‘พีทีจี เอ็นเนอยี’ ส่ง “อินโนเทค กรีน เอ็นเนอยี” บริษัทร่วมทุนลงนาม “ซัปโปโร โฮลดิ้ง” เพื่อใช้เทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง เดินหน้าผลิตเอทานอลป้อนตลาดจากโรงงานแห่งแรก ปี 2563
พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการให้บริษัท อินโนเทค กรีน เอ็นเนอยี จำกัด ประกอบกิจการผลิต และจำหน่ายเอทานอล น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากกากมันสำปะหลัง หรือแป้ง หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวกับแป้ง ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอี่ยมบรูพา จำกัด โดยมีมูลค่าลงทุนในโครงการ 1,500 ล้านบาท เข้าลงนามข้อตกลงการใช้เทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังกับบริษัท ซัปโปโร โฮลดิ้ง จำกัด โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการย่อยแป้งที่เหลือในกากมันสำปะหลังให้สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำตาล และเข้าสู่กระบวนการหมักให้เป็นเอทานอล ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ให้สูงขึ้น
“เรามีความยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ในการผลิตเอทานอล และขอขอบคุณสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (NIA), องค์การพัฒนาพลังงานใหม่ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (NEDO), บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด, บริษัท ซัปโปโร โฮลดิ้ง จำกัด รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนี้ เพราะเทคโนโลยีนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการผลิตเอทานอลของประเทศไทย สามารถนำสิ่งที่เหลือใช้แล้วให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น และ คนไทยจะได้ใช้พลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพ ในราคาที่ถูกลง เพื่อการใช้พลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนต่อไป” พิทักษ์ กล่าว
ด้าน สมศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ประธานกรรมการ บริษัท เอี่ยมบรูพา จำกัด ผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลัง (Cassava Starch) มีกำลังการผลิตรวมกับบริษัทในเครือญาติทั้งหมด คิดเป็น 30% ของกำลังการผลิตแป้งมันของประเทศไทย กล่าวขอบคุณสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่ได้นำโครงการนี้มาทำการวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ของบริษัท ด้วยความร่วมมือจากหลายๆหน่วยงานทั้งองค์การ NEDO, ซัปโปโร และ อิวาตะ เคมิคอล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ในด้านการเพิ่มศักยภาพการจัดการวัสดุเหลือใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และยังจะส่งผลถึงกลุ่มเกษตรกร ทำให้มีความมั่นคงด้านการเกษตรกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพแก่เกษตรกรต่อไป
ดร. จูนจิ วาตาริ, Managing Director, Group Research and Development Division บริษัท ซัปโปโร โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า การมีพลังงานใช้อย่างพอเพียงนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา พวกเราในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศญี่ปุ่นมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสนำความรู้ เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่เราสั่งสมมาเป็นเวลานาน มาใช้ช่วยสนับสนุนการหมักกากมันสำปะหลังเพื่อผลิตเป็นไบโอเอทานอล เพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานที่เพียงพอสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
มูนิฮิโกะ ซึชิยะ, Executive Director, องค์การพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า พันธะกิจหลักอันหนึ่งของNEDO ก็คือ การแก้ไขปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศต่างๆทั่วโลก โปรเจ็คในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีของบริษัท Sapporo Breweries และบริษัท Iwata Chemical มาใช้ช่วยให้การหมักกากมันสำปะหลังเพื่อผลิตเป็นไบโอเอทานอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และด้วยวิธีการผลิตพลังงานเช่นนี้ ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากกากมันสำปะหลังซึ่งเป็นของเสียทางชีวภาพได้อย่างเต็มที่ และในขณะเดียวกันก็ยังช่วยลดการใช้ถ่านหินซึ่งใช้ในการผลิตพลังงานได้อีกด้วย จึงถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ดีเยี่ยมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
แผนขยายธุรกิจของ PTG
-บริษัทอยู่ระหว่างเจราร่วมทุนกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและบริษัทไม่ได้จดทะเบียน เพื่อทำโรงงานผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล (โมลาส) มีกำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้
-ส่วนโรงงานผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง กำลังผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน มูลค่า 1.5 พันล้านบาท ของบริษัท อินโนเทค กรีนเอ็นเนอยี ซึ่งPTG ถือหุ้น 60% และบริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด ถือหุ้น 40% จะเริ่มก่อสร้างในปี 61และเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ ในปี 63 โดยโครงการดังกล่าวมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ประมาณ 20% หรือสร้างกำไรสุทธิ 300 ล้านบาทต่อปี เมื่อเดินเครื่องการผลิตเต็มกำลังในปี 64 เนื่องจากจากเทคโนโนยีการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง จะมีต้นทุนต่ำกว่าวัตถุดินอื่น 3 บาทต่อลิตร
- บริษัทยังมีแผนที่จะสร้างโรงงานเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง โรงที่ 2 ขนาดกำลังผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน หลังจากโรงงานแรกเริ่มก่อสร้างแล้ว 1 ปี จะทำให้ในปี 64-65 มีกำลังผลิตอยู่ที่ 4แสนลิตรต่อวัน โดยเงินลงทุนโรงงานแห่งที่ 2 จะใช้ไม่ถึง 1.5 พันล้านบาท เนื่องจากอยู่พื้นที่เดียวกับโรงงานแห่งแรก จึงไม่มีต้นทุนการซื้อที่ดินเพิ่ม
"บริษัทมีแผนที่จะมีโรงงานผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง และกากน้ำตาล เพิ่มขึ้น จากการร่วมทุน ซื้อกิจการ เพื่อนำไปผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ ซึ่งปีนี้มีความต้องใช้อยู่ที่ 4.7แสนลิตรต่อวันและเพิ่มเป็น 1.5 ล้านลิตรต่อวันในปี 63 จากปัจจุบันที่ซื้อจากโรงงานผลิตเอทานอลหลายแห่ง ด้านแหล่งเงินทุนบริษัทมีเพียงพอ เพราะมีวงเงินออกหุ้นกู้ 4 พันล้านบาท ใช้ไปแล้วเพียง 1.7พันล้านบาท และแต่ละปีมีกระแสเงินสดเข้ามา" นายพิทักษ์ กล่าว
-ในปี 60 บริษัทคาดมีปริมาณขายน้ำมันอยู่ที่ 3.9-4 พันล้านลิตร เติบโต 30% จากปี 59 อยู่ที่ประมาณ 2.9 พันล้านลิตร และคาดจะทำรายได้อยู่ที่ 1 แสนล้านบาทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากปี 59 ที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันดิบมีทิศทางเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำใหราคาขายปลีกน้ำมันเพิ่ม 2-3 บาทต่อลิตร แต่เชื่อไม่กระทบจิตวิทยาการบริโภคน้ำมัน
-ส่วนกรณีน้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคใต้ บริษัทได้ปิดสถานีบริการน้ำมัน ไม่ถึง10 แห่ง ซึ่งถือน้อยมากไม่กระทบต่อปริมาณการขายน้ำมันและรายได้ปีนี้
-บริษัทยังมีแผนเปิดสถานีบริการน้ำมัน ให้ครบ 1,800 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ จากสิ้นปี 59 อยู่ที่ 1,407 แห่ง ทำให้บริษัทมีสถานีบริการน้ำมันสูงสุดอันดับ 1