xs
xsm
sm
md
lg

ม.ราชภัฏมหาสารคามชู “มันหมักยีสต์” เพิ่มคุณค่าอาหารสัตว์ลดต้นทุนผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาสารคาม - คณะเทคโนโลยีการเกษตร ม.ราชภัฏมหาสารคาม ปลื้มผลงาน “มันหมักยีสต์” ช่วยเพิ่มคุณค่าอาหารสัตว์ลดต้นทุนค่าอาหารให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์หลากชนิด ทั้งสุกร เป็ด ไก่ โค ปลากินพืช เผยช่วยเพิ่มโปรตีน พลังงาน และคุณค่าทางโภชนาการตามความต้องการของสัตว์ ชี้ต้นทุนผลิตอาหารต่ำแค่กิโลกรัมละ 1 บาท

วันนี้ (21 ก.ค. 58) ที่อาคาร 35 คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาสารคาม ผศ.ดร.สิทธิศักดิ์ คำผา อาจารย์ประจำสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ร่วมกับนักศึกษา แถลงข่าวความสำเร็จสูตรมันหมักยีสต์สูตรใหม่ เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารลดต้นทุนเลี้ยงสัตว์เพื่อการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม สามารถผลิตเองได้และนำไปใช้ได้จริง ซึ่งมีต้นทุนผลิตแค่กิโลกรัมละ 1 บาท โดยมีเกษตรกรที่สนใจเดินทางมาจากต่างจังหวัดทั่วประเทศกว่า 40 จังหวัด 350 คนร่วมชมการสาธิต

ผศ.ดร.สิทธิ์ศักดิ์ คำผา อาจารย์ประจำสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่า “มันหมักยีสต์” เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่ผลิตจากวัตถุดิบเศษเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมัน ได้แก่ กากมันสำปะหลังเปียก (กากเปียก) โดยนำมาแปรรูปหมักร่วมกับยีสต์เพื่อช่วยเพิ่มโปรตีนและพลังงาน ตลอดจนคุณค่าทางโภชนาการอื่นตามความต้องการของสัตว์ ที่สำคัญมันหมักยีสต์มีต้นทุนผลิตต่ำ

เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ในฟาร์ม สามารถแก้ปัญหาวิกฤตอาหารสัตว์ราคาแพง ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์และรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีวิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญสำหรับสัตว์ ช่วยให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี สามารถใช้เป็นวัตถุดิบผสมเป็นอาหารสัตว์ได้หลายชนิด ทั้งสุกร เป็ด ไก่ โคเนื้อ โคนม แพะ จิ้งหรีด หรือแม้แต่ปลากินพืช ซึ่งมันหมักยีสต์ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านอาหารสัตว์ที่เป็นที่ยอมรับ ประยุกต์จากองค์ความรู้หลากหลายสาชาวิชาที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาแปรรูปใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์หลายชนิด โดยต้นทุนการผลิตขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 1 บาท

โดยทางชมรมสัตวศาสตร์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้คิดค้น “หัวเชื้อยีสต์ผสมสำเร็จพร้อมใช้” เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรนำไปผสมทำมันหมักยีสต์ โดย 1 ถุงบรรจุ 1 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายถุงละ 500 บาท สามารถนำไปผลิตมันหมักยีสต์ได้ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม ซึ่งส่วนประกอบของหัวเชื้อมันหมักยีสต์ประกอบด้วย ยีสต์, วิตามินเอ, วิตามินดี 3, วิตามินอี, วิตามินเค 3, วิตามินบี 1, วิตามินบี 2, กรดแพนโททีนิก, ไบโอติน, เหล็ก, ไอโอดีน, โคบอลต์, ไลซีน ฯลฯ

ผศ.ดร.สิทธิ์ศักดิ์กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการทำมันหมักยีสต์ เทส่วนผสมวัตถุดิบทั้งหมดลงในถังผสม กวนให้ละลายเข้ากัน โดยเปิดปั๊มน้ำหมุนวนหรือใช้ไม้กวนบ่อยๆ อย่างน้อย 1 ชั่วโมง นำน้ำหมักยีสต์ที่ได้คลุกเคล้ากับกากมันสดหรือแหล่งวัตถุดิบอื่นๆ ที่จะให้อัตราส่วนน้ำหมักยีสต์ 1 ลิตรต่อกากมันสด 6 กิโลกรัม จากนั้นปิดด้วยพลาสติกและหมักเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน เมื่อครบกำหนดสามารถนำไปผสมใช้เลี้ยงสัตว์ได้

สำหรับมันหมักยีสต์ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดต้นทุนผลิตให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถเพิ่มโปรตีนในกากมันด้วยกรรมวิธีหมักด้วยยีสต์ สามารถกำจัดกำมะถัน หรือสารฟอกขาวที่ปนเปื้อนมาในกากมันสำปะหลัง แก้ปัญหาเนื้อสุกรซีด แก้ปัญหาเรื่องการแท้งลูกในสัตว์ที่กินกากแป้งมันสด ซึ่งวัตถุดิบที่สามารถนำมาหมักยีสต์ ได้แก่ กากมันสด กากมันแห้ง หัวมันสำปะหลังสดบดสับ หัวมันสำปะหลังแห้งบด ปลายข้าว ข้าวสาร ข้าวโพดบด รำ เป็นต้น
ผศ.ดร.สิทธิ์ศักดิ์ คำผา อาจารย์ประจำสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม
ผลิตภัณฑ์มันหมักยีสต์ ที่นำไปหมักผสมกับวัตถุดิบนานาชนิด เป็นอาหารสัตว์



กำลังโหลดความคิดเห็น