xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยลดน้ำหนัก "ดินเผาด่านเกวียน" เพิ่มคุณค่าของฝากโคราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
หลายครั้งที่อยากซื้อของฝากดีๆ สักชิ้น แต่กลับต้องตัดใจเพราะภาระน้ำหนักที่มากเกินจะขนกลับไหว ทำให้หลายต่อหลายคนต้องตัดใจไม่ซื้อกลับมา "เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน" ก็เช่นกัน นักวิจัยราชภัฎโคราชจึงวิจัยสูตรดินใหม่ให้เผาแล้วเบาขึ้นจนฝรั่งชอบใจเพิ่มยอดขายให้ชาวบ้าน

นายดุริวัฒน์ ตาไธสง นักวิจัยโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีเซรามิก คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนเป็นของดีอย่างหนึ่งของ จ.นครราชสีมา มีความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เป็นที่นิยมของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวยัง ต.ด่านเกวียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนถูกบรรจุลงในคำขวัญประจำจังหวัดว่า "เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน"

ทว่าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน มีน้ำหนักมาก เพราะผลการวิจัยเนื้อดินพบว่าในเนื้อดินด่านเกวียนมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นควอตซ์ 70.44% อะลูมินา 19.10% เหล็กออกไซด์ 7.4% ดุริวัฒน์จึงคิดหาวิธีลดน้ำหนักของดินเผาจากเดิมที่ใช้ดินด่านเกวียนเกือบ 100% ด้วยการหาวัตถุดิบอื่นเข้ามาเป็นส่วนผสมเพิ่มเติม จนได้ข้อสรุปเป็นกากมันสำปะหลัง อันเป็นขยะพลอยได้จากโรงงานผลิตมันที่กระจายตัวอยู่ทั่วจังหวัด

สำหรับการพัฒนาดิน ดุริวัฒน์ เผยว่า เขาเริ่มจากการลองผิดลองถูกด้วยการนำดินด่านเกวียน, ปูนขาว และกากมันสำปะหลัง มาผสมในอัตราส่วนที่ลดหลั่นกันทั้งสิ้น 36 อัตราส่วน นำมาใส่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ ที่ความยาว 10 เซนติเมตร จากนั้นจึงนำไปเผาที่อุณหภูมิ 1,100 และ 1,200 องศาเซลเซียส จนได้ออกมาเป็นแท่งดินแล้วจึงนำมาทดสอบการซึมน้ำ ความหนาแน่น ความพรุนตัว พร้อมชั่งน้ำหนัก เพื่อทำการเปรียบเทียบคุณภาพ เพื่อให้ได้สูตรดินตามต้องการ โดยสูตรที่ดีที่สุดเขาเผยว่าเป็นสูตรที่ 7 แต่ไม่สามารถเปิดเผยสัดส่วนองค์ประกอบได้ โดยทำให้ดินมีน้ำหนักเบาขึ้นถึง 50% โดยที่คุณภาพและเนื้อดินเผาด่านเกวียนไม่เปลี่ยนไปจากเดิม

ดุริวัฒน์ วิคราะห์ว่า เหตุที่ส่วนผสมสูตรใหม่ทำให้ดินมีน้ำหนักลดลง เป็นเพราะในกากมันสำปะหลังมีเส้นใยสูง ช่วยลดการกระจายดินได้เป็นอย่างดี โดยไม่ก่อให้เกิดผิวขรุขระของพื้นผิวแต่อย่างไร เพราะเมื่อนำดินไปเผา กากส่วนนอกของมันสำปะหลังจะสลายตัว ทำให้ผิวดินปั้นมีความเรียบเนียน และยังใช้พลังงานในการเผาเท่าเดิม ซึ่งเขาได้นำมาสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมใหม่ๆ เช่น อิ่มสุข ที่เป็นการผสมผสารศิลปะลงบนสินค้าโอทอปได้อย่างกลมกลืน ซึ่งขณะนี้ได้นำร่องให้ชาวบ้านใน อ.โชคชัย ต.ด่านเกวียน ทดลองนำดินไปลองใช้ ซึ่งได้รับความพึงพอใจเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี ดุริวัฒน์ เผยว่า แม้คุณภาพดินจะดีและมีน้ำหนักเบาลงมากจนส่งผลดีต่อการขนส่ง ที่จะช่วยทุ่นค่าน้ำมันและเป็นตัวแปรที่ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจซื้อง่ายขึ่น แต่ในอนาคตก็ยังคงต้องทำวิจัยต่อ เพราะในภาคปฏิบัติกากมันสำปะหลังมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ทำให้ชาวบ้านรู้สึกเป็นอุปสรรค

ทั้งนี้งานวิจัยเพื่อพัฒนาสูตรดินเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนถูกนำมาจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยภูมิภาค ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือน มี.ค. 59 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้รับงบวิจัยในทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมาในปีงบประมาณ 2556
เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
ในเนื้อดินมีการผสมกากมันสำปะหลังเพื่อลดน้ำหนัก
นายดุริวัฒน์ ตาไธสง นักวิจัยโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีเซรามิก คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น