open Ecology Journal ฉบับที่ 3 หน้า 1 ปี 2010 โดย J.W. Laundré กับคณะ

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น